เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EICวิเคราะห์ "มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย...เพียงพอไหมให้เหล็กไทยไปไกลกว่าเดิม"


ไทยมีการดำเนินมาตรการ AD เพื่อปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่มีต้นทุนสูง ให้สามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าที่ยังคงเข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง
 
อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องนำเข้าเหล็กมาแปรรูปต่อ ทำให้เสียเปรียบด้านต้นทุน เป็นช่องทางให้เหล็กต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ทั้งนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตเหล็กสูงสุดโดยรวมของทั้งประเทศ นำมาสู่ความจำเป็นในการใช้มาตรการ AD ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2002 โดยไทยมีการใช้มาตรการ AD กับเหล็กจากจีนมากที่สุด และเหล็กจากจีนถูกกำหนดอัตราอากรสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในสินค้าประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีน โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 การผลิตเหล็กดิบในจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เหล็กในจีนที่อ่อนแอจากวิกฤตภาคอสังหาฯ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการระบายเหล็กจากจีนมายังไทยมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเหล็กของไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งผู้ผลิตขั้นปลาย และผู้ใช้งานเหล็กขั้นสุดท้ายต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD
 
แม้การใช้มาตรการ AD จะช่วยปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้แข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ แต่กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นปลายที่ต้องอาศัยการแปรรูป หรือใช้เหล็กขั้นปลายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กชนิดต่าง ๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น มาแปรรูปต่อ ต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD และมีการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้ายให้ต้องซื้อผลิตภัณฑ์เหล็ก และสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในระดับราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบตลอด Supply chain ทั้งผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำ และเหล็กปลายน้ำ ผู้ค้าเหล็ก ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไปจนถึงผู้บริโภค
 
SCB EIC มองว่ามาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย
 
จากการวิเคราะห์ผลกระทบในกรณีที่ไทยยกเลิกการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กทุกประเภทที่มีสถานะการใช้มาตรการในปัจจุบัน จะส่งผลให้เหล็กนำเข้าเข้ามาตีตลาดจนส่งผลให้ผลผลิตเหล็กของผู้ผลิตเหล็กไทยหายไปราว 3.4 แสนตัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.6% และส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานภายในอุตสาหกรรม โดยการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.19% และอัตราการขยายตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะลดลงราว 1.2% ดังนั้น มาตรการ AD จึงยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย 
 
อย่างไรก็ดี นอกจากการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กผ่านมาตรการ AD แล้ว ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป
 
มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญ โดยจะต้องลดข้อจำกัดด้านต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตเหล็กของไทย อาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้า และอัตราผันแปร รวมถึงการยกเว้นอัตราภาษีในการนำเข้าเหล็กต้นน้ำ/กลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบการผลิตสินค้าเหล็กขั้นปลาย รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานเหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ขณะเดียวกัน การเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรม ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเหล็ก รวมถึงการยกระดับการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง และลดการปล่อยมลภาวะ เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Supply chain การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และ Green supply chain
 
การใช้มาตรการ AD สำหรับสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ มีที่มาอย่างไร ?
 
อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยยังมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปต่อ ซึ่งทำให้เสียเปรียบในด้านต้นทุน และยังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา จากการที่เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด นำมาสู่ความจำเป็นในการใช้มาตรการ AD โดยการผลิตเหล็กของไทยที่มีกำลังการผลิตสูงสุดโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 14.1 ล้านตันต่อปี ซึ่งแม้จะมีการผลิตเหล็กอย่างเต็มกำลังการผลิต และมีการรีไซเคิลเศษเหล็กด้วยการหลอมแล้วนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในประเทศซึ่งอยู่ที่ประมาณ 16-18 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ได้แก่ เหล็กแท่งยาว (Billet) และเหล็กแท่งแบน (Slab) เข้ามาเพื่อแปรรูปผลิตต่อเป็นเหล็กประเภทต่าง ๆ อาทิ เหล็กลวด เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน และผลิตภัณฑ์เหล็กรูปพรรณอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการควบคุมต้นทุน และการแข่งขันด้านราคาสำหรับผู้ผลิตเหล็กไทย เมื่อเทียบกับผู้ผลิตเหล็กในต่างประเทศที่มีการผลิตวัตถุดิบเหล็กต้นน้ำในปริมาณมาก เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศในแถบตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน จึงส่งผลให้อุปทานเหล็กในไทยมาจากการนำเข้าประมาณ 63% ของอุปทานเหล็กโดยรวม โดยเฉพาะเหล็กทรงแบนที่มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 75% ของปริมาณการนำเข้าเหล็กทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 85% ของปริมาณความต้องการใช้งานเหล็กทรงแบนในประเทศ 
 
รูปที่ 1 : ไทยมีการผลิตเหล็กระดับกลางน้ำของห่วงโซ่อุปทาน และต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ จึงมีความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าผู้ผลิตเหล็กในต่างประเทศ ที่ผลิตวัตถุดิบเหล็กต้นน้ำปริมาณมาก
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
 
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นช่องทางให้เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบายสต็อกสินค้าเหล็กคงเหลือในแต่ละประเทศมายังไทย ที่มีความเสียเปรียบในการกำหนดราคาขายเหล็กจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งเคยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ประมาณ 60% ของกำลังการผลิตเหล็กทั้งหมด จนมาอยู่ที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตเหล็กทั้งหมดในปัจจุบัน และมีโอกาสที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กจะลดลงกว่าเดิม หากไม่มีมาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ หรือป้องกันเหล็กจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งอาจนำมาสู่กรณีที่รุนแรงที่สุด ได้แก่ การที่ผู้ผลิตเหล็กในไทยตัดสินใจเลิกผลิตเหล็ก จนส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กหายไปจากประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่ความจำเป็นในการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping mersure : AD) ตั้งแต่ปี 2002 กับสินค้าเหล็กจากต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดในไทย เพื่อปกป้องผู้ผลิตและอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ
 
Box : มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping measure : AD) คืออะไร ?
 
มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เป็นหนึ่งในมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้า เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้านั้น ๆ ของประเทศได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด โดยองค์ประกอบของการทุ่มตลาด คือ
 
1. การทุ่มตลาด (Dumping) โดยพิจารณาจากราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศต้นทาง มีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ส่งออกมายังประเทศผู้นำเข้า ณ ระดับการขายเดียวกัน
 
2. ความเสียหาย (Injury) หรือผลกระทบในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมในประเทศที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น ถูกตัดราคา หรือไม่สามารถขยับราคาให้สูงขึ้นได้ ปริมาณการผลิตสินค้าในประเทศลดลง การจ้างงานในอุตสาหกรรมลดลง อัตรากำไรลดลง อัตราการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น

3. ความเสียหายของอุตสาหกรรมภายในนั้นเป็นผลมาจากการทุ่มตลาด (Causal link between dumping and injury) กล่าวคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในข้อ 2 จะต้องไม่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัญหาการบริหารองค์กรภายในอุตสาหกรรม
 
มาตรการ AD สามารถนำมาใช้ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การกำหนดอัตราอากรตามสภาพ (อัตราต่อหน่วย) (2) การกำหนดอัตราอากรตามราคานำเข้า (คิดเป็นร้อยละของราคา CIF*) และ (3) การกำหนดราคานำเข้าขั้นต่ำ ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย จะใช้รูปแบบการกำหนดอัตราอากรคิดเป็นร้อยละของราคา CIF กับสินค้าที่มีการใช้มาตรการ
 
หมายเหตุ : * ราคา CIF คือ ราคาสินค้านำเข้าที่คำนวณจากราคาสินค้า (Cost) ซึ่งอ้างอิงจาก Commercial invoice + ค่าประกันภัย (Insurance) + ค่าขนส่ง (Frieght) ซึ่งจะเป็นกลไกที่ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าลดลง เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้นเมื่อถูกคิดรวมกับอัตราอากร AD ที่กำหนด
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวลดลง
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ISIT และกระทรวงพาณิชย์
 
ในทางกลับกัน หากมาตรการ AD ที่ใช้กับสินค้าเหล็กยุติลง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการนำเข้าสินค้าเหล็กนั้น ๆ มากขึ้นตามมา เนื่องจากราคาเหล็กนำเข้าจะลดต่ำลงจากอัตราอากรส่วนเพิ่มที่หายไป ดังที่เกิดขึ้นกับกรณีของการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบหรือชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากเวียดนาม ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงที่มาตรการ AD ยุติในเดือนมีนาคม 2022 แม้ได้มีการเปิดไต่สวนเพื่อทบทวนการใช้มาตรการอีกครั้ง แต่ก็มีผลการพิจารณาให้ยุติการใช้มาตรการในที่สุด เนื่องจากไม่ปรากฏความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งในด้านปริมาณการซื้อขาย ส่วนแบ่งการตลาด และอัตรากำไรของผู้ประกอบการ รวมถึงไม่มีพฤติกรรมการตัดราคาเพื่อหยุดยั้งการขึ้นราคาของสินค้าในประเทศจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมาจากเวียดนาม ซึ่งได้ประกาศผลการพิจารณาออกมาอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2023 และส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเหล็กดังกล่าวจากเวียดนามในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 12% ของการนำเข้าสินค้าเหล็กดังกล่าวโดยรวมของไทย จากในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 2% 
 
รูปที่ 3 : การยุติการใช้มาตรการ AD กับเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบหรือชุบอะลูมิเนียมและสังกะสี
จากเวียดนาม ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าเหล็กดังกล่าวจากเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ISIT และกระทรวงพาณิชย์
 
ไทยมีการใช้มาตรการ AD กับเหล็กจากจีนมากที่สุด และเหล็กจากจีนถูกกำหนดอัตราอากร AD สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งในจำนวนสินค้าเหล็กที่ถูกไทยใช้มาตรการ AD ทั้งหมด 12 รายการ เป็นสินค้าเหล็กจากจีนแล้วกว่า 11 รายการ โดยสินค้าเหล็กจากจีนถูกกำหนดอัตราอากรขาเข้าคิดเป็น 0.00%-145.31% ของราคา CIF ซึ่งเป็นอัตราอากรจากการใช้มาตรการ AD สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในสินค้าประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กจากจีนมาโดยตลอด แต่ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีน โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาเหล็กจีนที่ถูกกว่าราคาเหล็กไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot-rolled Coil : HRC) พบว่า ราคาขายในไทยยังสูงกว่าราคาขายในจีนประมาณ 15-20% (รูปที่ 4) ในขณะที่ปริมาณการผลิตเหล็กทรงแบนของไทยมีอยู่เพียง 25% ของความต้องการใช้งานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง
 
รูปที่ 4 : ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศที่ยังสูงกว่าราคาในจีน ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ISIT และ Bloomberg
 
นอกจากนี้ สถานการณ์อุปทานส่วนเกินของเหล็กในจีนในปี 2023 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตเหล็กดิบของจีนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีผลผลิตออกมาที่ 716 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับผลผลิตเหล็กดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์เหล็กในจีน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง ยังอ่อนแอจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ลดลง แม้รัฐบาลจีนจะมีนโยบายขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยแล้วก็ตาม อีกทั้ง รัฐบาลจีนยังมีการขอความร่วมมือจากผู้ผลิตเหล็กให้จำกัดปริมาณการผลิต เพื่อพยุงราคาเหล็กมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 แต่ผู้ผลิตเหล็กจีนยังคงผลิตเหล็กดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการระบายอุปทานเหล็กจากจีนที่กำลังล้นตลาดมายังไทยมากขึ้น จนกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กไทยที่เสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาอยู่แล้ว ให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

รูปที่ 5 : การผลิตเหล็กดิบในจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เหล็กในประเทศยังอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการระบายเหล็กจากจีนมายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ISIT และกระทรวงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยใช้มาตรการ AD กับเหล็กแผ่นรีดร้อนนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในต่างประเทศเจือสารประเภทอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงพิกัดศุลกากรที่มีการใช้มาตรการ AD ดังกรณีที่ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในไทยได้ร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-circumvention : AC) กับเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากจีน ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะปริมาณการนำเข้าในปี 2022 ที่แตะระดับ 461 ล้านตัน (+145%YOY) และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 ที่ 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากนี้ มาจากการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ที่รัฐบาลไทยประกาศผลการพิจารณาให้
คงการใช้มาตรการ AD ต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2028 ในอัตราอากรคิดเป็น 30.91% ของราคา CIF โดยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD ด้วยการเจือสารประเภทอื่น อย่างอัลลอย ในเหล็กแผ่นรีดร้อน และมีการส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ปริมาณการผลิต รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
รูปที่ 6 : การคงมาตรการ AD กับเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ทำให้มีการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ ด้วยการเจือสารอัลลอย และมีการส่งออกมายังไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ISIT และกระทรวงพาณิชย์
 
การใช้มาตรการ AD ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างไร ?
 
แม้การใช้มาตรการ AD จะช่วยปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้สามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ แต่การใช้งานเหล็กของไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยผู้ผลิตที่ต้องแปรรูปเหล็กขั้นปลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD กับเหล็กนำเข้าที่ส่วนมากเป็นเหล็กขั้นปลายน้ำที่ต้องนำไปแปรรูปต่อ ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กที่ต้องอาศัยการแปรรูปเหล็กขั้นปลาย หรือใช้เหล็กขั้นปลายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กชนิดต่าง ๆ เช่น เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น มาแปรรูปต่อ หรือขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น ลวดเหล็ก ตะปู นอต สปริง ท่อเหล็ก หลังคาเมทัลชีท อะไหล่ และชิ้นส่วนเหล็กในสินค้าประเภทต่าง ๆ ต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD สำหรับเหล็กนำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต รวมถึงราคาเหล็กและสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบเหล่านี้ที่จำหน่ายในประเทศ สูงกว่าโครงสร้างราคาที่แท้จริงตามกลไกตลาด และเกิดการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวผ่านราคาขายไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย อาทิ ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ภาคครัวเรือนที่มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ รวมทั้งซ่อมแซมและต่อเติมที่อยู่อาศัย ให้ต้องซื้อผลิตภัณฑ์เหล็กและสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในระดับราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
 
จึงกล่าวได้ว่า แม้จะมีกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรการ AD เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ อาทิ ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมถึงผู้ผลิตท่อเหล็กบางประเภทที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ แต่ก็มีกลุ่มที่ต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก AD ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าเหล็ก และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโดยใช้เหล็กขั้นปลายจากการนำเข้ามาเป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิต ไปจนถึงผู้ที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย ดังนั้น การใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบรอบด้านตลอดทั้ง Supply chain ทั้งในส่วนของผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำ และเหล็กปลายน้ำ ผู้ค้าเหล็ก ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไปจนถึงผู้บริโภค
 
การใช้มาตรการ AD ในอุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีความจำเป็นหรือไม่ ?
SCB EIC มองว่ามาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย แต่ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป แม้ว่าในปัจจุบันนโยบายการค้าเสรีจะเป็นกลไกในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้า แต่หากเกิดสถานการณ์ที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม จนสร้างผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ก็ต้องมีการปกป้องให้อุตสาหกรรมในประเทศยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้มีการสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี ก็ยังมีการใช้มาตรการ AD และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้าเหล็ก ทั้งหมดกว่า 23 รายการ ที่มาจากต่างประเทศรวม 36 ประเทศ  
 
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กประมาณ 110,000 ราย ในโรงงานผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วประเทศราว 4,000 แห่ง ซึ่งหากเกิดกรณีที่เหล็กจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด จนกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ผลิตเหล็กในไทย ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งมูลค่าการค้าการลงทุน รายได้ของอุตสาหกรรม ไปจนถึงการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องใน Supply chain ที่ต้องใช้เหล็กตามมา ทั้งภาคการก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออกที่สำคัญของไทย
 
ทั้งนี้ SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการ AD ในระดับต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการจำลองสถานการณ์ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ พบว่า หากเหล็กจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาทุ่มตลาดในไทย จะกินส่วนแบ่งตลาดของเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น และในกรณีที่กำหนดให้ไทยยกเลิกการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กทุกประเภทที่มีสถานะใช้มาตรการอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้ราคาเหล็กนำเข้า ต่ำกว่าราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศอยู่มาก ในระดับที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ และส่งผลให้เหล็กนำเข้าถูกนำมาใช้ ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงประมาณ 0.19% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมเหล็กลดลงประมาณ 1.2% โดยในกรณีนี้จะส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศลดลงประมาณ 3.4 แสนตัน หรือลดลง 4.7% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.6% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมลดลงราว 4.1% (ตารางที่ 1)
 
ตารางที่ 1 : ผลกระทบของการใช้มาตรการ AD ในระดับต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC ด้วยโปรแกรม Global Trade Analysis Project (GTAP)
 
ขณะที่การลดอัตราอากร AD ลงสำหรับสินค้าเหล็กที่ถูกใช้มาตรการ ตั้งแต่การลดอัตราอากรลงไปค่อนข้างมากที่ 50% จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ไปจนถึงการลดอัตราอากรไม่มากนักที่ 10% จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ก็จะยังคงส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศหดตัว เนื่องจากการลดอัตราอากร AD กับสินค้าเหล็ก จะทำให้เหล็กนำเข้ายังมีความได้เปรียบทางด้านราคาอยู่มาก จึงมีความต้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาใช้งาน ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ โดยมีผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมถึงยังไม่สามารถส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการ AD รวมถึงการกำหนดอัตราอากรในปัจจุบัน ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย
 
 
ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กรวม 12 รายการ ในอัตราอากร 0%-145.31% 
ของราคา CIF ประกอบด้วยเหล็กทรงแบน ทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อที่ทำด้วยเหล็กกล้า อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กที่กำลังจะสิ้นสุดในระยะ 1-2 ปีนี้ (ตารางที่ 2) ว่าจะมีการพิจารณาให้ยุติ หรือใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ยังคงต้องอาศัยการใช้มาตรการ AD เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในปัจจุบันมีการผลิตเพียง 20% จากความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมดของไทย โดยยังมีความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นไปตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้น การใช้มาตรการ AD จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย และเพิ่มกำลังการผลิตในภาพรวมได้ โดยหากมีเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการ
ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ก็จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยมีโอกาสลดลงในระยะข้างหน้า และต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ทั้งนี้อาจพิจารณาใช้มาตรการอัตรา AD เฉพาะผู้ผลิตที่มีพฤติการณ์ทุ่มตลาดในปริมาณมากเป็นอันดับต้น ๆ ในระยะเวลาที่ทำให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายในราคาที่สามารถแข่งขัน จนสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับที่ก่อให้เกิด Economies of scale ซึ่งการใช้มาตรการ AD จะส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มโอกาสสำหรับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กของไทยตามมา รวมถึงยังต้องให้ความสำคัญกับการติดตามการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD ด้วยการเจือสารประเภทอื่น ๆ ในสินค้าประเภทใกล้เคียงกันอีกด้วย
 
ตารางที่ 2 : สินค้าเหล็กที่จะสิ้นสุดการใช้มาตรการ AD ในช่วงที่เหลือของปี 2023 ไปถึงปี 2024
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์

เราจะยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยได้อย่างไร ?
 
SCB EIC มองว่า มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งการลดข้อจำกัดด้านต้นทุน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานเหล็กที่ผลิตในประเทศ จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับให้อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยสามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางเหล็กจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาด โดยในด้านอุปทานการผลิตเหล็ก ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในระยะสั้นอาจเริ่มจากการลดข้อจำกัดด้านต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา อาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้า และอัตราผันแปร (Ft) ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตเหล็ก รวมถึงการยกเว้นอัตราภาษีในการนำเข้าเหล็กต้นน้ำ/กลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบการผลิตสินค้าเหล็กขั้นปลาย ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนที่สำคัญในการผลิตเหล็กของผู้ผลิตเหล็กในไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตเหล็กของไทย รวมทั้งอาจพิจารณาชะลอการอนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเหล็ก ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ให้สูงขึ้น ทั้งนี้การดำเนินมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กของไทยควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง
 
ส่วนในด้านอุปสงค์การใช้งานเหล็ก จะต้องสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานเหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างของภาครัฐผ่านมาตรการ Made in Thailand ซึ่งกำหนดให้ผู้รับงานต้องใช้เหล็กในประเทศไม่น้อยกว่า 90% ของเหล็กที่ใช้ทั้งหมดตามสัญญา อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจต่อยอดด้วยการขยายขอบเขตของมาตรการไปยังโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือโครงการที่ภาครัฐให้สัมปทานภาคเอกชนในการดำเนินงาน รวมถึงการลงรายละเอียดแหล่งที่มาของวัตถุดิบการผลิตต้นน้ำที่ได้มาจากการผลิตในประเทศ เพื่อให้ผลจากการดำเนินนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีผลในวงกว้างมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องสร้างอุปสงค์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนควบคู่กันไป โดยการออกมาตรการจูงใจภาคเอกชน อาทิ การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีตามปริมาณการใช้งานเหล็กที่ผลิตในประเทศ รวมถึงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานเหล็กจำนวนมากให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งภาคการก่อสร้าง และภาคการผลิตสินค้าที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ รวมถึงสื่อสารมาตรฐานสินค้าเหล็กเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค จะยิ่งหนุนให้มีความต้องการใช้งานเหล็ก หรือชิ้นส่วนเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น
 
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเหล็กต้องมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป โดยผู้ผลิตเหล็กในไทยที่มีความจำเป็นในการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการควบคุมต้นทุน ยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคำสั่งซื้อเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนำเข้า อย่างสอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการใช้งาน ราคาเหล็ก อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอาจรวมกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในการสั่งซื้อในปริมาณมากที่ก่อให้เกิด Economies of Scale นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเหล็ก เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรม รวมถึงผลิตเหล็กที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ทั้งเหล็กที่มีคุณภาพสูง และลดการปล่อยมลภาวะ ทั้งนี้จากความท้าทายด้านกำลังการผลิตเหล็กของไทย ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยอาจต้องอาศัยแนวทางการควบรวม รวมกลุ่มการผลิต รวมถึงพิจารณาใช้แผนการแลกเปลี่ยนกำลังการผลิต (Capacity swap plan) ระหว่างผู้ผลิตเหล็กรายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทย 
 
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Supply chain การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่ม Hi-tech อาทิ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ การขนส่งระบบราง และพลังงาน รวมถึงการยกระดับการผลิตเหล็กที่ลดการปล่อยมลภาวะ เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Green supply chain ตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการสร้างเครือข่ายในการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน Supply chain รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง จะเป็นโอกาสในการยกระดับศักยภาพในการผลิตเหล็กของไทยให้มีเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในยุโรปที่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตเหล็ก และผู้ผลิตสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปราศจากการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล (Fossil-free steel) ในกระบวนการผลิต เพื่อนำไปผลิตเป็นส่วนประกอบของสินค้าประเภทต่าง ๆ ของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทั้งยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนการใช้เหล็กประเภทดังกล่าวในภาคการก่อสร้าง ที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของแต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเหล็กไทยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกเหล็กไทยอีกด้วย

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/steel-AD-061223 

 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ นางสาววรรณโกมล สุภาชาติ (wannakomol.supachart@scb.co.th)
นักวิเคราะห์

INDUSTRY ANALYSIS
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส
เชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์
วรรณโกมล สุภาชาติ นักวิเคราะห์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ธ.ค. 2566 เวลา : 18:05:49
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 3:18 am