ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ (debt-liked ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) เพื่อให้มีกลไกการป้องกันความเสี่ยงและ การคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล พร้อมทั้งส่งเสริม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 และในการประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขาย debt-liked ICO และ infra-backed ICO และ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและ ร่างประกาศดังกล่าวแล้วเมื่อเดือนมีนาคมและเดือนสิงหาคม 2566 ตามลำดับ ซึ่งผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่ เห็นด้วยตามที่เสนอ
ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว เพื่อให้มีกลไกการป้องกันความเสี่ยงและการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำในกฎเกณฑ์และการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) เมื่อเทียบกับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน พร้อมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) กรณี debt-liked ICO ที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้แน่นอน ไม่ผันแปรตามการดำเนินงานของโครงการแต่อาจมีการให้ผลตอบแทนเพิ่มเติม (extra return) ต้องมีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ การประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการอย่างสมเหตุสมผลโดย ICO portal หรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระ รวมทั้งเปิดเผยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินความเสี่ยงในด้านฐานะและความสามารถในการชำระหนี้คืนของโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและสามารถพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
(2) กรณี infra-backed ICO ที่เป็นการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนโดยมีกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากกระแสรายรับที่มาจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เทียบเคียงได้กับกับทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) โดยสอดคล้องกับบริบทของ ICO ซึ่งการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในครั้งนี้ครอบคลุมเรื่องการกำหนดลักษณะของทรัพย์สินอ้างอิง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและสอบทาน (due diligence) และการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หน้าที่และการปฏิบัติงานของทรัสตี การบริหารจัดการทรัพย์สินของ issuer รวมทั้งข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
หมายเหตุ:
ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 12/2566 เรื่อง การเสนอขาย โทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ 8) (https://publish.sec.or.th/nrs/9892s.pdf)
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กร. 13/2566 เรื่อง การกำหนดประเภทธุรกรรมในตลาดทุนที่ให้ใช้ทรัสต์ได้ (ฉบับที่ 3) (https://publish.sec.or.th/nrs/9893s.pdf)
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กร. 14/2566 เรื่อง การกำหนด นิติบุคคลที่จะเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์เพิ่มเติม และหลักเกณฑ์การยื่นหนังสือแสดงเจตนาก่อตั้งทรัสต์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/9894s.pdf)
(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กร. 15/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการเป็นทรัสตีของทรัสต์สำหรับธุรกรรมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน (https://publish.sec.or.th/nrs/9895s.pdf)
ข่าวเด่น