เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai Compass ชี้ส่งออกเดือนต.ค.ขยายตัว 8.% คาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัวจำกัด


 
ส่งออกเดือน ต.ค. ขยายตัว 8.0%YoY เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.1%YoY ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าขยายตัวในรอบ 8 เดือน ที่ 10.2%YoY ทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. กลับมาขาดดุลที่ระดับ 832.3 ล้านดอลลาร์ฯ 
 
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างจำกัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง โดยการส่งออกสินค้าหลายชนิดยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว อีกทั้งภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ยังชะลอตัว และออเดอร์คงค้างที่ทยอยปรับลดลง

มูลค่าส่งออกเดือนตุลาคม 2566 ขยายตัว 8.0%
 
มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. อยู่ที่ 23,578.8 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 8.0%YoY เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ 2.1%YoY แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 9.3% การส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัว 59.8% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 6.8%YoY ทั้งนี้การส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว -2.7% 
 
 
ด้านการส่งออกรายสินค้าบางส่วนยังหดตัว
 
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 5.4%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 0.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+9.0%) อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ (+8.7%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+15.1%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+27.3%) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+38.5%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-4.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (-4.6%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-34.2%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (-19.5%) เป็นต้น 
 
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ 9.3%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 12.0%YoY จากสินค้าหมวดเกษตรและสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.3%YoY และ 5.9%YoY ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+37.7%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+4.8%) ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+44.6%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+20.0%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (+9.6%) และสิ่งปรุงรสอาหาร (+29.4%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา (-5.4%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-5.6%) ไก่แปรรูป (-2.2%) และน้ำตาลทราย (-24.9%) เป็นต้น
 
 
 
 
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ 
 
• สหรัฐฯ : กลับมาขยายตัวที่ 13.8%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ผลิตภัณฑ์ยาง และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกขยายตัว 0.1%)  
 
• จีน : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 3.4%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว -0.9%) 
 
• ญี่ปุ่น : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -1.4%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ และรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว -0.02%)   
 
• EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -1.4%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศคอมพิวเตอร์ และแผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว -4.4%) 
 
• ASEAN5 : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 16.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว -4.9%) 
 
มูลค่าการนำเข้าเดือน ต.ค. อยู่ที่ 24,411.1 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือนที่ 10.2%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว -8.3%YoY ตามการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+3.9%YoY) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+3.5%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+10.2%YoY) ที่พลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (+21.3%YoY) และการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+33.4%YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านดุลการค้าเดือน ต.ค. กลับมาขาดดุลที่ 832.3 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้า 10 เดือนแรกขาดดุลสะสม 6,665.0 ล้านดอลลาร์ฯ
 
 
Implication:
 
• Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 จะทยอยฟื้นตัวได้อย่างจำกัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5.4%YoY แต่ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกในบางสินค้ากลับมาขยายตัวได้ เช่น เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิดยังคงหดตัวต่อเนื่อง เช่น สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สะท้อนถึงอุปสงค์โลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้อย่างจำกัด เนื่องจากภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มหดตัว โดยเครื่องชี้ภาคการผลิตเดือน พ.ย. (Flash Manufacturing PMI) ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ชะลอตัว ประกอบกับออเดอร์คงค้าง (backlog order) ที่ปรับลดลง
 
 
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2566 เวลา : 12:31:42
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:31 am