เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : "Blue Ocean" กลยุทธ์ธุรกิจน่านน้ำสีฟ้า เจาะตลาดใหม่ไร้คู่แข่ง


การแข่งขันกันทางธุรกิจที่มีความดุเดือดสูงนั้น เรามักจะพบในตลาดใหญ่ ที่มีผู้ผลิตสินค้า/บริการชนิดเดียวกันต่างใช้ทุกกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อจูงใจลูกค้าซื้อสินค้าของตน ทั้งการวางภาพลักษณ์ของแบรนด์ การดึงดาราไอดอลเพื่อจูงใจกลุ่มแฟนคลับ หรือการใช้การลดราคาก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่า การมีการแข่งขันในตลาดสูง เป็นผลดีกับฝั่งของผู้บริโภค เพราะพวกเขามีอำนาจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ไม่เหมือนกับธุรกิจผูกขาด ที่ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการโดยไม่มีทางเลือกอื่น แต่ในภาคของคนทำธุรกิจ การกระโจนเข้าไปลงเล่นในตลาดที่มีผู้เล่นครองสนามกันก่อนอยู่แล้ว ในฐานะผู้มาทีหลัง ก็ต้องเหนื่อยกับการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันถึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้
 
ซึ่งก็ไม่พ้นการเอาชนะคู่แข่งด้วยยอดขาย ผ่านการแข่งขันทางราคา การจัดโปรโมชั่น หรือก็คือคอนเซปต์ของ Red Ocean ลักษณะการทำธุรกิจในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ที่มีความเสี่ยงในการเกิดสงครามราคา และทำให้คนทำธุรกิจรายเล็กๆในตลาดอาจล้มหายตายจากไปได้ ตรงตามคำกล่าวว่า “คนที่แข็งแกร่งเท่านั้น ถึงจะเป็นผู้อยู่รอด” จะดีกว่าไหม หากเราเปลี่ยนเส้นทางการทำธุรกิจของเรา จากการเดินเข้าสู่สมรภูมิรบอันแดงฉาน ไปเป็นการมองหาตลาดใหม่ที่สงบร่มเย็น มีคู่แข่งขันน้อย ด้วยการสร้างความแตกต่างและความมีเอกลักษณ์ที่สามารถเข้าไปครองใจกลุ่มลูกค้าอย่างอยู่หมัดได้
 
การทำธุรกิจในลักษณะนี้ ก็คือ Blue Ocean หรือ กลยุทธ์น่านน้ำสีฟ้า เป็นกรอบกลยุทธ์การทำธุรกิจ ด้วยการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการใหม่ๆ (ไม่ก็สร้างมูลค่าเดิม รีแบรนด์กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว) เพื่อเจาะตลาดใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งขัน หรือมีคู่แข่งขันที่น้อยอยู่ จึงสามารถหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ด้านของราคาเหมือนใน Red Ocean ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่า  เพราะการที่เราวาง Business Model ด้วยการตั้งตัวเองเป็น “ผู้แรก” “เจ้าแรก” หรือการสร้างสรรค์ บุกเบิกนวัตกรรมต่างๆขึ้นมา ซึ่งแล้วแต่จะจับจุดความแตกต่างแล้วนำเสนอให้กับตลาดได้ ล้วนเป็น Value ที่มีค่าและจูงใจให้ผู้บริโภคที่ยึดถือคุณค่าคล้ายๆกันกับธุรกิจ กลายมาเป็นลูกค้าเราในที่สุด โดยแนวทางการธุรกิจแบบ Blue Ocean มีลักษณะดังนี้
 
1. หา Value Innovation ให้เจอ เหมือนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าการสามารถครองใจตลาดใหม่ได้ จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างกับสินค้าของตัวเอง ดังนั้นการสำรวจตลาด จับความต้องการและคุณค่าของผู้บริโภค แล้วตีโจทย์นำเสนอคุณค่าดังกล่าวด้วยนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จะเป็นแกนหลักของการทำธุรกิจที่สามารถประสบความสำเร็จได้และเป็นอิสระจากการแข่งขันด้านราคา

2. พิจารณาจากแนวคิดของ Six Paths Framwork เป็น  6 แนวทางการพิจารณาที่ปูเส้นทางให้ธุรกิจเราเจอเส้นทางการเข้าสู่ Blue Ocean ได้

แนวทางที่ 1 พิจารณาในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่เรากำลังจะเข้าไปว่า แต่ละเจ้านำเสนอสินค้า การบริการอะไร สอดรับกับกลุ่มลูกค้าในแง่ไหน แล้วหาช่องว่าง หรือจุดบกพร่องที่เราสามารถเพิ่ม Quality ตรงจุดนั้นเพิ่มเติมได้

แนวทางที่ 2 เรียนรู้ Solution และแนวคิดจากอุตสาหกรรมอื่น ที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของเราได้

แนวทางที่ 3 ลองวิเคราะห์ประสบการณ์ของผู้ซื้อในอุตสาหกรรม ตั้งแต่การพิจารณาไปจนถึงการบริโภค

แนวทางที่ 4 พิจารณาปัจจัยที่นอกเหนือไปจากฟังก์ชั่นพื้นฐานของสินค้า ที่มีผลต่อการใช้งานหรืออารมณ์ของลูกค้า

แนวทางที่ 5 สำรวจสินค้าหรือบริการเสริมที่สามารถปรับปรุงประสบการณ์โดยรวมของลูกค้าได้

แนวทางที่ 6 พิจารณาว่าแนวโน้มและปัจจัยทางอุตสาหกรรมจะพัฒนาไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป
 
โดยจากแนวทางดังกล่าว “AC News” สามารถยกตัวอย่าง เช่น กรณีในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่เมนูชาไทย กำลังเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งมีผู้แข่งขันในตลาดที่สูงมาก ไม่ว่าจะมองไปมุมไหน ตั้งแต่ร้านรถเข็นข้างทาง ร้านน้ำใต้ออฟฟิศ หรือในห้างสรรพสินค้า ก็ทำการแข่งขันด้วยเมนูชาไทยกันทั้งนั้น และชาไทยในอุตสาหกรรมนี้ก็มีทิศทางที่เติบโตและอยู่ได้ยืนยาว จากคุณสมบัติพื้นฐาน ที่เป็นเครื่องดื่มมีคาเฟอีนและรสหวาน ซึ่งสามารถครองใจคนได้แทบทุกวัย และจากประสบการณ์ของลูกค้าในตลาดนี้ ก็มี Pain Point เช่น ลูกค้าชอบกินชาไทยระดับความหวานที่แตกต่างกันไป ซึ่งเกณฑ์หวานน้อยแต่ละเจ้าไม่เหมือนกัน อีกทั้งในกลุ่มรักสุขภาพ ก็ไม่สามารถซื้อได้บ่อยนัก เพราะทางเลือกสุขภาพในเมนูชาไทยนั้นมีน้อยในตลาด นอกเหนือจากนี้ในด้านของบรรจุภัณฑ์ในตลาด ก็มีการใช้พลาสติกที่มากเกินจำเป็น ทั้งแก้ว ฝา และถุงพลาสติกใส่แก้วอีกที ซึ่งขัดกับเทรนด์การรักษ์โลกในปัจจุบัน และเสี่ยงในการสร้างภาพลักษณ์ทางลบให้กับแบรนด์ได้
 
ฉะนั้น หากธุรกิจที่จะเข้าไปในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างชาไทย แต่จะสร้างความแตกต่าง เพื่อเจาะตลาดทางเลือกใหม่ซึ่งเป็น Blue Ocean ก็อาจสร้างแบรนด์ตัวเองเป็นร้านขายชาไทย แบบ Specialty ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องใบชา และลูกค้าสามารถ Customize ส่วนผสมลงไปในเครื่องดื่มของตัวเองได้ เช่น สามารถเลือกใบชาจากที่มาต่างๆของร้านเพื่อนำมาทำเป็นชาไทย เลือกระดับความหวาน หรือสารให้ความหวาน เลือกผลิตภัณฑ์นมหรือนมจากพืชสำหรับคนเป็นมังสวิรัติหรือแพ้นมวัว สามารถ Add-on เวย์โปรตีนของกลุ่มคนออกกำลังกายได้ อันเป็นการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับบน ที่มีกำลังซื้อสูงและอยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง อีกทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ผ่านการดื่มชาจากแบรนด์ของเรา (เหมือนแบรนด์
สตาร์บัคส์ เป็นต้น) นอกจากนี้ก็อาจมีการดีไซน์บรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลก และจัดวางที่ทิ้งสำหรับแก้วเครื่องดื่มของแบรนด์โดยสามารถสแกนสะสม Point ที่สามารถนำมาแลกเป็นเมนูเครื่องดื่มได้ เป็นต้น
 
จากเคสดังกล่าว ที่ใช้แนวทางของกลยุทธ์  Blue Ocean เข้ามาปรับรูปแบบธุรกิจ จะสามารถทำให้เราค้นพบพื้นที่ โอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกมาก อีกทั้งยังท้าทายบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมเดิม ที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับธุรกิจ อันสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนได้

LastUpdate 25/12/2566 14:22:29 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 3:31 am