กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.12 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.10-36.15 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ(บอนด์ยิลด์)เคลื่อนไหวผันผวนสูงตามข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)เดือนตุลาคมของสหรัฐฯชะลอตัวลงมากกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ โดย CPI เพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ส่วน CPI พื้นฐานเมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 4.0% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปี และองค์ประกอบต่างๆของตัวเลขเงินเฟ้อสนับสนุนมุมมองที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ทำให้ดัชนีดอลลาร์หลุดระดับ 104 ในวันที่ประกาศตัวเลข CPI และดิ่งลงมากที่สุดในวันเดียวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 นอกจากนี้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมแข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,985 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 3,225 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน โดยปริมาณธุรกรรมอาจบางลงก่อนเข้าสู่เทศกาลขอบคุณพระเจ้า ขณะที่เรามั่นใจมากขึ้นต่อมุมมองที่ว่าขาลงของเงินดอลลาร์จะชัดเจนขึ้นในปี 67 ตามวัฎจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันแม้จีนเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่สัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะช่วยหนุน sentiment สกุลเงินเอเชีย นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันอาจมีแนวโน้มคลายตัวลงหลังพรรคที่สนับสนุนจีน 2 พรรคตกลงที่จะส่งผู้สมัครร่วมกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงจะช่วยจำกัดแรงขายดอลลาร์เป็นระยะ
สำหรับปัจจัยในประเทศ จีดีพีไตรมาส 3/66 เติบโตเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% ทางด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเราตั้งข้อสังเกตว่ายังไร้ทิศทางชัดเจนในระยะนี้แม้ตลาดคาดการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ข่าวเด่น