เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ทำความรู้จัก "CSV" แนวคิดการสร้างคุณค่าธุรกิจ คืนสู่สังคมอย่างแท้จริง


 

ในโลกของการทำธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงองค์กรต่างๆในสังคมนั้น ต่างยึดแนวทางของการรักษาสิ่งแวดล้อมจากเนื้องานที่ตนเองปฏิบัติ เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทของตัวเองอาศัยอยู่ หรือเพื่อเป็นการทดแทนจากการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติไปก่อนหน้านี้ ตามกระแสรักษ์โลก ที่ผู้คนเกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และเรียกร้องต่อภาคธุรกิจให้มีความรับผิดชอบในประเด็นนี้ หากมีองค์กรใดที่กระทำตรงกันข้าม ผู้บริโภคที่มีสิทธิเลือกก็มีแนวโน้มที่จะไม่อุดหนุนหรือแบนธุรกิจที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
 
ทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ บริษัทต่างๆนอกจากจะต้องดำเนินงานตามกระบวนการทางธุรกิจของตนแล้ว ล้วนแต่ยังต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแนวคิดที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ ก็คือการทำ CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึงความรับผิดชอบขององค์กรหรือบริษัทที่มีต่อสังคม ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการจัด กิจกรรมที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ (ไม่ได้อยู่ใน Supply chain ของกระบวนการผลิต) การนำแยกงบประมาณออกมา เพื่อเลือกใช้ในกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมนี้จะเกิดผ่านฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ฝ่าย PR หรือฝั่งทางทรัพยากรบุคคล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในหมู่พนักงานไปเลยทีเดียว ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท โดยกิจกรรมแบบ CSR ที่บริษัทนิยมทำ ได้แก่ การปลูกป่า การเก็บขยะ การบริจาคสิ่งของให้กับมูลนิธิ การบริจาคเงินให้กับผู้ยากไร้ หรือการให้ทุนการศึกษา สร้างเสริมอาชีพให้กับบุคคลที่จัดเป็น Stakeholders (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร) ที่อยู่ในละแวกพื้นที่ของบริษัทที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ (เช่น ชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานที่ก่อมลพิษทางเสียง เป็นต้น) เพื่อกันไม่ให้เกิดกระแสลบต่อองค์กร และยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม จากการเผยแพร่สู่สาธารณชนออกไป อันตรงตามการตระหนักรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แต่จะสังเกตได้ว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดของ CSR แม้จะมีการคืนกำไรออกสู่สังคมก็จริง แต่มันเป็นเพียง “กิจกรรม” ที่แยกออกมาจากการทำงานขององค์กร ซึ่งหมายความว่า ในกระบวนการทำงาน หรือเส้นทางการผลิตสินค้าหรือบริการต่างๆออกมา ก็อาจจะมีการกระทำที่อาจส่งผล กระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเราสามารถรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อมๆ กับกระบวนการทำงาน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ ก่อเกิดเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
 
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดที่ชื่อว่า “CSV” หรือ Creating Shared Value จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว โดยแนวคิด CSV นี้ เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สามารถได้รับผลประกอบการทางธุรกิจ (กำไร) ไปพร้อมกับการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ผสมรวมอยู่ในกระบวนการทำงานหลักขององค์กร หรือก็คือการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ด้วยการสร้างกระบวนการใหม่ๆ ให้สามารถสร้างคุณค่าจากสินค้าหรือการบริการให้กับสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่การปันส่วนเงินทุนออกมาเพื่อจัด “กิจกรรม” เพื่อสังคมแยกออกมา ซึ่งแยกกับการทำงานหลักโดยสิ้นเชิง
 
โดยการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด CSV ก็ค่อยๆเริ่มมีมาให้เห็นบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย ที่ทาง “ธนาคารออมสิน” ถือเป็นต้นแบบ ได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่า ได้ให้ความสำคัญกับการชูบทบาท CSV ไปช่วยเหลือสังคมผ่าน Product ทางการเงินต่างๆ ที่ผลิตออกมา ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าไปยังความต้องการที่แท้จริงของสังคม โดยผนวกกับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ เมื่อทำเสร็จก็จบไป ไม่มีความต่อเนื่อง แต่จะเป็นการให้ที่มีการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพด้านมิติทางสังคม (Social) สิ่งแวดล้อม (Environment) และเศรษฐกิจ (Economic) ตามแนวคิดใหญ่ซึ่งก็คือ แนวคิด ESG
 
โดยการออกแบบ Product ที่ยึดโยงกับแนวคิด CSV ก็อย่างการนำปัญหาสังคม ซึ่งเป็น Pain point ไปใส่ในทุก Product ทางการเงินของธนาคาร เช่น การออกสินเชื่อที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน  ลดดอกเบี้ยการจำนำทะเบียนรถในตลาด จากที่ประมาณ 28% เหลือ 18% ออกสินเชื่อมีที่มีเงิน การตั้งบริษัทลูกทำธุรกิจนอนแบงก์ ลดดอกเบี้ยลงจาก 33% เหลือประมาณ 28% เป็นต้น ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้นกว่า 3 ล้านราย


โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม จะชูบทบาทการเป็น CSV  ที่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจ ที่เน้นการทำธุรกิจที่มีคุณค่าแบบยั่งยืน โดยสร้างคุณค่าไปยังความต้องการที่แท้จริงของสังคม ผนวกกับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง CSV ถือเป็นการยกระดับจาก CSR ไปอีกขั้น ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ เมื่อทำเสร็จก็จบไป ไม่มีความต่อเนื่อง แต่จะเป็นการให้ที่มีการสร้างสรรค์แบ่งปันคุณค่าร่วมกัน และมีความยั่งยืน

โมเดลการทำธุรกิจของธนาคารออมสินหลังจากนึ้ จะนำปัจจัยทางสังคมเข้าไปใส่ในทุกกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด เพื่อให้การทำธุรกิจทุกอย่างมีมิติทางสังคมเข้าไปอยู่ด้วย โดยไม่ได้มุ่งหวังเรื่องกำไร แต่มุ่งหวังที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการคิดและวางแผนให้เป็นส่วนหนึ่งหรือรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา โดยนำกำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นการช่วยคน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด CSV จึงเป็นลักษณะของการดำเนินธุรกิจอย่างตรงเป้า และทำได้อย่างยั่งยืนแท้จริง เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานหลัก วางร่างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การช่วยเหลือสังคมที่เป็นส่วนเสริมหรือส่วนที่ขยายออกมาที่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากทางบริษัท ซึ่งจัดได้เป็นบางช่วงเวลา ไม่ได้จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือมีกำหนดการที่ชัดเจนเหมือนแนวคิดเก่าแล้ว

LastUpdate 27/11/2566 12:28:58 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:45 am