ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อสภาวะการลงทุน คล้ายกับหลายๆ ตลาดในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลกถดถอย การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED และสภาพคล่องที่ลดลง รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนและปรับตัวในทิศทางลดลงเช่นเดียวกับหลายๆ ตลาดในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สภาวะดังกล่าวยังอาจนำมาซึ่งความกังวลในกลุ่มนักลงทุนว่าอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น Naked short selling ที่กดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมหรือไม่
ในปัจจุบันมีกลยุทธ์การลงทุนเพื่อช่วยในการลงทุน ไม่ว่าจะคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวในทิศทางใดก็ตาม กล่าวคือหากคาดการณ์ว่าราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนก็อาจจะมีการกู้ยืมเงิน (leverage) มาเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่คาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยต้องจ่ายต้นทุนการกู้ยืมด้วย แต่หากราคาหลักทรัพย์ไม่ปรับขึ้นอย่างที่คาดการณ์ ก็อาจทำให้เกิดผลขาดทุนได้มากขึ้นเช่นกัน ในทางกลับกันถ้าคาดการณ์ว่าหลักทรัพย์จะปรับตัวลดลง ชอร์ตเซลก็เป็นกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ในตลาดหุ้นของหลายๆ ประเทศ โดยเป็นการยืมหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีราคาปรับลดลง มาทำการขายที่ราคาปัจจุบัน และหากราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวลดลงตามที่คาดการณ์ เมื่อถึงกำหนดส่งคืนหลักทรัพย์ที่ยืมมา ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายไป และนำมาคืนแก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์นั้น ทำให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงตามที่คาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากราคาหลักทรัพย์นั้นปรับตัวสูงขึ้นไม่ตรงกับที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้เช่นกัน เพราะต้องซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาสูงกว่าราคาที่ขายไปก่อนหน้าเพื่อนำมาคืนแก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ซึ่งหากไม่มีการส่งมอบหลักทรัพย์ตามกำหนด ก็อาจจะส่งผลกระทบในเชิงระบบตามมา ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงทุนจะใช้กลยุทธ์การลงทุนในตลาดขาขึ้นหรือขาลง ก็จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ภาพที่ 1: การ Short selling
ในทางทฤษฎี ชอร์ตเซลมีประโยชน์ในกระบวนการค้นหาราคาของหลักทรัพย์เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (price discovery process) ซึ่งช่วยให้ราคาหลักทรัพย์ปรับสู่ราคาที่ควรจะเป็นเมื่อคำนึงถึงปัจจัยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้นและส่งผลให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การขายในลักษณะชอร์ตเซลก็มีความเสี่ยง หากการชอร์ตเซลนั้น ไม่ได้ทำการยืมหลักทรัพย์ก่อนการทำชอร์ตเซล เพื่อใช้ในการส่งมอบเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกว่า Naked short selling ซึ่งการผิดนัดส่งมอบนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว หลายๆ ตลาดหลักทรัพย์จึงมีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์การห้ามทำการขายชอร์ตในลักษณะ Naked short selling
สำหรับประเทศไทยนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์กำกับดูแลชอร์ตเซลเช่นกัน1 โดยมีการห้ามทำธุรกรรม Naked short selling ดังกล่าว อีกทั้งยังมีหลักเกณฑ์อนุญาตให้ทำชอร์ตเซลได้ที่ราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (zero plus tick rule) เพื่อไม่ให้ธุรกรรมชอร์ตเซลกระทบสภาพการซื้อขาย หรือชี้นำให้ราคาหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพการซื้อขายปกติอีกด้วย
สำหรับการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับธุรกรรมชอร์ตเซลนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกวันลงในระดับ transaction และลำดับเวลาที่ส่งคำสั่งซื้อและขายภายในวันนั้นๆ โดยตรวจสอบกับธุรกรรมของผู้ลงทุนทุกประเภทและทุกช่องทางที่ส่งคำสั่งเข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนต่างชาติหรือผู้ลงทุนในประเทศ และไม่ว่าจะใช้ program หรือไม่ใช้ก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณี Naked short selling หรือการทำชอร์ตเซลโดยไม่ได้รายงานอย่างถูกต้อง
ภาพที่ 2: กระบวนการตรวจสอบ Short selling
กรณีธุรกรรมที่มีการรายงานว่าเป็นชอร์ตเซล: เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับข้อมูลการทำธุรกรรมชอร์ตเซลจากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะรวบรวมรายการชอร์ตเซลทั้งหมดมาสุ่มตรวจสอบว่ามีการยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการทำชอร์ตเซลถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยจะสุ่มตรวจสอบจากรายการที่มีมูลค่าสูงจนกว่าจะครอบคลุมมูลค่าชอร์ตเซลส่วนใหญ่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรวจสอบโดยให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกที่เป็นนายหน้าของลูกค้ารายที่ทำธุรกรรมดังกล่าว นำส่งหลักฐาน อาทิ confirmation email จาก Custodian ซึ่งแสดงได้ว่าลูกค้ารายนั้นมีการยืมหลักทรัพย์จาก Custodian หรือหลักฐานอื่นที่แสดงได้ว่าลูกค้ามีการกู้ยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการทำธุรกรรมชอร์ตเซลก่อนหน้าการส่งคำสั่งขายจริง
กรณีธุรกรรมอื่น ๆ ที่ไม่มีการแจ้งว่าเป็นชอร์ตเซล: ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรวจสอบธุรกรรมที่มีความน่าสงสัย เช่น (1) เป็นลักษณะ Day trade (มีการซื้อขายเกือบหมดภายในวัน) ที่พบว่ามีการขายก่อนซื้อคืน หรือ (2) เป็นลูกค้ารายที่มีปริมาณการขายสูงๆ และกระทบต่อตลาดสูง เป็นต้น โดยจะดำเนินการตรวจสอบว่าลูกค้ามียอดหลักทรัพย์ที่ขายนั้นอยู่ก่อนการส่งคำสั่งขายหรือไม่ โดยตรวจสอบกับยอดคงค้างอยู่ในบัญชีจากวันก่อนหน้า (outstanding balance) ธุรกรรมต้องสงสัยลักษณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการตรวจสอบทุก transaction หากไม่พบว่ามี outstanding balance จะดำเนินการสอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกที่เป็นนายหน้าของลูกค้ารายดังกล่าว เพื่อให้นำส่งหลักฐานที่แสดงได้ว่าลูกค้ารายนั้นๆ มีหลักทรัพย์สำหรับขายจริง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอบทานว่าบริษัทหลักทรัพย์มีการปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด2
การตรวจสอบธุรกรรมข้างต้น หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จะมีการพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วยฝ่ายงานกำกับบริษัทสมาชิก ฝ่ายงานกฎหมาย คณะอนุกรรมการวินัย เพื่อพิจารณาความผิดและออกคำสั่งลงโทษ รวมทั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาในกรณีที่มีการอุทธรณ์ และมีการรายงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ในกลไกการกำกับดูแลและติดตามสภาพการซื้อขายต่าง ๆ มีการทำงานประสานความร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีการตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสากล นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามพัฒนาการการซื้อขายภายในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบว่ามีพัฒนาการใหม่ๆ ก็จะนำมาปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดต่อไป
“SET…Make it Work for Everyone”
ข่าวเด่น