ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ประกาศความสำเร็จในด้านบริการชำระเงินระหว่างประเทศต่อเนื่อง ภายหลังเปิดตัว HSBC UniTransact ในประเทศไทยเมื่อปีทีผ่านมา ชูไฮไลท์ดิจิทัลโซลูชั่นแรกของประเทศที่มุ่งลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ พร้อมเผยการใช้บริการชำระเงินระหว่างประเทศของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังเปิดตัว HSBC UniTransact เพียง 1 ปี ด้วยมูลค่าการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างประเทศสูงขึ้นถึงร้อยละ 27
ความสำเร็จที่โดดเด่นเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำของธนาคารเอชเอสบีซีในด้านบริการชำระเงินระหว่างประเทศในประเทศไทย
นายปริวรรต กนิษฐะเสน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยยินดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้เปิดตัวลิงก์ QR สำหรับชำระเงินที่เชื่อมโยงระบบ PromptPay และ FPS เข้าด้วยกัน ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและฮ่องกงตอนนี้สามารถชำระเงินได้สะดวกสบายเหมือนกับอยู่ที่ประเทศของตัวเอง ด้วยการสแกนจ่ายผ่าน QR ของ FPS และ PromptPay ของไทย ซึ่งใช้งานได้สะดวกง่ายดายและยังมีอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าดึงดูดด้วย นับเป็นการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินด้วยรหัส QR เป็นประเทศและพื้นที่การปกครองแห่งที่ 7 สำหรับประเทศไทยและเป็นอีกก้าวสำคัญในการชำระเงินระหว่างประเทศ”
นางสุดาพันธ์ ทวีธรรมสถิตย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ความเป็นสากลคือจุดแข็งของเอชเอสบีซี ในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกและได้รับเลือกให้เป็นธนาคารระหว่างประเทศที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดย Asiamoney และ FinanceAsia เรามีข้อได้เปรียบในด้านเครือข่ายที่กว้างขวางทั่วโลก และยังคงมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศบนระเบียงการค้าและการลงทุนหลักของโลกต่อไป โดยการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลและการเชื่อมโยงให้การค้าขายมีความราบรื่นถือเป็นโอกาสการเติบโตที่สำคัญหนึ่งสำหรับภาคธุรกิจ”
เอเชียเป็นหนึ่งในตลาดการชำระเงินที่น่าตื่นเต้นและมีการพัฒนารวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะได้รับแรงปะทะจากเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม แต่ตลาดในเอเชียก็ยังคงสดใส และเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ก็เติบโตในอัตราที่เร็วกว่าที่อื่นๆ ของโลก โดยมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนน่าจะแตะ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 25681 (เติบโตที่ร้อยละ 49 ภายในระยะเวลา 5 ปี) ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะมีมูลค่า 3.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 25682
ปริมาณการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่เพิ่มขึ้นในเอเชียนั้น มาจากหลายปัจจัย ประการแรก โครงการริเริ่มของรัฐบาลที่มุ่งลดการใช้เงินสดและส่งเสริมการชำระเงินแบบดิจิทัลในช่วงที่เกิดโรคระบาด มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง ประการที่สอง ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับประชากรกลุ่มที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และประการที่สาม คือ การที่ระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วเนื่องจากทั้งธุรกิจและผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์
นายสุพันธ์วงศ์ วีรวรวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกำลังเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของเรา รวมถึงรูปแบบในการชำระเงิน รายงานวิจัยจากเอชเอสบีซี โกลบอล คอนเนกชันส์ ปี 2023 เปิดเผยว่า ร้อยละ 35 ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้คาดหวังว่าเทคโนโลยีจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และ ML หรือการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (ร้อยละ 38) และการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 35) จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ เมื่อมองในภาพรวม การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังมีการเติบโตที่โดดเด่นด้วยปริมาณธุรกรรมที่สูงถึง 28,181 ล้านครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 2,272 นับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งมีปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ 1,240 ล้านครั้ง ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ เส้นทางในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและท้าทาย การจัดการการชำระเงินด้วยสกุลเงินต่างประเทศหลายสกุลบนหลายแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดความซับซ้อนในการจัดส่งเอกสารและหลักฐาน อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นสถานะของธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในขณะทำการ”
ในฐานะธนาคารเพื่อการชำระเงินอันดับ 1 ของโลกที่มีจำนวนธุรกรรมมากกว่า 4 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในธนาคารผู้บุกเบิกในการให้บริการการชำระเงินแบบทันทีทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยจำนวนธุรกรรมมากกว่า 46 ล้านรายการ1 ในปี 2565 ทำให้ธนาคารเอชเอสบีซีมั่นใจว่า จะเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้เสมอสำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้บริการชำระเงินระหว่างประเทศอีกหนึ่งในความสำเร็จของเอชเอสบีซีในด้านการชำระเงินระหว่างประเทศคือการเป็นธนาคารหลักเพียงแห่งเดียว (Sole Settlement Bank) ที่ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการการชำระเงินระหว่างประเทศในฮ่องกงสำหรับการชำระเงินด้วย QR ผ่าน "Faster Payment System (FPS) และ PromptPay" เพื่อให้นักเดินทางของทั้งสองประเทศสามารถชำระเงินให้กับร้านค้ารายย่อยข้ามพรมแดนได้อย่างง่ายดายในทันที และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายระหว่างประเทศไทยและฮ่องกงในช่วงเทศกาลวันหยุดด้วย
นางอังศุรัสมิ์ ฤกษ์ถวิลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหาร สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “เราตระหนักถึงความซับซ้อนของการค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวโซลูชั่นแบบไดนามิกของเราในประเทศไทยในปี 2565 เพื่อลดความซับซ้อนในขั้นตอนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมด รวมถึงการชำระเงิน การค้า และบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น”
HSBC UniTransact เป็นโซลูชั่นอัจฉริยะที่เข้ามาช่วยลดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนให้กับลูกค้า กระบวนการทั้งหมดที่ก่อนหน้านี้ลูกค้าเคยต้องดำเนินการด้วยตนเองซึ่งมักใช้เวลานานและอาจจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้จะมีความสะดวกและง่ายดายมากขึ้น โดยข้อดีของ HSBC UniTransact มีดังต่อไปนี้
o มีแดชบอร์ดรายงานภาพรวม: ลูกค้าสามารถดูสรุปข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศได้ทั้งหมด ทั้งการโอนขาเข้าและขาออก
o มีการมองเห็นที่ดีกว่าเดิม: ลูกค้าสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะของธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมดได้แบบเรียลไทม์ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการทำธุรกรรมภายในแพลตฟอร์มเดียว
o มีการแก้ไขปัญหาออนไลน์: ไม่ต้องใช้อีเมลและโทรศัพท์อีกต่อไป เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสามารถทำออนไลน์ผ่านการสื่อสารโต้ตอบกับทีมงานของเอชเอสบีซีโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือชี้แจง
o จองการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX Trade) ได้ง่าย: ลูกค้าสามารถติดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้แบบเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์ม UniTransact และสามารถจองอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับธุรกรรมที่ต้องการได้โดยตรง กระบวนการนี้ยังช่วยป้องกันข้อผิดพลาดของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำธุรกรรมได้ด้วย
o มีระบบจัดการเอกสารที่มีประสิทธิภาพ: ลูกค้าสามารถอัปโหลด จัดเก็บ และเรียกค้นเอกสารสำหรับธุรกรรมได้ตามต้องการ โดยสามารถอัปโหลดเอกสารได้ครั้งละหลายชุดโดยที่ไม่มีการจำกัดขนาดไฟล์ที่อัปโหลด
o มีระบบแจ้งเตือน: ลูกค้าสามารถกำหนดการแจ้งเตือนได้เอง ทั้งแจ้งเตือนการดำเนินการที่จำเป็นต้องทำ หรือการดำเนินการที่เสร็จสิ้นไปแล้ว เพื่อให้ทราบสถานะปัจจุบันของธุรกรรมได้ตลอดเวลา
“หลังจากที่เปิดตัว HSBC UniTransact ในปี 2565 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย พบว่าธนาคารมีมูลค่าการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนถึงร้อยละ 34 นอกจากนี้ จำนวนธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ด้วยเช่นกัน ความสำเร็จที่โดดเด่นเหล่านี้ ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของธนาคารเอชเอสบีซีในด้านบริการชำระเงินระหว่างประเทศในประเทศไทย” นางสุดาพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น