ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70 - 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75 - 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 – 12 ม.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิทางศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณทะเลแดงและเหตุการณ์ก่อการร้ายในเลบานอนและอิหร่านซึ่งคาดว่าจะเชื่อมโยงกับอิสราเอล นอกจากนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียจากเหตุการณ์การประท้วงอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในเขตเศรษฐกิจหลักของโลก เนื่องจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ, ยุโรป และจีน ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ขณะที่ตลาดเริ่มกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยถึงระดับ 0.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นอกจากนี้อุปทานน้ำมันดิบของคาซัคสถานปรับสูงขึ้นในเดือน ธ.ค. 66 ภายหลังการส่งออกน้ำมันดิบไม่ได้รับผลกระทบจากพายุในทะเลดำ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
ความขัดแย้งทางภูมิทางศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากวันที่ 31 ธ.ค. 66 อิหร่านส่งเรือพิฆาต Alborz เข้าสู่ทะเลแดงผ่านช่องแคบบาบ มันอัลดาบ ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลแดงกับอ่าวเอเดนในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อตอบโต้กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งยิงโจมตีกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนที่อิหร่านให้การสนับสนุน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอิหร่านเชื่อว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดงานไว้อาลัยครบรอบ 4 ปี ของนายพลคาเซม โซเลมานี ที่ถูกสหรัฐฯ ลอบสังหารเมื่อปี 2563 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดอุปทานน้ำมันดิบยังคงได้รับผลกระทบในวงจำกัดหากสหรัฐฯ และอิหร่านไม่ได้มีการเผชิญหน้ากันโดยตรง
เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ภายหลังผู้ประท้วงได้ปิดล้อมแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ Sharara ซึ่งมีกำลังผลิตที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน โดยล่าสุดตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ธ.ค. 66 ในเขตเศรษฐกิจหลักของโลกอันได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน อยู่ที่ระดับ 47.9, 44.4 และ 49.0 ตามลำดับ ตัวเลขซึ่งต่ำกว่า 50 แสดงถึงกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซาลง และคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้น้ำมันของโลก
ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้วและมีโอกาสที่ FED จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังกังวลว่า FED อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง หรือ 0.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ตามที่ได้แจ้งไว้ในแผนภาพ Dot Plot ของการประชุมซึ่งจัดขึ้นใน วันที่ 12 – 13 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา
ปริมาณการผลิตน้ำมันของคาซัคสถานในเดือน ธ.ค. 66 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากที่ก่อนหน้านี้การส่งออกน้ำมันของคาซัคสถานได้รับผลกระทบจากพายุส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันไปยังทะเลดำได้ นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบที่ระดับดังกล่าวสูงกว่าโควต้าที่กำหนดโดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ราว 0.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 67 ว่าทางกลุ่มจะมีนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันโลกหรือไม่ โดยผลการประชุมครั้งล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย รัสเซียและชาติพันธมิตรอีก 6ประเทศ อาสาลดการผลิตน้ำมันที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงไตรมาสที่ 1/2567
เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 66, ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปเดือน พ.ย. 66 ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีกและและอัตราการว่างงาน และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเดือน ธ.ค. 66 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการนำเข้าและส่งออก
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 - 5 ม.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดหนักจากข่าวการเสียชีวิตของรองผู้นำอาวุโสกลุ่มฮามาสที่ถูกโจมตีโดยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ประกอบกับเกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งในอิหร่าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 100 ราย ระหว่างพิธีรำลึกถึงอดีตผู้บัญชาการของอิหร่าน ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2020 ท่ามกลางความตึงเครียดและความกังวลของสงครามว่าอาจจะขยายเป็นวงกว้าง จากเหตุการณ์ในฉนวนกาซาและในเลบานอนก่อนหน้านี้ ขณะที่ลิเบีย (หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปก) สั่งปิดแหล่งน้ำมันดิบ Sharara ที่มีกำลังการผลิตราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดการประท้วง นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ธ.ค. 66 ปรับลดลง 5.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 431.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 3.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดัน ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (JOLTS) เปิดเผยตัวเลขการรับสมัครงานและอัตราหมุนเวียนแรงงาน พบว่า ตัวเลขปรับลดลง 62,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.79 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย. 66 โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับราว 8.85 ล้านตำแหน่ง
ข่าวเด่น