เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Thailand Taxonomy อีกหนึ่งคัมภีร์นำทางธุรกิจพลังงานไฟฟ้า



ESG เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ และมีบทบาทต่อการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชน
 
หลายภาคส่วนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญประเด็นด้าน ESG โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ตื่นตัวมากขึ้น บ่งชี้จากเกณฑ์การกำกับที่มากขึ้น (จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว จากปี 2016 ที่มีเพียง 55 กฎระเบียบ เพิ่มขึ้นเป็น 256 กฎระเบียบ ในปี 2021) ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือกันของนานาประเทศผ่านความตกลงปารีสที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2016 ยังผลให้ภาคธุรกิจ
และนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยเฉพาะในภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก
 
ตลาดการเงินสีเขียว... หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวด้าน ESG 
 
ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ถูกกดดันจากกฎระเบียบด้าน ESG ที่มากขึ้น แต่ยังคงถูกกดดันจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน (เช่น การเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก และบางธนาคารก็เริ่มออกจากการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ไม่มีแผน Transition ที่น่าเชื่อถือ) ส่งผลให้การระดมเงินทุนของธุรกิจมุ่งเน้นไปที่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับไปกับการปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2014-2018 ถึงราว 176% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด
 
ปัญหาฟอกเขียว... ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว 
 
ปัญหาฟอกเขียว  เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินสีเขียวเติบโตก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน (จากฐานข้อมูลของ RepRisk จำนวนเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็น ESG ขององค์กรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1,000 ครั้งต่อปี เทียบกับช่วงปี 2014-2018 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อปี) โดยภาคธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก
 
Green taxonomy ตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาฟอกเขียว หนุนตลาดการเงินสีเขียว
 
ปัญหาฟอกเขียวในหลายครั้งเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีมาตรฐานสำหรับจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมสีเขียว จะทำให้หลายฝ่ายสามารถใช้เป็นแนวทาง
 
โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกันได้ และลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว  Green taxonomy หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Taxonomy” คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับไทยเลือกใช้เกณฑ์การระบุกิจกรรมสีเขียวด้วยเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค  ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ EU และสอดคล้องไปกับ ASEAN Taxonomy ทั้งนี้ไทยได้มีจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงาน (ฝั่งอุปทาน หรือ Supply) และภาคขนส่งก่อน

แนวทางของการปรับตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้า หากต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว
 
Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และความเย็น รวมถึง การส่ง-จ่ายไฟฟ้า ทั้งนี้จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy จะพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว 
จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 หากธุรกิจต้องการดำเนินกิจการให้สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว ธุรกิจจำเป็นต้อง...
 
• เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น เนื่องจาก Thailand Taxonomy ระบุว่าเป็นกิจกรรมสีเขียว (ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจ/โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน)
 
• ปรับปรุงกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ
 
• มุ่งเน้นพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากหันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2040 และหลังปี 2040 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh 
 
• หลีกเลี่ยงการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2023 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง
 
Green taxonomy เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าควรพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำลง 
 
Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก เช่น ธุรกิจพลังงานและธุรกิจโรงไฟฟ้าในยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับงบลงทุนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy มากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ตามปกติการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวจะมีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป หรือเรียกว่ามี Greenuim  ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องด้วยความต้องการในตราสารหนี้ สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง (เนื่องจาก 1. ตราสารหนี้สีเขียวมีความ Defensive มากกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป 2. การเคลื่อนไหวของ Greenium ยังดึงดูดให้นักลงทุนที่เน้น Alpha opportunities เข้ามาลงทุน และ 3. เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะถือครองตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้น)
 
นอกจากนี้ สินเชื่อสีเขียวมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินเชื่อปกติ ทั้งนี้การผลักดันจากทั้งภาครัฐ ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่าง ๆ และองค์กรนานาชาติ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ (ผ่านมาตรการที่หนุนให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อปกติ) ท่ามกลางการให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้นของธนาคารเอกชนหลายแห่งทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย สำหรับไทย แม้ว่าการเงินสีเขียวจะค่อนข้างเติบโตได้ดีในกลุ่มตราสารหนี้ แต่ SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy จะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวทำได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น ท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ที่สอดรับกัน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น
 
ความท้าทายบางประการในการประยุกต์ใช้ Taxonomy ที่หากข้ามผ่านได้อาจหนุนการเงินสีเขียวเร่งตัวได้ดีขึ้น 
 
แม้ว่า Green taxonomy จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อสีเขียว แต่ยังมีความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1. การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรมและยังไม่กว้างขวางเพียงพอ 2. การสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินพยายามปรับตัวตาม Net zero pathway และอาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวใหม่ ๆ และ 3. กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยงด้าน ESG ที่จะมีผลต่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 

ESG มีบทบาทต่อการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างไร ?
 
หลายภาคส่วนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญประเด็นด้าน ESG (Environment-Social-Governance)  โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม บ่งชี้จากเกณฑ์การกำกับที่มากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวตาม จากข้อมูลของ MSCI ระบุว่าจำนวนกฎระเบียบด้าน ESG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทั่วโลกจากปี 2016 ที่มีจำนวนเพียง 55 กฎระเบียบ (Items of regulation) เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปี 2019 เป็น 139 กฎระเบียบ และเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 256 กฎระเบียบ ในปี 2021 โดยกว่า 80% ถูกกำกับโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และกว่า 15% ถูกกำกับโดยหน่วยงานกำกับด้านการเงิน ด้านอุตสาหกรรม และด้านกฎหมาย
 
การเร่งเพิ่มจำนวนของกฎระเบียบด้าน ESG ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือกันของนานาประเทศผ่านความตกลงปารีส (Paris agreement) ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2016 ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 รวมถึงความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้หลายประเทศทั่วโลกพยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อชะลอการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) ทั้งนี้จะพบว่าในกฎระเบียบใหม่ด้าน ESG ของภาครัฐทั่วโลกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ 1.การพยายามให้ภาคเอกชนเข้าใจและรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 2. การส่งเสริมให้นำพลังงานทางเลือกมาใช้เพิ่มขึ้น และ 3. การเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ
แรงกดดันด้านกฎระเบียบ ESG ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยผลการสำรวจ ESG ในเดือน ธ.ค. 2020 ของ NAVEX Global  ที่สอบถามผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ และยุโรป พบว่า 88% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, 79% ของบริษัทร่วมลงทุน และ 67% ของบริษัทเอกชนทั่วไป มีการริเริ่มโครงการด้าน ESG แล้ว ขณะที่ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า 80% ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังรายงานความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรายงานถึงการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของประเทศไทย ผลการสำรวจของ Deloitte ในปี 2022 ระบุว่า 51% ของ 106 บริษัทชั้นนำของประเทศ (ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก) ได้จัดทำรายงานและมีตัวชี้วัดด้าน ESG และ 85% ของฝ่ายงานบัญชีและการเงินมองว่า ESG มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในด้านการเงิน
 
การปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้น กลุ่มที่ถูกจับตามากที่สุดเป็นภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไปในภาคพลังงาน จะพบว่าเกือบครึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงาน มาจากภาคพลังงานไฟฟ้าและความร้อน จึงเป็นเหตุผลให้รายงานฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ
 
ตลาดการเงินสีเขียว... หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวด้าน ESG
 
ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ถูกกดดันจากกฎระเบียบด้าน ESG ที่มากขึ้น แต่ยังถูกกดดันจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการระดมเงินทุนของธุรกิจให้มุ่งเน้นไปสู่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้สถาบันการเงินเอกชนเป็นภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการรายงานด้าน ESG มากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ พร้อมทั้งสถาบันการเงินหลายแห่งของโลกก็มีเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดมากขึ้น โดย 9 ใน 15 สถาบันการเงินโลกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ยั่งยืนเป้าหมายมากที่สุดตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนสินทรัพย์การเงินยั่งยืนมากกว่า 40% ของสินทรัพย์ทั้งหมดภายในปี 2030 ขณะที่บางธนาคารก็เริ่มงดการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงที่ไม่มีแผน Transition ที่น่าเชื่อถือ เช่น NatWest group ในอังกฤษที่เริ่มดำเนินการกับออกจากการให้บริการทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น 

รูปที่ 1 : สถาบันการเงินชั้นนำมีเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ยั่งยืน ท่ามกลางการให้ความสำคัญในการรายงานประเด็นด้าน ESG  
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ S&P Global และ PWC  
 
สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทยก็มีเป้าหมายด้าน ESG ที่ชัดเจนไม่ต่างจากโลก ดังจะเห็นได้จากการประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG ของสมาคมธนาคาร ที่ธนาคารสมาชิกเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการตามแนวทาง 6 ประการ ดังนี้ 1. สร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผล 2. บูรณาการพันธกิจด้าน ESG ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ 3. ผนวกรวมประเด็น ESG ไว้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง 4. ปรับใช้นวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน 5. สื่อสารและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในประเด็น ESG และ 6. พัฒนาระบบการติดตามและการรายงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลของไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล นอกจากนี้ ในหลายธนาคารของไทยมีแผนและเป้าหมายในการสนับสนุนการเงินสีเขียวที่ชัดเจน
 
การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืน (Green and sustainable finance) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับไปกับการปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค (Utilities) ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของ Bloomberg จะพบว่าภาคธุรกิจระดมเงินทุนในตลาดการเงินสีเขียวของโลกในช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 มีมูลค่าสะสมสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ไม่นับรวมการระดมเงินทุนของหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงิน) เพิ่มขึ้นจากมูลค่าสะสมในช่วงปี 2014-2018 ที่ 4.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราว 35% เป็นการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค (Utilities) ทั้งนี้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2014-2018 ถึงราว 176% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Green and sustainable bonds) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2014-2018 ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงดังล่าว โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว (Long tenor) ขณะที่ในการระดมเงินทุนผ่านตลาดสินเชื่อแม้จะมีสัดส่วนลดลงจากสินเชื่อสีเขียว (Green loan) แต่สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan : SLL) กลับมีบทบาทมากขึ้นอย่างเด่นชัด
 
รูปที่ 2 : การระดมทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า 
และสาธารณูปโภคผ่านช่องทางตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ BloombergNEF และ Bloomberg
 
รูปที่ 3 : กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคของไทย หันมาใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งทุนเพิ่มขึ้นสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนเช่นเดียวกับหลายประเทศ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ BloombergNEF และ Bloomberg
 
สำหรับไทย กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค ก็มีการระดมเงินทุนในตลาดการเงินสีเขียวในอัตราที่ขยายตัวสูงเช่นเดียวกันกับตลาดโลก โดยในช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. ปี 2023 มีมูลค่าระดมเงินทุนสะสมอยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงกว่าในช่วงปี 2014-2018 (มูลค่าสะสมที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถึงราว 167% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในสัดส่วนสูงถึง 87% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด (เทียบกับโลกที่มีสัดส่วนเพียง 51%) ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว (Long tenor) ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องการล็อกต้นทุนของตนเอง นอกเหนือไปจากความต้องการระดมเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมสีเขียวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องไปกับเป้าหมาย ESG ของภาคธุรกิจ
 
ปัญหาฟอกเขียว... ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว
 
ปัญหาฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว (Green finance) โดยการฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Greenwashing คือ การเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ในกรณีของ Drax group บริษัทในสหราชอาณาจักรที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า ที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินมาเป็นพลังงานชีวมวล พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินค้ำประกันจากกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร โดย Drax มักมีการระบุอยู่บ่อยครั้งว่า การหันมาใช้พลังงานจากถ่านหินไปเป็นพลังงานชีวมวลจะทำนำมาสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงหนุนต้นทุนพลังงานให้ลดลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า โรงไฟฟ้าของ Drax ถือว่าเป็นโครงการที่มีการกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่แท้ที่จริงแล้วกลับพบว่า การเผาไหม้ไม้ชีวมวลในโรงไฟฟ้าของ Drax มีการปล่อยก๊าซ CO2 ในระดับที่สูงกว่าพลังงานถ่านหิน
 
ปัญหา Greenwashing ของโลกที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญมาจากทั้งการแข่งขันในการนำเสนอสินค้า บริการ รวมถึงการลงทุนด้าน ESG ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคและนักลงทุน ท่ามกลางแรงกดดันจากกฎระเบียบของภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลก และการตรวจสอบของกลุ่มสื่อและกลุ่ม NGOs ต่าง ๆ รวมถึงการขาดความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ
 
ท่ามกลางการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน โดยภาคธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค จากฐานข้อมูลของ RepRisk จำนวนเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็น ESG ขององค์กรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1,000 ครั้งต่อปี เทียบกับช่วงปี 2014-2018 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อปี ซึ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ปัญหาฟอกเขียวเพิ่มมากขึ้น (สัดส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 35% จาก 28% และ 27% ในปี 2018 และ 2013 ตามลำดับ) โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก ที่จำนวนเหตุการณ์ Greenwashing มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ในปี 2021 ปัญหาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของเหตุการณ์  Greenwashing ในด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 20% ในปี 2013 ขณะที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ลดสัดส่วนลง โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบที่มีต่อภูมิทัศน์ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ) นอกจากนี้ หากพิจารณาจำนวนเหตุการณ์ Greenwashing ที่เกิดขึ้น จะพบว่าภาคพลังงานและสาธารณูปโภค (เช่น น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า) ยังคงเป็นภาคที่ใหญ่สุดที่เกิดเหตุการณ์ Greenwashing ด้วยสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของเหตุการณ์ Greenwashing ทั้งหมดในปี 2021  
 
รูปที่ 4 : เหตุการณ์ Greenwashing เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ที่ผ่านมา ซึ่งมาจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
 
 
หมายเหตุ : Compound Annual Growth Rate (CAGR) คือ อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี หรือ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ EBA progress report on greenwashing และ RepRisk ESG Data Science
 
ปัญหาฟอกเขียวในหลายครั้งเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และสังคม ซึ่งการมีมาตรฐานในการจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาฟอกเขียวลงได้ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมสีเขียวเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคการเงิน ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญสำหรับธุรกิจ (ทั้งในแง่ของตลาดสินเชื่อ ตลาดตราสารหนี้ และรวมถึงตราสารทุน) เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้อง/จ่ายค่าปรับในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว เช่น Southern California Gas Company : SoCalGas ที่ถูกฟ้องร้องว่ากล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน ทำให้ SoCalGas ต้องจ่ายค่าปรับให้ทางการ 1.75 แสนดอลลาร์สหรัฐ
 
Taxonomy คืออะไร ? Thailand taxonomy ระยะที่ 1 มีอะไรบ้าง ?
 
Green taxonomy หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Taxonomy” คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดย Green taxonomy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2013 โดย The Climate Bonds Initiative (CBI)  ซึ่งถูกเรียกว่า Climate bonds taxonomy โดย Green taxonomy ดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางสำหรับการบริหารสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้คำจำกัดความของธุรกิจสีเขียว เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อให้นักลงทุนและรัฐบาลเข้าใจว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดบ้างจะทำให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 
 
ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) เป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่นำ Green taxonomy มาประยุกต์ใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฟอกเขียวและช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย European green deal (ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อเข้าสู่ Carbon neutrality ภายในปี 2050) นอกจาก EU แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ได้นำ Green taxonomy มาประยุกต์ใช้เช่นกัน (รูปที่ 5)
 
รูปที่ 5 : หลายประเทศทั่วโลกมีการนำ Green taxonomy มาประยุกต์ใช้แล้ว
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ CBI (ข้อมูลบน Website : https://www.climatebonds.net/taxonomy ณ เดือน ก.ย. 2023)
 
รูปที่ 6 : Taxonomy แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามความแตกต่างของวิธี/เกณฑ์ในการระบุกิจกรรมสีเขียว 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), CBI และ Deloitte
 
รูปแบบการประเมิน Green taxonomy ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามความแตกต่างของวิธีหรือเกณฑ์ในการระบุกิจกรรมสีเขียว (รูปที่ 2) โดย 1. การจัดกลุ่มกิจกรรมโดยระบุกิจกรรมเฉพาะเจาะจง (Whitelist based taxonomies) ซึ่งจะทำการระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกิจกรรม/เทคโนโลยีสีเขียวในแต่ละภาคส่วน เช่น Chinese Taxonomy จะทำการกำหนดกิจกรรมสีเขียวที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนิยามกว้าง ๆ เป็นต้น 2. การจัดกลุ่มกิจกรรมตามเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค (Technical screening criteria-based taxonomies) ซึ่งจะกำหนดตัวชี้วัดเชิงประเมินและเงื่อนไขในการคัดกรองกิจกรรมเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยใช้ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology-neutral)  ในการคัดกรองและไม่ได้กำหนดเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะในแต่ละภาคส่วน และ 3. การจัดกลุ่มกิจกรรมตามหลักการอย่างกว้าง (Principle-based taxonomies) ซึ่งจะกำหนดชุดของหลักการหลัก ๆ โดยไม่ระบุกิจกรรม/เงื่อนไขที่ต้องสอดคล้อง
 
ไทยเลือกใช้เกณฑ์การระบุกิจกรรมสีเขียวด้วยเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค (Technical screening criteria-based taxonomies) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ EU และสอดคล้องไปกับ ASEAN Taxonomy ทั้งนี้ไทยพยายามพิจารณาและกำหนดเกณฑ์สำหรับ Thailand Taxonomy ให้สอดคล้องไปกับ Taxonomy อื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อลดความขัดแย้งและสับสนในการใช้งานจริง รวมถึง ASEAN Taxonomy ที่มีการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับประเทศสมาชิกใน ASEAN (รวมไทย) โดยเฉพาะเกณฑ์การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างกิจกรรมตามการลดก๊าซเรือนกระจก ไทยได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับ Thailand Taxonomy ด้วยเช่นกัน (รายละเอียดตาม Box 1)
 
Box 1 : ระบบ Traffic light system ของ ASEAN Taxonomy ที่ไทยนำมาประยุกต์ใช้  
 
ASEAN Taxonomy เป็น Taxonomy กลางของกลุ่มประเทศ ASEAN ที่จัดทำขึ้นโดย ASEAN Taxonomy Board (ATB) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักด้านสิ่งแวดล้อม 4 ข้อ คือ 1. การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 
 
และ 4. การสนับสนุนการบริหารทรัพยากรให้ยืดหยุ่น/การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เกณฑ์การจัดกิจกรรมของ ASEAN Taxonomy จะใช้ระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างกิจกรรมตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญ ได้แก่ สีเขียว (กิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) สีเหลือง (กิจกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดจุดสิ้นสุดของการปรับตัว) และสีแดง (กิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้) โดยเกณฑ์การแบ่งกิจกรรมจะแยกออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับพื้นฐาน (Fundamental framework tier) เพื่อจัดกิจกรรมตามหลักการอย่างกว้าง และ 2. ระดับเงื่อนไขและตัวชี้วัดเพิ่มเติม (Plus standard tier) เพื่อจัดกิจกรรมตามเกณฑ์การประเมินทางเทคนิค เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ไทยได้ประยุกต์ใช้ระบบ Traffic light system ข้างต้นด้วยเช่นกัน (รูปที่ 7)
 

ไทยได้มีการจัดทำ Thailand Taxonomy โดยดำเนินการระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งจะนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงาน (ด้านอุปทาน) และภาคขนส่ง และอยู่ระหว่างจัดทำระยะที่ 2 ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริม ทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย ทั้งนี้ Thailand Taxonomy ถือว่าเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ 
 
การดำเนินการของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ (จาก 6 วัตถุประสงค์หลักด้านสิ่งแวดล้อม ) โดยมีโครงสร้างในการพิจารณาเพื่อกำหนดเกณฑ์การจำแนกกิจกรรมอยู่ 4 ขั้นตอนหลัก คือ กำหนดวัตถุประสงค์ - กำหนดภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ – กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการ - กำหนดเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่เป็นเกณฑ์การประเมิน Screening criteria (รูปที่ 7)
 
รูปที่ 7 : โครงสร้างและระบบ Traffic light system ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 
 
 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1
 
ะไร คือ กิจกรรมสีเขียวสำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่สอดรับไปกับใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ?
 
Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในด้านการผลิตไฟฟ้า 
ความร้อน และความเย็น รวมถึงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่ง-จ่ายไฟฟ้า เป็นสำคัญ โดยการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกกิจกรรมฯ เป็นกลุ่มกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดง จะใช้ 2 เกณฑ์สำคัญ คือ 1. เกณฑ์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล หรือ พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และ 2. เกณฑ์ตัวชี้วัดที่อ้างอิงเส้นทางการลดการปล่อย GHG ในแต่ละกิจกรรม เช่น ตัวชี้วัดกลางของการปล่อย GHG สำหรับการผลิตไฟฟ้า หรือ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพโดยเฉพาะ เป็นต้น 
 
(ดูรายละเอียดของการจำแนกกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดงได้ใน Box 2)
 
จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ข้างต้น ไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ยั่งยืน 
 
จากเกณฑ์การจำแนกกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดงของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สำหรับ 15 กิจกรรมของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน หากภาคธุรกิจต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว ภาคธุรกิจจำเป็นต้อง...
 
1. เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น เนื่องจาก Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ระบุว่าเป็นกิจกรรมสีเขียว (ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจ/โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน)
 
2. ปรับปรุงกระบวนการผลิตและที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวมีการปล่อย GHG ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ
 
3. มุ่งเน้นพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเดิมที่หันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2040 และหลังปี 2040 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh 
 
4. หลีกเลี่ยงที่จะลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2023 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง
 
Box 2 : เกณฑ์การพิจารณากิจกรรมผลิตไฟฟ้าตาม Traffic light system ของ Thailand Taxonomy  
 
จากคู่มือ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เราสามารถจำแนกกิจกรรมของธุรกิจพลังงาน จำนวน 15 กิจกรรม ออกเป็น 4 กลุ่มหลักที่มีความแตกต่างกันในการจัดกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดง ได้แก่
A. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาเฉพาะกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า/ความร้อน/ความเย็น
B. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมการผลิตฯ ร่วมกับตัวชี้วัดกลางของการปล่อย GHG ซึ่งเกณฑ์การปล่อย GHG จะ ทยอยเพิ่มความเข้มงวดขึ้นในทุก ๆ 5 ปีจนถึงปี 2050
C. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมการผลิตฯ ร่วมกับตัวชี้วัดเฉพาะของกิจกรรมการผลิตฯ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ หรือ พลังงานชีวภาพ
D. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ร่วมกับตัวชี้วัดเฉพาะของกิจกรรม 
 
รูปที่ 8 : การประเมินกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดง สำหรับภาคพลังงาน จำแนกเป็น 4 กลุ่ม
 
 
 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 
(Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1
 
Green taxonomy หนึ่งในคัมภีร์ที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าใช้เป็นแนวทางในการปรับตัวด้าน ESG ไปพร้อมกับเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
 
Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาฟอกเขียว ซึ่งอาจมากระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจ ดังเห็นได้จากการปรับตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความเข้มข้นในการปล่อย GHG ต่อรายได้ในสัดส่วนสูง (Cabon intensities) เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะปรับให้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy (รูปที่ 9)
 
การปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียวจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ 
 
ตลาดตราสารหนี้ : จากบทความของ ดร.ฐิติมา ชูเชิด EIC  เรื่อง “Greenium นักลงทุนยอมจ่ายแพงแค่ไหนให้โลกยั่งยืนขึ้น” ได้บ่งชี้ว่าการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวและยั่งยืน (Green and Sustainable bonds หรือ ESG bonds) มีต้นทุนหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป (Non-ESG bonds) หรือมีค่า Premium ติดลบ หรือที่เรียกว่า Greenuim อยู่เฉลี่ยในช่วง -1.8 ถึง -18bps นอกจากนี้ ในบทความยังระบุอีกว่า Greenium ในประเทศพัฒนาแล้วในช่วงปี 2019-กลางปี 2023 อยู่ในระดับสูงถึง -40bps
 
รูปที่ 9 : กลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อย GHG เข้มข้นและปรับลดได้ยาก กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงการลงทุนของตัวเองให้สอดรับไปกับ Green taxonomy
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ Goldman Sachs Global Investment Research
 
ทั้งนี้ Greenium คือ ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Non-ESG bond) คำนวณได้จากการนำอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจ่ายของ ESG bond มาหักด้วยอัตราผลตอบแทนของ Non-ESG bond โดยหากได้ค่าเป็นลบแสดงว่า ตราสารนั้นมี Greenium เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า ธุรกิจที่ออก ESG bond ขอระดมทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว สามารถเสนอจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนต่ำกว่าทางเลือกในการระดมทุนด้วย Non-ESG bond อย่างไรก็ตาม Greenium ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในตราสารหนี้สีเขียวและยั่งยืนที่มีมาก ท่ามกลางปริมาณของตราสารหนี้ที่อาจไม่พอเพียงต่อความต้องการ

ทั้งนี้แนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากความต้องการในตราสารหนี้สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง แม้ว่าปริมาณของตราสารหนี้สีเขียวมีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีหลังก็ตาม โดย JPMorgan  ระบุว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนความต้องการในตราสารหนี้สีเขียว คือ 1. ตราสารหนี้สีเขียวเป็นสินทรัพย์ที่มีความ Defensive มากกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป 2. การเคลื่อนไหวของ Greenium จากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตราสารหนี้สีเขียว ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่มีความ Active สูงยังเข้ามาลงทุนในรูปแบบเน้นคุณค่า (Alpha opportunities) และ 3. ตราสารหนี้สีเขียวเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกองทุน ESG เช่น Article 9 funds ที่มีความโปร่งใสน้อยกว่าตราสารหนี้สีเขียว (ในแง่ของการใช้เงินที่ได้รับจากการระดมเงินทุน) นอกจากนี้ ธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะถือครองตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้น เช่น European Central Bank : ECB ประกาศว่าการถือครองพันธบัตรของ ECB จะมุ่งไปที่ผู้ออกตราสารที่มีการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น ขณะที่ธนาคารในกลุ่มประเทศ Euro area ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มตราสารหนี้สีเขียวใน Portfolio ของธนาคารมากขึ้น เป็นต้น
 
สำหรับไทย แม้ว่าตราสารหนี้สีเขียวของไทยจะมี Greenium ที่ค่อนข้างต่ำ (เฉลี่ยราว -6 ถึง -7 BPS ในช่วงปี 2018 – เม.ย. 2023) และอาจไม่สร้างแรงจูงใจเท่ากับตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว แต่การให้ความสำคัญของผู้ควบคุมกฎ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดการเงินก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ Greenium สูงขึ้น หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตราสารหนี้สีเขียวได้ โดยเฉพาะเมื่อการให้ความสำคัญในกระแส ESG ทวีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้าน ESG ของภาครัฐ เช่น เมื่อกลางเดือน พ.ย. 2023 กระทรวงการคลังอนุมัติกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ คือ กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) เพื่อลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ESG โดยให้สิทธิวงเงินในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นวงเงินเพิ่มเติมจากวงเงินการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ไม่เกิน 5 แสนบาท
 
ตลาดสินเชื่อ : โอกาสของกิจกรรมสีเขียวที่จะเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนที่ต่ำลงจากสินเชื่อปกติ ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันจากทั้งภาครัฐและธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่าง ๆ รวมถึงองค์กรนานาชาติ ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญ เช่น ในปี 2021 ธนาคารกลางญี่ปุ่นและจีนเป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่ใช้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ คล้ายรูปแบบโครงการเงินกู้สีเขียว เพื่อหนุนให้เอกชนลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (อ้างอิงจากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง นโยบายการเงินสีเขียว ช่วยลดโลกร้อน?) ในปี 2022 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ดำเนินการ MAS SGD Facility สำหรับสินเชื่อ ESG เพื่อให้เงินทุนต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ SME ภายใต้โครงการสินเชื่อ ESG และ International Finance Corporation : IFC ของธนาคารโลกก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อให้กับโครงการสีเขียวหลายประเทศทั่วโลก เช่น โครงการ Solar plant ในเม็กซิโก เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันการเงินเอกชนหลายแห่งทั่วโลกก็ให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้น (ตามรูปที่ 1) ซึ่งจะหนุนให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำลงได้เมื่อเทียบกับสินเชื่อปกติ 
 
นอกเหนือจากสินเชื่อสีเขียวแล้ว การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวเป็นรูปแบบสัญญาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน กล่าวคือ ถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจะถูกปรับลดลง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจสามารถดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคของโลกมีการพึ่งพาสินเชื่อ SLL เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าสินเชื่อสะสมในปี 2019-2023 เติบโตขึ้นกว่า 600% เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2014-2018 และเพิ่มบทบาทขึ้นมาทดแทนมูลค่าสินเชื่อสีเขียวที่เติบโตเพียง 42%
 
ทั้งนี้จากการให้ความสำคัญด้าน ESG ของสถาบันการเงิน จนนำมาสู่การเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกกว่าของ ESG loan ทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่บ่งชี้ว่า ธุรกิจที่ใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะสามารถระดมเงินทุนในตลาดเงินได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่นเดียวกับงานศึกษาของ MSCI ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนน ESG ที่แตกต่างกันในช่วงปี 2015-2019 พบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG สูง (ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงมีการปรับตัวด้านความยั่งยืนได้ดี) มีต้นทุนการก่อหนี้ที่ต่ำกว่าบริษัทที่มีคะแนนต่ำ

สำหรับตลาดไทย แม้ว่าการเงินสีเขียวจะค่อนข้างเติบโตได้ดีในกลุ่มตราสารหนี้ ขณะที่ตลาดสินเชื่อจะเติบโตต่ำกว่า แต่ SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy น่าจะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นกับตลาดโลก เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น และนำไปสู่แนวทางการให้สินเชื่อ ESG ที่ชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางแนวทางการการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ผ่านคัมภีร์อย่าง Thailand Taxonomy เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น 
 
แม้ Green taxonomy สร้างมาตรฐานที่ชัดเจนของกิจกรรมที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ในการประยุกต์ให้ได้ประโยชน์มากขึ้นและกว้างขว้างขึ้น ยังเป็นความท้าทายที่ต้องรอการปรับปรุงเพิ่มเติม 
 
ทั้งนี้ความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1. การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรม ยังไม่กว้างขวางเพียงพอ โดยปัจจุบันยังอยู่เพียงแค่ 2 กลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจ คือ โรงไฟฟ้าและขนส่ง 2. การผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับเป้าหมาย Net zero pathway และเป้าหมายอื่น ๆ ในด้าน ESG เพื่อให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญช่วยหนุนให้ธุรกิจดำเนินไปในเป้าหมายข้างต้นไปพร้อมกันผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว หรือก็คือการสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี นอกจากนี้ อาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงินสีเขียว และ 3. กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินระวังถึงความเสี่ยงด้าน ESG ที่จะมีผลต่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง รายได้และต้นทุนของธุรกิจในระยะกลางอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น กระทบต่ออัตรากำไรในระยะกลางของธุรกิจได้ นำมาสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้นของสถาบันการเงิน
 
Box 3 : Green capital requirement 
ปกติสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ (Minimum capital requirement) โดยการพิจารณาความเพียงพอของเงินกองทุนจะต้องสอดรับไปกับสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดที่สถาบันการเงินถืออยู่ ซึ่งหากสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูง ก็มีความจำเป็นต้องดำรงเงินกองทุนในจำนวนที่สูง บ่งชี้ถึงต้นทุนในของการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงนั้น ๆ ที่สูงขึ้น เช่น การให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจำเป็นต้องดำรงเงินกองทุนมากกว่าสินทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น ธนาคารอาจต้องกำหนดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในอัตราที่สูงกว่า เพื่อคุ้มค่ากับต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากเงินกองทุน เป็นต้น

ทั้งนี้การพิจารณาความเสี่ยงในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่จะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนั้น อย่างไรก็ตาม ประเด็น ESG ยังไม่ถูกนับรวมในการพิจารณาความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่ความจริงแล้ว การที่ธุรกิจไม่ปรับตัวตามกระแส ESG มีโอกาสที่จะส่งผลต่อรายได้และต้นทุนของบริษัท กระทบต่อกำไรและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะข้างหน้า ซึ่งหากพิจารณาประเด็นนี้เข้าไปในต้นทุนเงินกองทุน ก็จะส่งผลให้ธนาคารมีโอกาสที่จะกำหนดนโยบายดอกเบี้ยที่สะท้อน ความเสี่ยงดังกล่าวได้ดีขึ้น หนุนให้ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อสีเขียวมีระดับที่ต่ำกว่าสินเชื่อปกติ
 

 

โดยสรุป : ท่ามกลางกระแสการปรับตัวเพื่อไปสู่ Net zero pathway และเป้าหมายด้าน ESG อื่น ๆ ของธุรกิจด้านพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้า นอกเหนือจากแนวทางที่ธุรกิจได้ดำเนินไปแล้วเพื่อให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการลดโลกร้อนและลดการปล่อย GHG ของโลกและไทย แนวทางอีกด้านคือ Thailand Taxonomy ซึ่งถือเป็นคัมภีร์อีกฉบับที่ช่วยนำทางให้ธุรกิจใช้มาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินและนักลงทุนในตลาดเงิน เพื่อนำมาสู่การเข้าถึงตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และสินเชื่อ และเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจเข้าถึงเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำลง โดยเฉพาะเพื่อลงทุนหรือปรับปรุงกิจกรรมให้สอดคล้องกับกิจกรรมสีเขียว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดประเด็นปัญหาฟอกเขียวขึ้น 
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/Thailand-Taxonomy-281123

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
นพมาศ ฮวบเจริญ (nopphamas.houbjaruen@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส
                                                    
INDUSTRY ANALYSIS
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
นพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส
จิรวุฒิ อิ่มรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส
ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์
 

บันทึกโดย : วันที่ : 07 ธ.ค. 2566 เวลา : 13:02:39
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 5:38 am