เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.- ปปง. ยันไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับฟอกเงิน - ก่อการร้าย เร่งจัดทำมาตรฐานระบบสถาบันการเงิน คาดใช้ ม.ค.68


ธปท. ร่วมกับ ปปง. ยกระดับนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง-การดูแลความเสี่ยงการคว่ำบาตร ยันไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับฟอกเงิน-ก่อการร้าย พร้อมเร่งจัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน คาดใช้เดือน ม.ค.68

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ธปท.และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงที่ภาคธนาคารจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดย ขอเน้นย้ำว่า ภาคการเงินไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินที่สนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงการทำสงคราม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการและมีแผนงานที่ต้องทำต่อเนื่อง

โดยสิ่งที่จะดำเนินการคือ 1.ได้เร่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินในไทยให้เท่าทันกับสถานการณ์และมาตรฐานสากลที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง โดยเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบ UBO เพื่อให้สามารถติดตามและป้องกันการใช้โครงสร้างธุรกิจที่ซับซ้อนในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยการตรวจสอบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเข้มข้นกว่าลูกค้าทั่วไปอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับเกณฑ์ของ FATF เช่น การกำหนดนิยาม Ultimate Beneficial Owner : UBO ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถือหุ้นต่ำกว่า 25% เป็นต้น

รวมถึงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในระดับเข้มข้น โดยต้องมีหลักฐานว่ามีการหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมที่ชัดเจน เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับลูกค้าและมีกลไกจับสัญญาณเตือนภัยจากการทำธุรกรรมที่ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดเกณฑ์การเรียกเอกสารหลักฐานประกอบการทำธุรกรรมโอนเงินหรือรับโอนเงินเพิ่มเติมในกรณีลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของลูกค้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินถูกใช้เป็นช่องทางสนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.สำนักงานปปง. และธปท.ได้ออกนโยบายร่วม เรื่อง การดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร เพื่อเน้นย้ำและผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญและยกระดับการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร โดยต้องมีวิธีการและระบบประเมิน ติดตาม ตรวจจับความเสี่ยง และแจ้งเตือน หากพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินลูกค้าที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร รวมทั้งกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และพิจารณาดำเนินการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเหมาะสม

3.กำหนดให้สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารในกลุ่มสมาชิกจัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน ในประเด็นที่สำนักงานปปง.และธปท. เล็งเห็นว่าต้องยกระดับการปฏิบัติงานข้างต้น รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาระบบและเครื่องมือการตรวจสอบ DUI และรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนไปใช้เพื่อผลิตอาวุธที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำออกไปใช้ภายในเดือน ม.ค. 68 เป็นต้นไป ซึ่งการกำหนดวิธีปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการเลือกทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานแตกต่างกันได้

ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง.และธปท.จะติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ยกระดับดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งหวังสถาบนการเงินจะระมัดระวังในการทำธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน และหากพบว่า สถาบันการเงินกระทำผิดหรือละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด สำนักงาน ปปง. และธปท. จะดำเนินการอย่างเข้มงวดตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ธ.ค. 2567 เวลา : 13:31:09
21-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 21, 2025, 1:14 am