เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผยผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา


 
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา (H.E. Janet L. Yellen) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นต้น เพื่อร่วมหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ (Modern Supply Side Economics) การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) คือ “สร้างอนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating    a Resilient and Sustainable Future for All)”  โดยมีผลการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
1. ผลการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 30
 
1.1 ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น
ด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMF ได้รายงานว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 2.9 ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสู่ในกรอบเป้าหมาย (targeted) ได้ภายในปี 2568 ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลต่อมาจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความผันผวนต่อยังตลาดเงินทั่วโลก IMF ยังคงกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเปค  ได้แก่ การชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธาณรัฐประชาชนจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปรับลดของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคควรร่วมกันดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพด้านการเงิน

1.2 ผลการหารือในประเด็นเศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ (Modern Supply Side Economics) 
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อพัฒนาและสร้างอุปทานที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (Quality Infrastructure) โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว โดยที่ประชุมได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านเครื่องมือทางการเงินเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นการลงทุนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการเพิ่มอุปทานของแรงงานสตรีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งภาคแรงงานที่แข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
 
 
1.3 ผลการหารือในประเด็นการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)  ที่ประชุมได้หารือถึงความสำคัญของการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ภาครัฐต้องมีส่วนร่วมและผลักดันการสร้างตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ซึ่งจะสามารถสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่การการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างเป็นระบบ และมีการกำหนดรูปแบบและจัดทำสัญญาซื้อขายที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งกำกับดูแลตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC ควรร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในระดับระหว่างประเทศ และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและการกำกับดูแลระหว่างกันเพื่อยกระดับตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของแต่ละเขตเศรษฐกิจให้ความเชื่อมโยงและมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน (Interoperability) นอกจากนี้ มาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะกลไกทางภาษีถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
 
1.4 ผลการหารือในประเด็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ประชุมได้ตระหนักถึงพัฒนาการ
ของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งกลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล๊อคเชนในการจัดทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง และลดตัวกลางทางการเงินในการดำเนินธุรกรรม นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลอาจสามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมของระบบการเงินที่ทั่วถึง และสามารถเป็นตัวกลางในการชำระเงินระหว่างประเทศ อาทิ การโอนเงินกลับประเทศ (Remittance) อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภาคการเงินหากขาดการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังคงมีประเด็นท้าทายในการจัดทำมาตรฐานและกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแล ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ทางการเงินที่เพียงพอแก่ผู้ประสงค์ลงทุน
ในสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ควรร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และเป็นนวัตกรรม โดยอาจเริ่มจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางเป็นลำดับแรก
 
1.5 ผลการพิจารณาแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30 (Joint Ministerial Statement of the 29th APEC Finance Ministers’ Meeting) ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญตามนัยข้อ 1.1 – 1.4 ข้างต้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นที่ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ในเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเปค ประธานจึงเสนอให้ใช้ถ้อยคำในประเด็นที่คงค้างตามถ้อยคำที่จะปรากฏในร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (ร่างปฏิญญาฯ) ที่จะเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ต่อไป ทั้งนี้ หากมีบางเขตเศรษฐกิจไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำตามร่างปฏิญญาฯ ทางเจ้าภาพจะจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30 (Chair’s Statement of the 30th APEC Finance Ministers’ Meeting) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 30 แทนการออกแถลงการณร่วมต่อไป
 
 
2. ผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การระดมทุนจากภาคการเงิน การสร้างแรงจูงใจสำหรับนักลงทุน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการสีเขียว (Green Projects) และโครงการที่เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Transition Projects) รวมทั้ง การสร้างความสมดุลระหว่างโครงการในประเภทและขนาดต่าง ๆ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคกับ ABAC ยังมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับสากล
ที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้น จึงควรมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกันระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค และต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคการเงิน และองค์การระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำหนดนิยามการลงทุนสีเขียว (Green Taxonomy) การกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การออกพันธบัตรสีเขียวและพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย ความท้าทายในการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม และมาตรการการคลังเพื่อสร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมที่ผ่านหลักเกณฑ์การเป็นกองทุนสีเขียวหรือกองทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
 
 
3. ผลการหารือทวิภาคีกับนาย Juan Pichihua รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง สาธารณรัฐเปรู (เปรู) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง สาธารณรัฐเปรูขอให้ไทยช่วยให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของเปรูในปี 2567 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวยินดีให้การสนับสนุนดังกล่าว และขอบคุณเปรูที่ได้สืบต่อประเด็นสำคัญที่ไทยได้หยิบยกขึ้นในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ได้แก่ การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านการเงิน นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้ไทยและเปรูกระชับความร่วมมือระหว่างกันบนพื้นฐานของความตกลงการค้าเสรีไทย - เปรู โดยอาจพิจารณาขยายสาขาความร่วมมือไปยังภาคบริการ รวมถึงบริการด้านการเงินด้วย
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2566 เวลา : 19:21:43
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 9:31 am