มาสเตอร์การ์ดมอบองค์ความรู้และทรัพยากรแก่ชุมชนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมสนับสนุนการปลูกต้นไม้ในผืนป่ากว่า 250,000 ต้น
กรุงเทพ ประเทศไทย, 22 พฤศจิกายน 2566 – มาสเตอร์การ์ด ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในประเทศไทย เตรียมฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวน 1,031.25 ไร่ (165 เฮกตาร์) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก ครอบคลุมจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้จำนวน 275,000 ต้นภายในระยะเวลาสองปี เพื่ออนุรักษ์และดูแลระบบนิเวศของผืนป่าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
โดยทั้งสามหน่วยงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น 7 แห่งที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ เพื่อทำการฟื้นฟูระบบนิเวศและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขีดความสามารถให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนไปสู่แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น รักษาแหล่งรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น และจัดหาความรู้และทรัพยากรให้กับชุมชน เพื่อการอนุรักษ์พื้นป่าในระยะยาว
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Priceless Planet Coalition (PPC) ของมาสเตอร์การ์ด ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกโดยอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจและผู้บริโภค โครงการ PPC เปิดตัวขึ้นในปี 2563 และได้จับมือกับพันธมิตรทั่วโลกกว่า 100 ราย ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจด้านความยั่งยืน กลุ่มเทคโนโลยีการเงินและฟินเทค และธนาคารชั้นนำระดับโลก ซึ่งรูปแบบการปลูกป่าของโครงการนี้ได้ขยายขอบเขตไปไกลกว่าการปลูกต้นไม้ โดยยังมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูผืนป่าในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพอากาศ ชุมชน และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
“โครงการ Priceless Planet Coalition ของมาสเตอร์การ์ด เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเหล่าพันธมิตรที่มุ่งมั่นบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั่วโลก เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผืนป่าแห่งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เราจะต้องเข้าไปฟื้นฟูและอนุรักษ์ และเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักและร่วมฟื้นฟูผืนป่าต่อไป” นายซาฟดาร์ คาน ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสเตอร์การ์ด กล่าว
เป้าหมายของโครงการ PPC คือการปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มผลักดันการมีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าทั่วโลก 19 โครงการ โดยร่วมมือกับองค์การนอกภาครัฐ (NGO), องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI) และสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการล่าสุดของ PPC และเป็นโครงการแรกในเอเชียแปซิฟิกที่เริ่มดำเนินการในปี 2566
โครงการ PPC ได้ดำเนินงานครอบคลุมหลายพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อาทิ เอเชียแปซิฟิก (ออสเตรเลีย, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, ไทย, ฟิลิปปินส์), ลาตินอเมริกา (บราซิล, โคลอมเบีย, กัวเตมาลา), ยุโรป (ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, สเปน, สกอตแลนด์), ตะวันออกกลางและแอฟริกา (มาดากัสการ์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, เคนยา, มาลาวี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และอเมริกาเหนือ (เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา)
ข่าวเด่น