· ในปี 2565 สถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่ภาครัฐเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ และเศรษฐกิจค่อยฟื้นตัวกลับมา สังเกตได้จากอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.15% ณ สิ้นปี 2565 และยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 1.06% ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
· จากข้อมูลการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจำนวน 787 บริษัท พบว่า ณ สิ้นปี 2565 การจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น คือ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการจ้างงานรวม 1.93 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 10.5% จากสิ้นปี 2564 o กลุ่มบริการ (Services) ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานสูงสุด ทั้งในส่วนธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจการแพทย์ และธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ ตามมาด้วยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ตามลำดับ o กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เป็นกลุ่มที่มีจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2565
· ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีการจ้างงานคิดเป็น 4.9% ของจำนวน ผู้มีงานทำในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ณ สิ้นปี 2564
· ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานรวมสูงกว่า 834,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งหากประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าตอบแทนพนักงานพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 87,570 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 23% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2565
ในปี 2565 สถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ภาครัฐเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ และส่งผลให้อัตราว่างงานมีแนวโน้มลดลงมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19
หลังจากภาครัฐประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว พบว่า ณ สิ้นปี 2565 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากอัตราการว่างงานที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 1.15% และปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 1.06% ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ในปี 2565 สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวที่ดีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลประกาศการผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และอัตราการว่างงานที่มีการปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่ภาครัฐได้ประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต้องกักตัวก่อนเข้าประเทศทุกกรณี และทำให้ธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง อาทิ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งหมายถึงการจ้างงาน การผลิต และการให้บริการกลับมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2564 ทำให้ ณ สิ้นปี 2565 อัตราการว่างงานลดลงอยู่ในระดับ 1.15% (ภาพที่ 1) และปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566 และ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 อยู่ในระดับ 1.06% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.02%
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการจ้างพนักงานรวม 1.93 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.5% จากสิ้นปี 2564 ทิศทางเดียวกับการจ้างงานโดยรวมของประเทศ
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีพนักงานรวมกว่า 1.93 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.5% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งจากการรายงานเพิ่มเติมของบริษัทจดทะเบียน และบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ในปี 2565
เมื่อพิจารณาการจ้างงานจากฐานข้อมูลจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายใน SET และ mai (ตลาดหุ้นไทย) ที่ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูลจากแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (แบบฟอร์ม 56-1One Report) ตามตารางที่ 1 พบว่า ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 787 บริษัท มีจำนวนพนักงานรวม 1,931,281 คน เพิ่มขึ้น 183,982 หรือเพิ่มขึ้น 10.5% จากสิ้นปี 2564 ที่มีพนักงานรวม 1,747,299 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานในบริษัทจดทะเบียนใน SET จำนวน 170,738 คน และใน mai จำนวน 13,244 คน
เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปี 2565 พบว่า เป็นผลจาก 1) การจ้าง งานเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดก่อนปี 2565 และ 2) การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนที่จดทะเบียน เข้าซื้อขายใหม่ในปี 2565 และ 3) การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดก่อนปี 2565 ที่มีเปิดเผยข้อมูล จำนวนพนักงานในปี 2565 แต่ไม่มีการเปิดเผยในปี 2564 ตามรายละเอียดดังนี้
และจากข้อมูลเพิ่มเติมที่บริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทเปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report พบว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2565 ที่มีการเพิ่มขึ้น 6.3% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปิดประเทศและการขยายสายการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และส่วนที่ 2 เป็นผลจากจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เข้าจดทะเบียนใหม่ในปี 2565
บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริการมีจำนวนพนักงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มมากที่สุดในปี 2565 ทั้งการเพิ่มขึ้นพนักงานในธุรกิจร้านอาหารธุรกิจโรงแรม และธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อพิจารณาจำนวนพนักงานจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2565 (ภาพที่ 2) พบว่า กลุ่มบริการ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีจำนวนพนักงานรวม 577,184 คน หรือประมาณ 29.9% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการจ้างพนักงานจำนวนมาก ทั้งในส่วนธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจการแพทย์และธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ ตามมาด้วยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ตามลำดับ โดยกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคมีจำนวนพนักงานน้อยที่สุด
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2565 เทียบกับในปี 2564 (ภาพที่ 3) พบว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 81,530 คน คิดเป็น 44.3% ของจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการ 1) เข้าจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ในปี 2565 และ 2) การเปิดประเทศที่ส่งผลจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นและทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินต่อได้ ตามด้วยกลุ่มบริการ ที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น 33,317 คน คิดเป็น 18.1% และกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น 22,074 คน คิดเป็น 12% ตามลำดับ
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีการจ้างงานคิดเป็น 4.9% ของจำนวนผู้มีงานทำในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ณ สิ้นปี 2564 แต่หากประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากพนักงานของบริษัทจดทะเบียนนี้ คิดเป็น 23% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สรรพากรจัดเก็บ ในปี 2565
เมื่อพิจารณาการจ้างงานของจำนวนพนักงานบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย (ภาพที่ 4) พบว่า ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการจ้างงานคิดเป็น 4.9% ของจำนวนผู้มีงานทำในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ณ สิ้นปี 2564
นอกจากนี้ ในรายงาน 56-1 One Report บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยถึงข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่า 834,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.3% จากปี 2564 และหากประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าตอบแทนนี้ โดยใช้อัตราภาษี 15% ของรายได้พึงประเมิน1 พบว่า ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะอยู่ประมาณ 87,570 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 23% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สรรพากรจัดเก็บ ในปี 2565 ซึ่งนับได้ว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงาน และมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการจ่ายภาษีให้กับภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ข่าวเด่น