จากการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ธุรกิจของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจขนาดจิ๋ว (กลุ่ม Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 5-20 ล้านบาท และกลุ่ม Super Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 ล้านบาท) ยังคงไม่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบมายังความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ค้างชำระที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในมิติของกลุ่มที่เป็นหนี้เสียและในมิติของกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระระหว่าง 61 – 90 วัน)
ทั้งนี้ หนี้ของธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสินเชื่อระยะยาว ทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อทั่วไป (Commercial loan/ General loan) รวมถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ สะท้อนว่าธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะทยอยสิ้นสุดลง แต่การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งก็จะเป็นการดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของธปท.
บริษัทขนาดจิ๋วที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อุตสาหกรรมการผลิต และขายส่งและขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดจิ๋วในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างที่พักแรมและร้านอาหาร จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่า เพราะได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นยังคงตอกย้ำว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ยังคงไม่เท่าทันกัน
หากกลับมามองทิศทางหนี้ด้อยคุณภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ธุรกิจด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาปิดสิ้นปี 2566 ที่กรอบประมาณร้อยละ 2.62-2.65 ของสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม ชะลอลงจากร้อยละ 2.77 ณ สิ้นปี 2565 อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ต่อไป
ข่าวเด่น