ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินสงครามอิสราเอล-ฮามาสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก แต่ต้องระวังความเสี่ยงสงครามขยายวงกว้าง
สงครามครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อโลกผ่านหลายช่องทาง ทั้งในด้านมูลค่าความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศที่ทำสงคราม รวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ภายในปี 2024 โดยในกรณีฐานสงครามจะจำกัดพื้นที่อยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะยังไม่มีนัยสำคัญมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก สงครามครั้งนี้จึงไม่กระทบอุปทานและราคาน้ำมันโลก อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลุกลามทำให้ประเทศผู้นำในภูมิภาค เช่น อิหร่าน เข้าร่วมสงครามโดยตรง อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกลดลง -0.4 percentage point (pp) และอัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น +0.54 pp ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นตามมาจากชนวนเหตุในภูมิภาคนี้
SCB EIC ประเมินผลของสงครามต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่น่าห่วง
SCB EIC ประเมินในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก (2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่สูงนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย (3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์ และ (4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานสูงกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือราว 20% ของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ
จับตาหากสงครามขยายวงกว้างรุนแรงขึ้นจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหลายด้านผ่านราคาน้ำมันโลกสูง
หากสงครามรุนแรงกินเวลานานและกระจายวงกว้างขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ เงินเฟ้อสูงกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น การเติบโตของ GDP ลดลง ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า หากอิหร่านเข้าร่วมในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp แต่หากอิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลง -0.85 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.57 pp เทียบกับกรณีไม่มีสงครามเกิดขึ้น
1. ความเป็นมาของความขัดแย้งและสถานการณ์ปัจจุบัน
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 1948 ที่อิสราเอลเริ่มก่อตั้งประเทศในพื้นที่ของกลุ่มประเทศมุสลิม ความขัดแย้งประเด็นเขตพื้นที่และศาสนาเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศทำสงครามกันเรื่อยมา สำหรับสงครามครั้งนี้มีสาเหตุมาจากกลุ่มฮามาสที่เข้ามามีอำนาจในเขตฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ยิงขีปนาวุธกว่า 3,000 ลูกเข้าไปในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 พร้อมบุกรุกจับประชาชนและผู้อยู่อาศัยในอิสราเอลไว้เป็นตัวประกันจำนวนมาก อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินปิดล้อมเขตฉนวนกาซาสร้างความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ล่าสุดทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวได้ในช่วงที่ผ่านมาแต่สงครามได้กลับมาดำเนินต่ออีกครั้ง โดยทางการอิสราเอลประกาศท่าทีชัดเจนว่าต้องการจะวิสามัญผู้นำทั้งสามของกลุ่มฮามาสและกวาดล้างกลุ่มฮามาสขั้นเด็ดขาด พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าสงครามจะดำเนินต่อไปไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทำให้สงครามอาจยืดเยื้อและยกระดับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ
สงครามครั้งนี้นับเป็นความเสี่ยงใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก และมีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากหลายประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางมีความขัดแย้งกับอิสราเอลอยู่ก่อนแล้ว จึงอาจให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสหรือร่วมรบด้วย เช่น อิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางศาสนาของภูมิภาคกล่าวยกย่องการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส พร้อมแสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มฮามาสและเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมคว่ำบาตรด้านพลังงานและการทูตกับอิสราเอล นอกจากนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลของอิสราเอลพบว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและซีเรีย รวมถึงกลุ่มฮูตีในเยเมนได้เข้าร่วมโจมตีอิสราเอลด้วยแล้ว อีกทั้ง กลุ่มฮูตียังปะทะกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของภูมิภาคเนื่องจากกลุ่มฮูติได้เคลื่อนกำลังเพื่อโจมตีอิสราเอลผ่านพรมแดนของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สหรัฐฯ แม้จะเรียกร้องความสงบแต่ได้แสดงท่าทีและให้การสนับสนุนอิสราเอลด้านงบประมาณและการทูตตั้งแต่ต้น ด้านรัสเซียออกแถลงการณ์กล่าวหาชาติตะวันตกว่าอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งนี้ สงครามนี้ได้ซ้ำเติมความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด กระแสการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ประเด็นพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน ตลอดจนความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ในโลก
รูปที่ 1 : ความเป็นมาของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ SCB CIO, Al Jazeera, Bloomberg และ The Standard
2. ฉากทัศน์สงครามและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สงครามนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ (1) มูลค่าความเสียหายในประเทศที่ทำสงคราม (2) ระดับราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นจากความกังวลของตลาดการเงินโลก การลดลงของอุปทานน้ำมันโลก และต้นทุนการขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในภาวะสงคราม และ (3) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้นจากกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศตามการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ท้ายที่สุดราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นและความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง โดย SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของสงครามนี้ต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ภายในปี 2024 ตามฉากทัศน์ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 (กรณีฐาน) สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นนอกพื้นที่สองประเทศนี้บ้าง ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ยังต้องการให้เกิดความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงไม่สนับสนุนให้เกิดสงครามในวงกว้างขึ้น ในกรณีนี้เศรษฐกิจอิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่จะไม่มีนัยต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย (รูปที่ 2) นอกจากนี้ อิสราเอลยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก โดยสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 5,977 บาร์เรล/วัน (0.06% ของปริมาณการผลิตน้ำมันโลก) จึงเน้นนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ในกรณีฐานราคาน้ำมันโลกอาจเพิ่มขึ้นบ้างในระยะสั้นตามความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะปรับลดลงสู่ระดับปกติ ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด (75%) แต่จะส่งผลกระทบไม่มากต่อเศรษฐกิจโลก
ฉากทัศน์ที่ 2 อิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) ในกรณีนี้ความรุนแรงกระจายไปบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น โดยเฉพาะซีเรียและเลบานอนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสสู้รบอิสราเอลโดยตรง ขณะที่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสทางอ้อมพร้อมขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันหลักราว 20% ของโลก (รูปที่ 3 และ 4) ภาวะสงครามที่ขยายวงกว้างจะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มเป็น 86.8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +4.6% อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเทียบเท่ากับระดับ VIX (Volatility Index) ที่เพิ่มขึ้น 4 จุด ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก (20%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.2 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.17 pp
ฉากทัศน์ที่ 3 อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) ในกรณีนี้อิหร่านเข้าร่วมสงครามสู้รบอิสราเอลโดยตรง ความรุนแรงกระจายไปในภูมิภาค อาจมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตน้ำมันในภูมิภาคได้ โดยอิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ และอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างฝั่งสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล และฝั่งจีนกับรัสเซียที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่าน ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 94.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +13.6% ทั้งยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเทียบเท่ากับระดับ VIX ที่เพิ่มขึ้น 8 จุด ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย (5%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.4 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.54 pp
รูปที่ 2 : อิสราเอลมีความสำคัญปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญไม่มากนัก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะสูงขึ้นหากความขัดแย้งลุกลามไปในภูมิภาค โดยเฉพาะซาอุฯ และอิหร่าน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ International Trade Centre
รูปที่ 3 : แม้ในอดีตยังไม่เคยมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) แต่ความตึงเครียดของสงครามมีผลทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นได้ราว +4.6% หากมีการปิดช่องแคบนี้ขึ้นคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันโลกปี 2024 ปรับขึ้นเฉลี่ยราว +13.6% เทียบกรณีฐาน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ Tradingview
รูปที่ 4 : ฉากทัศน์สงครามอิสราเอล-ฮามาส และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Bloomberg, IMF, World Bank และ Google
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
SCB EIC ประเมินว่าในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก (2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้ง ไทยไม่ได้พึ่งพาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าเฉพาะกลุ่มจากทั้งสองประเทศเป็นพิเศษ (3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์ และ (4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ (รูปที่ 5)
อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือคิดเป็นราว 20% ของแรงงานไทยนอกประเทศทั้งหมด
ทั้งนี้หากสงครามรุนแรงกินระยะเวลายาวนานและกระจายวงกว้างมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ เงินเฟ้อสูงขึ้นกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น รวมถึง GDP ลดลง การประเมินภาพรวมการส่งผ่านเป็นดังนี้ (รูปที่ 6)
รูปที่ 5 : ในกรณีฐาน สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์กระทบโดยตรงต่อการส่งออก การท่องเที่ยว
และการลงทุนในไทยจำกัด เนื่องจากอิสราเอลและไทยมีการค้าขายกันไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และธนาคารแห่งประเทศไทย
รูปที่ 6 : ช่องทางการส่งผ่านผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกต่อเศรษฐกิจไทย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
3.1 ผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการบริโภคเอกชน
หากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) โดยนำเข้าน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ต่อ GDP (ข้อมูลปี 2022) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นและผันผวนสูง กลับไม่ได้ส่งผ่านผลกระทบในตลาดโลกมายังราคาน้ำมันในประเทศได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาครัฐอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นมากเป็นเวลานาน ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ จึงมีความเสี่ยงติดลบสูงหากภาครัฐยังพยายามรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศไว้ อาจเกิดเป็นความเสี่ยงที่ภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระทั้งหมดไว้ได้ นำไปสู่การลดการอุดหนุนทำให้ราคาน้ำมันในประเทศที่ถูกตรึงไว้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัจจัย Shock ต่อเศรษฐกิจไทยจากด้านราคาพลังงาน และจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นรวดเร็วตามมา
ตัวอย่างในปี 2005 รัฐบาลได้ตัดสินใจปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล หลังจากกองทุนน้ำมันฯ ติดลบมากราว -8.3 หมื่นล้านบาท จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในปี 2005 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% สำหรับในปี 2022 ที่กองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงกว่า -1.3 แสนล้านบาท จากปัญหาสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐต้องบริหารจัดการแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลใหม่ โดยต้องขยับเพดานราคาน้ำมันในประเทศขึ้น ภาวะสงครามนอกจากจะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นแล้ว ยังมีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้นอีกด้วย จึงมีโอกาสกดดันให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ซ้ำเติมภาระขาดดุลของกองทุนน้ำมันฯ จากปัจจัยค่าเงินบาทอ่อน และอาจกดดันต้นทุนพลังงานในประเทศ ส่งผลต่อสภาพคล่องและความสามารถของกองทุนน้ำมันฯ ในการอุดหนุนราคา สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังคงเปราะบางอยู่เช่นนี้จะมีนัยต่อ 1) ทิศทางการกำหนดค่าการตลาดน้ำมัน (Marketing margins) ที่สถานีบริการได้รับโดยเฉลี่ย และ 2) ทิศทางการสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านการสร้างส่วนต่างราคาขาย
SCB EIC ประเมินความอ่อนไหว (Sensitivity analysis) ของราคาน้ำมันโลกต่อเงินเฟ้อไทย พบว่าหากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น +10% จะส่งผลกระทบต่อราคาเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้นราว 0.42 pp โดยมีผลทางตรงทำให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน (Energy CPI) ที่มีสัดส่วนราว 12.4% ในตะกร้าเงินเฟ้อผู้บริโภคปรับสูงขึ้น +0.33 pp และจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาสินค้าอื่นในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมาก เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าเดินทาง จะปรับเพิ่มขึ้น +0.09 pp อีกด้วย (รูปที่ 7) นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง กำลังซื้อครัวเรือนลดลง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงตามมา อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าการบริโภคของครัวเรือนเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ดีขึ้นตามราคาน้ำมัน อาทิ ราคายางพารา (พืชทดแทนยางสังเคราะห์) อ้อย และปาล์มน้ำมัน (พืชพลังงาน) ซึ่งครัวเรือนเกษตรของไทยปลูกพืชทั้งสามชนิดนี้เป็นสัดส่วนราว 31% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด
รูปที่ 7 : ราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อไทย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
3.2 ผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้า
ราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าโลก แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไปขึ้นกับสัดส่วนการนำเข้าและการส่งออกน้ำมัน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องน้ำมันของประเทศนั้น ๆ โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) ได้รับประโยชน์โดยตรงจากรายได้ที่มากขึ้นผ่านมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) ต้องเผชิญกับภาระมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้น ในภาพรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีขนาดเศรษฐกิจ (คิดเป็น 15% ของขนาดเศรษฐกิจโลก) น้อยกว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน (คิดเป็น 84% ของขนาดเศรษฐกิจโลก) อยู่มาก SCB EIC จึงประเมินว่า หากเกิดกรณีสงครามขยายวงกว้างขึ้นมา ผลสุทธิของราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้มูลค่าการค้าโลกและขนาดเศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ดุลการค้าจะลดลงจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น SCB EIC พบว่าเมื่อราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นและมีแนวโน้มนำเข้าสินค้ามากขึ้นจากไทย แต่ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้เพียง 16% ของมูลค่า การส่งออกทั้งหมด ในทางตรงข้ามประเทศไทยส่งออกไปประเทศกลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันที่ได้รับผลด้านลบจากราคาน้ำมันในสัดส่วนสูงถึง 84% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลงจากภาวะสงครามจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่ดุลการค้าจะลดลง
นอกจากนี้ หากสงครามเกิดขึ้นรุนแรงยาวนานและกระจายวงกว้างในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดีอาระเบีย และรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย
3.3 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
ธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่บางกลุ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่เพิ่มขึ้น ผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจตะวันออกกลางและเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าก๊าซสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Non-firm SPP) อาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากค่า Ft ปรับขึ้นไม่ทันต้นทุนก๊าซ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงทางอ้อมจากเศรษฐกิจตะวันออกกลางที่อาจชะลอตัว อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหิน การสำรวจและผลิตน้ำมัน ยางพารา น้ำตาล และปาล์มน้ำมันจะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (รูปที่ 8)
โดยสรุปภาพรวมผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปี 2024 จะมีไม่มาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมถึงราคาน้ำมันโลกที่ไม่เปลี่ยนไปมากนัก แต่หากสงครามเริ่มขยายวงกว้างเป็นฉากทัศน์ที่ 2 กรณีอิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp ในกรณีเลวร้าย สงครามลุกลามในภูมิภาคกลายเป็นฉากทัศน์ที่ 3 อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war)
แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงไม่มาก -0.85 pp แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นมากถึง +0.57 pp
(รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี ทั้งสองกรณีหลังยังมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่ต้องจับตาการลุกลามของสถานการณ์สงครามให้ดี และอาจเป็นชนวนเหตุให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นอกภูมิภาคเร่งตัวขึ้นได้ (รูปที่ 9)
รูปที่ 8 : ผลกระทบของสงครามอิสราเอล-ฮามาสต่อเศรษฐกิจไทยรายอุตสาหกรรม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
รูปที่ 9 : ฉากทัศน์สงครามอิสราเอล-ฮามาส และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงพาณิชย์
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/israel-hamas-war-041223
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา (asama.liammukda@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักเศรษฐศาสตร์
ข่าวเด่น