แบงก์-นอนแบงก์
"ออมสิน" ชูบทบาท CSV สร้างคุณค่าสังคมที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ


เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 ธนาคารออมสิน ได้จัดงานสัมมนา GSB Forum 2023 ESG : Social Pillar Driven “สร้างสังคมให้มีคุณค่าที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” ด้วยกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment-Social-Governance) 

 
โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม จะชูบทบาทการเป็น CSV หรือ Creating Shared Value  ที่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจ ที่เน้นการทำธุรกิจที่มีคุณค่าแบบยั่งยืน โดยสร้างคุณค่าไปยังความต้องการที่แท้จริงของสังคม ผนวกกับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง CSV ถือเป็นการยกระดับจาก CSR หรือ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม( Corporate Social Responsibility : CSR) ไปอีกขั้น ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ เมื่อทำเสร็จก็จบไป ไม่มีความต่อเนื่อง แต่จะเป็นการให้ที่มีการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพด้านมิติทางสังคม (Social) สิ่งแวดล้อม (Environment) และเศรษฐกิจ (Economic)

“ผมมองว่าการให้แบบ CSR ให้เท่าไรก็ไม่พอ แต่จะทำอย่างไรที่จะให้การให้นั้น มีความยั่งยืน และเป็นการแบ่งปันคุณค่าอย่างแท้จริง”นายวิทัยกล่าว

นายวิทัยกล่าวต่อว่า การทำ CSV ธนาคารออมสินไม่ได้มุ่งหวังเรื่องการเพิ่มกำไรอย่างสูงสุด แต่มุ่งหวังที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการคิดและวางแผนให้เป็นส่วนหนึ่งหรือรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา โดยนำกำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นการช่วยคน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน

“โมเดลการทำธุรกิจของธนาคารออมสินในปัจจุบันและต่อจากนี้  จะนำปัจจัยทางสังคมเข้าไปใส่ในทุกกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด  เพื่อให้การทำธุรกิจทุกอย่างมีมิติทางสังคมเข้าไปอยู่ด้วย”นายวิทัยกล่าว

 
ด้าน นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวเสริมว่า ธนาคารออมสินมุ่งเดินหน้าตามแนวคิด CSV เพื่อพัฒนาชุมชน แบบองค์รวม “สร้าง-พัฒนา-รักษา” โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือเข้าไปเติมเต็มตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งแตกต่างจากการทำ CSR ที่ให้เฉยๆ แล้วก็จบ แต่ CSV จะเพิ่มมูลค่าทั้งสินค้าในชุมชน การผลิต การพัฒนาด้านต่างๆ ที่ชุมชนต้องร่วมมือกัน รวมไปถึงการใช้ระบบดิจิทัลของออมสิน ที่จะเข้าไปส่งเสริมการออมให้กับนักเรียน เพื่อจบการศึกษาออกไป จะสร้างวินัยการออมให้กับเยาวชน

สำหรับทางด้านผลกำไรในปีนี้ นายวิทัยกล่าาวว่า ธนาคารออมสินมั่นใจ กำไรสุทธิในปีนี้ จะสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่กำไรสุทธิอยู่ที่กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดที่อยู่ในระดับกว่า 2 หมื่นล้านบาท

โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ย แต่เกิดจากการตัดลดค่าใช้จ่ายปีละ 1 หมื่นล้านบาท และการดำเนินนโยบายยช่วยเหลือสังคม ซึ่งมีส่วนช่วยเอื้อการขยายฐานลูกค้ารายย่อย ให้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 ล้านราย จาก 1.57 ล้านรายใน 2 ปีก่อน เป็น 3.57 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ด้านหนี้เสียก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3% ของสินเชื่อคงค้าง ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท

นายวิทัยกล่าวว่า ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น สะท้อนว่า แนวนโยบายการช่วยเหลือสังคมผ่านโปรดักส์ทางการเงินต่างๆของธนาคาร หรือที่เรียกว่า Creating Shared Value หรือ CSV  เป็นแนวทางที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและความยั่งยืนให้แก่ธนาคาร และ รวมถึงทุกภาคธุรกิจ ซึ่งจากเดิมภาคธุรกิจและธนาคารเองจะช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้นและไม่ช่วยต่อยอดธุรกิจหรือสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจและสังคมได้มากนัก

“เราจะเอาปัญหาสังคมไปใส่ในทุกโปรดักส์ทางการเงินของธนาคาร ยกตัวอย่าง เรื่องของสินเชื่อ ซึ่งก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน เราก็ไปทำตลาดเรื่องจำนำทะเบียนรถ ช่วยลดดอกเบี้ยในตลาดจากที่ประมาณ 28% เหลือ 18% ออกโปรดักส์สินเชื่อมีที่มีเงิน และปีหน้าเราจะตั้งบริษัทลูกทำธุรกิจนอนแบงก์ ดอกเบี้ยจะลดลงจาก 33% เหลือประมาณ 28% สิ่งเหล่านี้ เราทำมาตลอด 3 ปี รวมกว่า 60 โครงการ จะช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้นกว่า 3 ล้านราย ทำให้ฐานลูกค้ารวมของเราใหญ่ขึ้น” นายวิทัยกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร โดยยืนยันจะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานถึงสิ้นปี 2566 จากนั้น จะดูสถานการณ์อีกครั้ง หากเงินฝากตึงตัวมากๆ ก็จะต้องดูสถานการณ์แข่งขันของเงินฝากประกอบการพิจารณาด้วย เนื่องจาก ต้นทุนหลักธนาคาร คือ เงินฝาก ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของออมสิน ถือว่า ต่ำกว่าระดับทั่วไปค่อนข้างมาก แม้ว่า ลูกหนี้รายย่อยจะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งหากธนาคารต้องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สะท้อนถึงความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ธนาคารจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยขึ้นอีก 0.50  ถึง 0.75 %  แต่ธนาคารยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามความเสี่ยงดังกล่าว

 
“การที่กำไรเพิ่มขึ้นมา ไม่ได้มาจากขึ้นดอกเบี้ย โดยธนาคารได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 65 จนถึงปัจจุบัน และรวมทั้ง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ด้วย ซึ่งการตรึงดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ออมสินสูญรายได้ จึงได้มีการหารายได้ส่วนอื่นมาชดเชย ได้แก่ การขยายขอบเขตธุรกิจในการช่วยคน โดยการเข้าไปทำธุรกิจใหม่ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ และให้กลุ่มฐานรากเข้าสู่ระบบสินเชื่อ เป็นต้น และเรายังลดต้นทุนอย่างรุนแรง จึงทำให้กำไรของออมสินเพิ่มขึ้นทุกปี”นายวิทัยกล่าว

นายวิทัยกล่าวอีกว่า ในต้นปีหน้า ธนาคารจะดำเนินธุรกิจนอนแบงก์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธุรกิจสินเชื่อนอนแบงก์จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าธุรกิจธนาคารตามปกติ ซึ่งหมายความว่า จะสามารถดึงคนที่เครดิตต่ำหรือไม่มีเครดิต ที่ไม่สามารถกู้จากสถาบันการเงินตามปกติได้ สามารถมาขอกู้จากนอนแบงก์ได้ ซึ่งทำให้คนเหล่านั้น ไม่ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงมาก

สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบนั้น นายวิทัยกล่าวว่า ธนาคารก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยธนาคารได้เสนอแนวทางในการเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ส่วนรัฐบาลจะพิจารณาในแนวทางใด ต้องรอความชัดเจน ซึ่งเข้าใจว่า รัฐบาลจะประกาศในเร็วๆนี้

LastUpdate 22/11/2566 18:39:07 โดย : Admin
24-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 24, 2024, 8:38 am