เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น หลังผลการประชุมเฟด"


• เงินบาทพลิกแข็งค่า หลังสัญญาณจากเฟด สะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และอาจเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้า
 
• SET Index ร่วงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีช่วงกลางสัปดาห์ก่อนจะดีดตัวขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ หลังจากที่รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ (CPI ขยับขึ้น 0.1% MoM แต่ตลาดคาด 0.0% MoM) กระตุ้นการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่รีบส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน โดยจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการร่วงลงอย่างหนักของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ Dot plot บ่งชี้ว่า อาจมีการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปี 2567     
 
นอกจากนี้สัญญาณตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปของ ECB และ BOE ก็เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินบาทได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวกลับขึ้นมาของราคาทองคำในตลาดโลกและการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค 

ในวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,363 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 1,623 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 1,663 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 40 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ PBOC  ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนธ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
 
ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 1,354.73 จุดช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนดีดตัวขึ้นหลังผลการประชุมเฟด ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติระหว่างที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ และหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งยังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามคาด ประกอบกับเฟดได้ส่งสัญญาณจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้และอาจปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นในทุกอุตสาหกรรม  

ในวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,391.03 จุด เพิ่มขึ้น 0.73% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,844.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.16% มาปิดที่ระดับ 395.87 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนธ.ค. ของจีน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ธ.ค. 2566 เวลา : 21:05:46
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 3:34 am