เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังน่าห่วง ฉุด GDP ทั้งปีลงบนความเสี่ยงรอบด้าน"


เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2023 โตต่ำต่อเนื่อง ต่ำกว่าคาดการณ์มาก
 
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2023 ขยายตัวเพียง 1.5%YOY เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 0.8%QOQ_SA (เทียบไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล) อัตราการเติบโตต่ำลงต่อเนื่องนับจากต้นปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในผลสำรวจของ Bloomberg ที่ 2.2%YOY หรือ 1.3%QOQ_SA อยู่มาก เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) ในไตรมาสนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของบริการท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง ความต้องการท่องเที่ยวในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ด้านการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลง ขณะที่การส่งออกสุทธิขยายตัวดีจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวแรง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานที่ยังมีการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อต่อสู้วิกฤติโควิด ด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรเติบโตชะลอลงจากปัญหาสภาพอากาศแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก
 

SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะเติบโตสูงกว่า 3 ไตรมาสแรก
 
SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้สูงกว่า 3 ไตรมาสแรก ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้หลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย อีกทั้ง การส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวและจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตร และจากปัจจัยฐานต่ำ อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก 

 มองไปในปี 2024 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวเปราะบางบนความเสี่ยงรอบด้าน 
 
SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ แต่ทิศทางการฟื้นตัวเปราะบางบนความไม่แน่นอนรอบด้าน ปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การส่งออกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) แรงส่งภาครัฐจะมีไม่มากในช่วงครึ่งแรกของปีเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปีจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 
 
เศรษฐกิจไทยปี 2024 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจาก (1) สงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น (2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง อาจกระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน และ  (3) วิกฤติภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก 

KEY POINTS
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ขยายตัว 1.5%YOY เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเติบโตชะลอลงจาก 1.8%YOY ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัว 0.8%QOQ_sa เทียบไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล

รูปที่ 1 : เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวดีในกิจกรรมการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสุทธิ 
และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่แรงส่งจากภาครัฐและภาคการผลิตลดลงต่อเนื่อง
 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รูปที่ 2 : แหล่งที่มาของการขยายตัว Real GDP (Contribution to growth) ไตรมาส 3 ปี 2023
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) ในไตรมาสนี้ มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการบริโภคภาคเอกชน 
 
• การส่งออกภาคบริการขยายตัว 23.1%YOY ต่อเนื่องจาก 53.4% ในไตรมาสก่อน ตามรายรับจากการท่องเที่ยวและค่าบริการเดินทางที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว สำหรับการนำเข้าภาคบริการหดตัว -3.5%YOY ตามการลดลงอย่างต่อเนื่องของค่าระวางสินค้าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากรายจ่ายค่าบริการท่องเที่ยวและการเดินทางที่ยังขยายตัว
 
• การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 8.1%YOY ต่อเนื่องจาก 7.8% ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการบริโภคหมวดบริการที่ขยายตัวมากถึง 15.5% ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ด้านการบริโภคหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนชะลอตัว
 
• การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1%YOY เร่งขึ้นจาก 1.0% ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวต่อเนื่องในการลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัว 3.6% โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัว 3.1% ตามการนำเข้าเรือ เครื่องบิน และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น
 
• การลงทุนภาครัฐหดตัว -2.6%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน การลงทุนของรัฐบาลหดตัว -3.4% เทียบไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.5%YOY สำหรับการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัว -1.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยพบว่า การก่อสร้างของภาครัฐหดตัว -3.1% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่การก่อสร้างซ่อมแซมถนนและสะพานปรับลดลง ขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวได้ 2.2% ต่อเนื่องจากการลงทุนโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และระบบขนส่ง สำหรับการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของภาครัฐหดตัว -4.7% เทียบกับอัตราการขยายตัว 10.4% ในไตรมาสก่อน จากการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ยานพาหนะ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ลดลง ขณะที่การลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของรัฐวิสาหกิจยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -8.4% เทียบไตรมาสก่อนที่หดตัว -15.6%
 
• การอุปโภคภาครัฐหดตัว -4.9%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนเช่นกัน จากการโอนเงินเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) หดตัวรุนแรง -38.6% ขณะที่การอุปโภคภาครัฐในหมวดอื่น ได้แก่ ค่าตอบแทนแรงงาน รายจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวร และรายได้จากการขายสินค้าและบริการให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการยังขยายตัวได้
 
• ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัว -3.1%YOY ลดลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัว -5.7% จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังหดตัว เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และสินค้าเกษตรขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนตามอุปสงค์ที่อยู่ในระดับสูง และการส่งออกข้าวที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่อินเดียห้ามส่งออกข้าว (ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ 
 
• ปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัว -11.8%YOY สูงกว่าไตรมาสก่อนที่หดตัว -4.3% จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวจากการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า 
 
• สินค้าคงคลังลดลงรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี โดยมูลค่าสินค้าคงคลังลดลง 186,490 ล้านบาท ณ ราคาประจำปี หรือ 98,372 ล้านบาทในระบบ CVM จากไตรมาสก่อน โดยสินค้าคงคลังสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล เครื่องประดับอัญมณี พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สำหรับสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมและเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นและแช่แข็ง

เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต (Production approach) ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการเป็นหลัก ภาคเกษตรยังขยายตัวได้แม้ชะลอลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง
 
• ภาคการเกษตรขยายตัว 0.9%YOY ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 4 ไตรมาสจากสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมาเริ่มส่งผลให้ผลผลิตพืชหลัก โดยเฉพาะข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และสัปปะรดโรงงานปรับตัวลดลง ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ ประมง และผลผลิตผักผลไม้ยังขยายตัวได้
 
• ภาคอุตสาหกรรมหดตัว -2.8%YOY รุนแรงขึ้นจาก -2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว -4.0% รุนแรงขึ้น -3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศขยายตัว 4.7% ชะลอจาก 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สาขาเหมืองแร่และเหมืองหินพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาสที่ 1.1% จากการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ขยายตัว 6.0% หลังจากที่ลดลง -2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวที่ขยายตัว 7.8% เร่งตัวขึ้นจาก 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า 
 
• หมวดบริการขยายตัว 3.9%YOY ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าและขยายตัวได้อย่างทั่วถึงในสาขาสำคัญ โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวถึง 14.9% และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัว 6.8% นอกจากนี้ สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวได้ 3.3%

IMPLICATIONS
 
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2023 ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาดค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.5%YOY เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็น 0.8%QOQ_SA เทียบไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ข้อมูลจริงออกมาต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในการสำรวจของ Bloomberg ที่ 2.2%YOY หรือ 1.3%QOQ_SA ค่อนข้างมาก ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 7.1 ล้านคนในไตรมาสนี้ ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีสอดคล้องกับข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำนวนทักท่องเที่ยว และอัตราการว่างงานที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง ด้านการส่งออกสินค้า แม้จะยังหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่การส่งออกสุทธิขยายตัวได้ดีจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวแรงกว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ในภาพรวมรวมขยายตัวไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นการคำนวณเทียบกับฐานในปี 2022 ที่ภาครัฐยังมีการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาจากวิกฤติโควิด หากหักปัจจัยพิเศษดังกล่าวแล้ว การใช้จ่ายอื่นของภาครัฐยังขยายตัวได้ ด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดีได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรชะลอตัวลงจากสภาพอากาศแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก ทั้งนี้การลดลงของสินค้าคงคลังที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดในไตรมาสนี้
 
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้ระดับก่อนโควิดช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ แม้หลายภาคส่วนฟื้นตัวเหนือระดับดังกล่าวแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดประมาณ -0.8% ซึ่งแม้จะทยอยฟื้นตัวจาก -1.2% และ -1.5% ในสองไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งล่าช้ากว่าที่ SCB EIC เคยประเมินไว้ว่าจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิดได้ในไตรมาสนี้ หากพิจารณา GDP ด้านการใช้จ่าย พบว่าการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้ว แต่การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งส่วนมากเป็นภาคการท่องเที่ยว) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดราว -30% หากพิจารณา GDP ด้านภาคการผลิต พบว่า ภาคเกษตรฟื้นตัวในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ภาคบริการสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับก่อนวิกฤติโควิดได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดราว -4.8% จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

รูปที่ 3 : ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าวิกฤติโควิดราว -0.8% 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวช้า ๆ โดยไตรมาส 4 จะขยายตัวสูงกว่า 3 ไตรมาสแรก ปัจจัยสนับสนุนหลักยังมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งกลับไปเท่าระดับก่อนวิกฤติโควิด รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสสุดท้ายหลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย (รูปที่ 4) แม้ช่วงที่ผ่านมามาตรการ Visa free สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของรัฐบาลอาจยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนัก แต่คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นหลังเพิ่มกลุ่มประเทศเป้าหมาย อีกทั้ง การส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและพลิกกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม 
(เช่น สินค้าเกษตร) และปัจจัยฐานต่ำ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์มากทำให้ GDP ทั้งปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเดิม

มองไปในปี 2024 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวเปราะบางบนความเสี่ยงรอบด้าน SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน 

การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และมูลค่าการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวกลับเป็นบวก ด้านการอุปโภคภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวตามกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นในปี 2024 ขณะที่การลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวตามความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 ส่งผลให้ภาพรวมแรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปีเทียบช่วงครึ่งหลังของปีหน้า 

อย่างไรก็ดี ในปีหน้าต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบ ผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงอาจกระทบการส่งออกไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูงและเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อ FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง นอกจากนี้ อาจเริ่มเห็นผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งในหลายพื้นที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก กระทบภาคเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายการคลัง โดยเฉพาะดิจิทัล วอลเล็ต (Digital wallet) แม้โครงการนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นในประเด็นผู้ได้รับสิทธิ ขนาดวงเงิน และแหล่งที่มาของเงิน รวมถึงขอบเขตการใช้จ่ายและประเภทสินค้าที่เข้าเกณฑ์ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางการคลัง หากโครงการสามารถดำเนินการได้จริงตามแถลงการณ์ของรัฐบาล SCB EIC ประเมินว่า Digital wallet จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพเพียงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวตามศักยภาพตามเดิม ในขณะที่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังสูงจากการใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่มีผลบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ 70% ของ GDP เร็วขึ้นกว่ากรณีไม่มีโครงการนี้ รวมถึงจะกระทบพื้นที่การคลังที่จะใช้รองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้

รูปที่ 4 : นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย
 
 
 
หมายเหตุ : ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนประเมินจากตัวเลขเบื้องต้นของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รูปที่ 5 : โครงการ Digital Wallet เริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางกฎหมาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางการคลัง
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของทำเนียบรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และสำนักข่าวต่าง ๆ 

ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ล่าสุดอยู่ที่ 3.1% (คาดการณ์ ณ เดือนกันยายน 2023) โดย SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ใน SCB EIC Monthly ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2023 ภายในสัปดาห์นี้ 

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/gdp-201123

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
วิชาญ กุลาตี  (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ (nathapong.tuntichiranon@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ (natnicha.sukprawit@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
 
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักเศรษฐศาสตร์









































































 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ย. 2566 เวลา : 16:46:50
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:26 am