เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ติดลบ 0.44% จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ติดลบ 0.44%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการหดตัวของราคาหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากนโยบายภาครัฐที่ปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ราคาอาหารสดติดลบในอัตราที่น้อยลงจากราคากลุ่มข้าว และผักและผลไม้ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58%YoY ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.41% 

 
อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเป็นหลัก ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. ลดลงมากถึง -0.65pp อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกที่ 0.58%YoY ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 0.60% (ค่าเฉลี่ยปี 60-62) สะท้อนถึงเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
 
จับตาราคาอาหารสดอาจทยอยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สินค้าเกษตรขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอาจถูกส่งผ่านไปยังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในหมวดอาหารสดในระยะข้างหน้าได้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. อยู่ที่ -0.44% ติดลบจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ติดลบ -0.44%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ -0.3%   จากหมวดพลังงานหดตัวต่อเนื่องที่ -4.52%YoY จากเดือนก่อนที่ -1.55%YoY ตามนโยบายภาครัฐที่ปรับลดทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซลและแก๊สโซฮอล์ อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง
 
 
ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดหดตัวในอัตราที่ลดลงที่ -0.76%YoY เปรียบเทียบเดือนก่อนที่ -2.45%YoY โดยราคาสินค้าสำคัญที่ลดลงคือ เนื้อสุกร และไก่สด ขณะที่ราคาสินค้าสำคัญที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสดและผลไม้ เป็นต้น
 
 
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58%YoY จากเดือนก่อนที่ 0.66%YoY โดยราคาสินค้าที่ยังปรับสูงขึ้น ได้แก่ อาหารบริโภคในบ้าน เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.41% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.33% 
 
 
Implication:
 
• อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเป็นหลัก ซึ่งยังไม่สะท้อนถึงการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 4.72 บาทต่อหน่วย และมาตรการพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ราคากลุ่มแก๊สโซฮอล์ได้มีการปรับลดลง ตามมติ ครม. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 ถึง 31 ม.ค. 2567 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงในเดือน พ.ย. ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเดือน พ.ย. หดตัวถึง -4.5%YoY และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงมากถึง -0.65pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกที่ 0.58%YoY ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 0.6% (ค่าเฉลี่ยปี 60-62) สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้และยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
 
 
• จับตาราคาอาหารสดอาจทยอยปรับเพิ่มขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -0.76%YoY แต่เป็นการติดลบในอัตราที่ลดลงจากเดือน ต.ค. ที่ -2.45%YoY หรือหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้น 0.25%MoM จากราคากลุ่มข้าว และราคาผักสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัญหาเอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในระยะข้างหน้าราคาอาหารสดมีความเสี่ยงที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้อีก สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 1.2%YoY ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งอาจถูกส่งผ่านไปยังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในหมวดอาหารสด
 
 
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ธ.ค. 2566 เวลา : 14:44:28
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 5:40 am