· มิชลินมุ่งเน้นการนำเสนอกีฬามอเตอร์สปอร์ตในฐานะ “ตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืน”
· มิชลินปรับเปลี่ยนการจัดการยางล้อที่ใช้ในการแข่งขัน เพื่อตอกย้ำแนวทางลดการใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่เป็นส่วนประกอบของยาง ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตยาง โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพยางทำให้แบรนด์มิชลินประสบความสำเร็จได้
· นำเสนอเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดจากการแข่งขันมาสู่ยางมิชลินที่ใช้ขับขี่ในชีวิตประจำวันตามแนวคิด “From Track to Street” เพื่อให้นักขี่รถจักรยานยนต์ได้สัมผัสประสบการณ์ที่คล้ายกับการแข่งขันในสนามจริง
มิชลินและโมโตจีพี (MotoGP™) ร่วมมือกันจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์กรังด์ปรีซ์ชิงแชมป์โลกขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย การแข่งขันเต็มไปด้วยความเร้าใจและเสร็จสิ้นไปอย่างสวยสดงดงามสำหรับสุดสัปดาห์แห่งศึกสองล้อที่เร็ว แรง และยิ่งใหญ่ที่สุด หรือ โมโตจีพี รายการ โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2023 (OR Thailand Grand Prix 2022) ระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ และนับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ศักยภาพของยางรถจักรยานยนต์มิชลินในเกมกีฬามอเตอร์สปอร์ตระดับโลก
ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวนระหว่างการจับเวลารอบควอลิฟายเพื่อจัดอันดับสตาร์ต พร้อมด้วยกองเชียร์ของแฟน ๆ หลายหมื่นคน ในวันแข่งรอบชิงแชมป์ สภาพอากาศแจ่มใสกว่า ทว่าการเลือกใช้ยางยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งของชัยชนะซึ่งจะเห็นได้จากหลายสนามที่ผ่านมา ยางล้อของมิชลินได้รับเลือกสำหรับใช้ในการแข่งขันระดับพรีเมียมคลาส เพื่อช่วยให้นักขี่และทีมแข่งทั้งหมดสามารถดึงที่สุดของศักยภาพจากรถจักรยานยนต์ของพวกเขาออกมาได้เต็มพิกัด พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการแข่งขันมาสู่ยางมิชลินที่ใช้ขับขี่ในชีวิตประจำวันตามแนวคิด “From Track to Street”
มร.ปิเอโร ทารามัสโซ่ (Piero Taramasso) ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต ผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ของมิชลิน กล่าวว่า “ตลอดฤดูกาลที่ผ่าน ๆ มาเรานำยางที่ใช้สำหรับการแข่งขันเป็นจำนวนกว่า 20,000 เส้น ปีนี้เราลดจำนวนลงอีก 1,500 เส้น และนำมาให้นักแข่งได้เลือกใช้มากกว่า 30 แบบสำหรับยางหลัง แต่ในฤดูกาลนี้ลดลงมาเหลือแค่ 20 แบบ ขณะที่สำหรับยางหน้าเดิมมีให้เลือก 12 แบบ ปีนี้ลดเหลือ 10 แบบที่ล้วนคัดสรรมาเพื่อความเหมาะสมที่สุด โดยฤดูกาลที่ผ่านมาเรามีประเภทของเนื้อยางให้เลือก 3 แบบ ตั้งแต่ Soft, Medium และ Hard สำหรับฤดูกาลนี้เราลดลงโดยให้นักแข่งและทีมเลือกจับคู่ใช้ได้ 2 แบบในแต่ละสนาม ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสนาม เช่น Soft กับ Medium หรือ Medium กับ Hard ซึ่งทั้ง 12 ทีมแข่งต่างก็เลือกใช้กันอย่างพอใจในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางลดการใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่เป็นส่วนประกอบของยาง รวมถึงลดภาระในการขนส่ง ซึ่งหมายถึงการลดการใช้พลังงานที่จะส่งผลต่อการเกิดคาร์บอนและมลภาวะ ทั้งนี้มิชลินตั้งเป้าผลิตยางล้อที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2593”
ในเรื่องของความยั้งยืน มิชลินเรียนรู้จากการแข่งขันจักรยานยนต์ไฟฟ้า MotoE™ โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน (สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้) หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติในการขึ้นรูปยางหลังได้มากถึงร้อยละ 52 ส่วนยางหน้าที่ร้อยละ 34 ซึ่งในอีกไม่ช้าเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนดังกล่าวจะได้รับถ่ายทอดมาสู่การแข่งขัน โมโตจีพี สำหรับยางโครงสร้างพร้อมสูตรเนื้อยางใหม่ที่มีการทดสอบอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจะเริ่มใช้ในฤดูกาล 2025
“ในแต่ละสนาม เรามีทีมผู้เชียวชาญพิเศษถึง 25 คน โดย 10 คนประจำเตรียมยางให้พร้อมตามออเดอร์ของทุกทีมแข่ง และจะประจำอยู่ที่พิทบ๊อกของแต่ละทีมแข่ง 1 คน ต่อ 2 ทีม หรือ 4 คัน แต่ละสนามเราดำเนินการขนส่งยางโดยตู้ควบคุมอุณหภูมินำมาให้นักแข่งได้ใช้มากกว่า 1,200 เส้น และถูกนำมาใช้ 500-600 เส้นต่อสนาม ยางทั้งหมดผลิตจากประเทศฝรั่งเศส โดยโครงสร้างและส่วนผสมหลักยังเหมือนเดิม เรามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่พร้อมใช้กับยางรถจักรยายนต์อยู่หลายโซลูชั่น และยังคงเรียนรู้เพื่อค้นหาปรับสูตรให้ได้สมรรถนะที่สมดุลที่สุด” มร. ปิเอโร ทารามัสโซ่ กล่าว
มร.แฟรงกี้ คาร์เชดิ (Frankie Carchedi) หัวหน้าทีมเทคนิคของทีมเกรซินี เรซซิ่ง (Gresini Racing) ให้ความเห็นว่า “สำหรับช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มีความท้าทายอย่างมาก โดยรูปแบบของสนามจำเป็นต้องใช้เบรกหนักมากในโค้งที่ 1 และโค้ง 12 รวมถึงโค้ง 3 สุดทางตรงที่รถแข่งอยู่บนความเร็วกว่า 330 กม./ชม. แล้วต้องเบรกเพื่อลดความเร็วให้เหลือความเร็วประมาณ 75 กม./ชม. ภายในเวลาแค่ 7 วินาที ในทุก ๆ รอบสนาม ขณะที่อากาศมีการถ่ายเทน้อยมาก อุณหภูมิยางจึงสูงกว่า 80–100 องศา
เซลเซียส อุณหภูมิพื้นผิวแทรคซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเลือกชนิดของยางเป็นอย่างมาก ตั้งแต่รอบซ้อม รอบควอลิฟายจับเวลา รวมถึง Spin Race เราเลือกใช้ยาง Medium กับยาง Hard แม้จะคุ้นเคยและรู้ซึ้งถึงประสิทธิภาพของยางมิชลิน แต่ก็ต้องวางกลยุทธ์อย่างละเอียดรอบครอบ ถ้าเลือกใช้ยาง Medium ซึ่งให้การยึดเกาะได้ดีกว่า แต่ความทนทานก็ไม่เท่ายาง Hard ในทางกลับกันยาง Hard ก็ไม่สามารถให้การยึดเกาะได้เท่ากับยาง Medium สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของนักแข่งแต่ละทีมในเวลานั้นด้วย ยางที่ดีจึงต้องให้ความสมดุลในทุกสถาวะการขับขี่”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มิชลินภูมิใจที่ได้แสดงสมรรถนะของยางรถแข่งไปทั่วโลก เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปและการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้วงการมอเตอร์สปอร์ตได้เข้าสู่จุดเปลี่ยน ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่บริษัทฯ เผชิญคือการพัฒนายางที่มีความยั่งยืนเพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งการออกแบบและการผลิตยางของมิชลินนั้นจะต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตยาง ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO? และการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยางใหม่ โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพยางทำให้แบรนด์มิชลินประสบความสำเร็จได้
ดังนั้น การแข่งรถจึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่พิสูจน์ที่สำคัญ และเร่งให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม การขับขี่แบบหนักหน่วงที่เกิดขึ้นในกีฬามอเตอร์สปอร์ต ทำให้มิชลินมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทดลองโดยการบันทึกเวลาไว้ เรียนรู้ คิดวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ และเร่งการพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
ข่าวเด่น