ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม นำโดยการปรับลดของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับปัญหาอุปทานล้นตลาด นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะจากจีน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• จับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 30 พ.ย. นี้ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ โดยตลาดคาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะมีการขยายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ 1.0 และ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเลื่อนการประชุมของกลุ่ม OPEC+ จากกำหนดการเดิม เนื่องจากสมาชิกในประเทศมีความขัดแย้งเรื่องปริมาณการผลิต
• ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากคาดการณ์ว่าโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะกลับมาดำเนินการผลิตหลังการปิดซ่อมบำรุง โดยสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 85% ของกำลังการผลิต
• ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากตลาดคาดธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 66 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.2% จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยุโรปปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.9% จากปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 4.3%
• สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเริ่มคลี่คลายลงและส่งผลกดดันต่อราคาน้อยลง จากที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงในการหยุดยิงเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกัน โดยสหประชาชาติ (UN) และหลายประเทศได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันและดำเนินการยุติสงคราม อย่างไรก็ตาม อิสราเอลมีการเปิดเผยว่าจะยังคงตอบโต้กลุ่มฮามาสจนกว่าจะมีการปล่อยตัวประกันทั้งหมดและกลุ่มฮามาสจะไม่มีภัยคุกคามต่ออิสราเอล
• เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากการชะลอตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือน ต.ค. 66 ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 49.5 ขณะที่ ดัชนีผลผลิตภาคบริการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 50.6
• เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 66 GDP ไตรมาส 3 ของปี 2566 ตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซน ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ย. 66 ตัวเลขเศรษฐกิจจีน ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ (Manufacturing and Non-Manufacturing PMI)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 พ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.58เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรที่มีการประกาศเลื่อนวันประชุมออกไปจากเดิมวันที่ 26 พ.ย. 66 เป็นวันที่ 30 พ.ย. 66 ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 8.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ยังคงส่งผลกดดันต่อราคาเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดเริ่มคลายกังวลต่อสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะส่งผลกระทบในเชิงกว้าง จากความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงหยุดหยิงเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกัน
ข่าวเด่น