วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เตรียมสมโภชใหญ่ ๓๓๘ ปี ๗ วัน ๗ คืน
ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ในปี ๒๕๖๗ และเพื่อรำลึกถึงบูรพกษัตริย์และบูรพาจารย์ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
คณะกรรมการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง ๓๓๘ ปี โดย นางฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการฝ่ายฆราวาส ได้จัดกิจกรรม “สื่อมวลชน เยือนวัดมหาธาตุฯ” ก่อนงานสมโภช พระอาราม โดยเปิดเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ “ไหว้พระ-ขอพร รับปีใหม่ ๒๕๖๗” ชมสถาปัตยกรรม ศิลปะวัดวัง ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนา โดยมีวิทยากรผู้บรรยายด้านประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม อาจารย์นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา
เส้นทางเข้าชม สถานที่สำคัญของวัดวังหน้า เริ่มจาก ประตูทางเข้า ฝั่งถนนพระจันทร์-สนามหลวง
จุดแรก พบกับ ๓ สถานที่สำคัญ ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วิหารโพธิ์ลังกา พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
- “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หรือเรียกสั้นๆว่า “โพธิ์ลังกา” ที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณ ๒๐๕ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ส่งคณะพระสงฆ์สมณทูตไทยออกไปสืบพระศาสนาในลังกาทวีป เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และในตอนกลับ ได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา มาปลูก ในปี พ.ศ.๒๓๖๑ นับเป็นครั้งแรกที่นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาเข้ามาปลูกในกรุงรัตนโกสินทร์
- “วิหารโพธิ์ลังกา” เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่๔ และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระผนวช
- “พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” ปี๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระบวรราชานุสาวรีย์ มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเหนือพระอุระเพื่อจบถวายเป็นพุทธบูชา ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาทั้งสิ้น ๒๘ แห่ง
จุดที่สอง ตึกแดง หรือ “ ตึกถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ” ชมสถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ ๕ กราบสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบริเวณด้านหลังเป็น อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๙
จุดที่สาม ศาสนสถานที่สำคัญ คือ เขตพุทธาวาสของวัด ๓ แห่ง ได้แก่ พระมณฑปพระธาตุ พระอุโบสถ พระวิหาร
- พระมณฑปพระธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา
หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนบนของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนใต้ฐานพระเจดีย์ บรรจุพระบรมอัฐิของพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นราชวงศ์จักรี)
- พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ปูลาดด้วยศิลาอ่อน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงสุบรรณ อยู่ด้านในพระอุโบสถ ส่วนด้านนอกตามมุมทั้ง๔ สลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “พระศรีสรรเพชญ” และ พระอรหันต์ ๘ ทิศ ซึ่งพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ถือเป็นพระอุโบสถที่เชื่อกันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ
- พระวิหาร กราบพระประธานพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
หลวงพ่อหิน (พระพุทธรูปหินศิลาแลงเก่าแก่ที่สุด) หนึ่งในพระประธานในพระวิหาร เดิมเป็นพระประธาน ในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุฯ) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอายุกว่า ๓๓๘ ปี เมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารหลวงจนถึงปัจจุบัน
แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา(พิชัยสงคราม) ซึ่งจารึกเป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏปีที่สร้าง พศ.๒๒๒๘ เป็นเครื่องแสดงว่า วัดมหาธาตุฯ มีอายุ ๓๓๘ ปี แต่เดิมติดอยู่ที่ฐานพระประธาน ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลาประมาณ ๓๓ ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหารมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ภายในพระวิหารยังมี พระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่๑ (พศ.๒๓๓๑) และ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ ให้ชมอีกด้วย
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเฉลิมฉลองสมโภชพระอาราม ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ ปรับภูมิทัศน์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้งามสง่าสืบไป สั่งสมเสบียงบุญ เกื้อหนุนพระศาสนา ทุกบาทของท่านมีค่าเป็นมหากุศล
ร่วมบริจาคทรัพย์ ๓๓๙ บาท รับพระสมเด็จอรหัง ๑ องค์ พระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ สนามหลวง โดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (สุกไก่ เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา (จัดส่งถึงบ้าน)
ทุกบาทมีค่า เป็นมหากุศล ร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอาราม เลขที่บัญชี ๙๐๕-๐-๒๒๗๕๐-๔
ประวัติความเป็นมาของวัด
เดิมชื่อ “วัดสลัก” สันนิษฐานว่า วัดนี้แต่ก่อนมีพระภิกษุเป็นช่างฝีมือแกะสลักอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า “วัดสลัก”
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระนครทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสลักอยู่ในพระนครฝั่งตะวันออก จึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เป็นที่สถิตของพระราชาคณะ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีวัดที่อยู่ใกล้ชิดพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ 2 วัดคือ วัดโพธาราม และวัดสลัก
1. วัดโพธาราม อยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังข้างด้านใต้ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดนี้และพระราชทาน นามว่า “วัดพระเชตุพน”
2. วัดสลัก อยู่ข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง แต่อยู่ชิดด้านใต้พระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดสลักและขนานนามใหม่ ชื่อว่า “วัดนิพพานาราม” “วัดพระศรีสรรเพชญ” “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” และในสมัยรัชกาลที่๕ ได้เพิ่มสร้อยนามของวัด เป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ”
ข่าวเด่น