ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพที่เป็นกระแสหลักของผู้บริโภคทั่วโลก และยังได้รับแรงหนุนจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่า ในปี 2570 ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกจะมีมูลค่าขึ้นไปแตะระดับ 1.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.44 ล้านล้านบาท
เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.2%
ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.68 แสนล้านบาท ในปี 2570 เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.6 เท่า
ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยตรง ได้แก่ 1) ธุรกิจผลิต ส่งออก นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2) ธุรกิจผลิต นำเข้า และส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และยังส่งผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ 1) ธุรกิจสื่อและ KOLs/KOCs 2) ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3) ธุรกิจขนส่ง และ 4) แพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน E-Commerce
อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ นับเป็นสุดยอดปรารถนาสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากการมีสุขภาพดีเป็นรากฐานสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ในปัจจุบันผู้คนตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ซึ่งการเจ็บป่วยนอกจากจะทำให้วิถีในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว การรักษาพยาบาลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งผู้บริโภคเชื่อว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยป้องกันโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย และมีส่วนช่วยเสริมสร้างรูปลักษณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้ร่างกายสมส่วน หรือแม้กระทั่งมีผิวพรรณดีสอดคล้องกับผลสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนกว่า 70% มีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทานเป็นประจำ
ขณะที่ผลสำรวจ 2023 CRN Consumer Survey on Dietary Supplements ของ The Council for Responsible Nutrition (CRN) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกว่า 74% รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และกว่า 55% รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นประจำ
ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการจำนวนมากมาตลอด โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่พฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพกลายเป็นกระแสหลักของผู้บริโภคในปัจจุบันจึงนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า “ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีโอกาสเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน? และผลิตภัณฑ์กลุ่มไหน? ที่จะมาแรงในอนาคต และผู้ประกอบการต้องทำอย่างไร? เพื่อคว้าโอกาสจากตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร”
โควิดจบ...แต่ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังไปต่อ
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพที่เป็นกระแสหลักของผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความมุ่งหวังให้ตนเองมีสุขภาพและรูปลักษณ์ที่ดี และยังได้รับแรงหนุนจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุพร้อมลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีด้วยการใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีในการซื้อวิตามินของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดขึ้นไปแตะระดับ 131 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าปี 2560 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีฯ อยู่ที่ 79 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 66%
ซึ่งนิยามของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplements) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ อาทิ วิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ ซึ่งจะเป็นผลิตผลจากพืชหรือสัตว์ หรือเป็นสารสกัด สารเข้มข้น หรือแม้กระทั่งสารสังเคราะห์ และอาจอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารตามปกติ (Conventional Foods) สำหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ
ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกยังสดใส
จากปัจจัยบวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกที่ปัจจุบัน (ปี 2565) มีมูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.35 ล้านล้านบาท ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แม้ปัจจัยบวกจากโควิด-19 จะสิ้นสุดลง ขึ้นไปแตะระดับ 1.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.44 ล้านล้านบาท ในปี 2570 เพิ่มขึ้นถึง 48.0% หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.2% (CAGR ปี 2565-2570) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ วิตามินชนิดต่างๆ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 54.3% รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกรดไขมัน 13.4% อาทิ โอเมก้า-3 โอเมก้า-6 DHA อีฟนิ่ง พริมโรส ออยล์
ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มสมุนไพร
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยเร่งสำคัญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลทำให้พฤติกรรมผู้ริโภคเปลี่ยนไป โดยหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 มีครัวเรือนกว่า 1.8 ล้านครัวเรือน ที่ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 149.3% ที่มีเพียง 0.7 แสนครัวเรือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,036 บาทต่อเดือน นั่นสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Healthy Living Survey in Asia เมื่อปี 2565 ของ ‘ฟิลิปส์’ (Philips) ที่ร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำอย่าง Kantar Profiles Network
พบว่า 62% ของกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทย มีการหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งมากกว่ากลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีเพียง 45% เท่านั้น นั่นเป็นตัวสะท้อนว่า คนไทยให้ความใส่ใจด้านสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์สำคัญจากพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพที่เป็นกระแสหลักของผู้บริโภคชาวไทย ค่านิยมของผู้คนที่ต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดีขึ้น รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Silver Gen ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีศักยภาพในการใช้จ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจุดเด่นของกลุ่ม Silver Gen อีกอย่างหนึ่ง คือ พร้อมใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพให้มีชีวิตที่ยืนยาว
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานด้านการตลาดของ Mordor Intelligence ที่คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 4.94 พันล้านดอลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท ในปี 2570 เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.2% (CAGR ปี 2565-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.6 เท่า โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ วิตามินชนิดต่างๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 18.2% รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมุนไพร 8.1% โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR ปี 2565-2570) ปีละ 9.5% และ 9.9% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ เนื่องจากมีสมุนไพรมากกว่า 10,000 ชนิด ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมได้ ทั้งอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประมาณ 15.5% หรือประมาณ 1,800 ชนิด
อีกทั้งภาครัฐยังให้การสนับสนุน โดยได้กำหนดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อยกระดับและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวคิด BCG Model พร้อมทั้งขยายตลาดรองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้กำหนดให้พืชสมุนไพร 15 ชนิด เป็น Herbal Champion ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมตามห่วงโซ่การพัฒนาสมุนไพร Herbal Champion จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ และ กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพร Herbal Champion จำนวน 12 รายการ ได้แก่ กระชายขาว มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต
ดังนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มสมุนไพรของไทยจึงเป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต และไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มนี้
ธุรกิจอะไร?ที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างธุรกิจผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ธุรกิจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งในกลุ่มวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบสังเคราะห์ และสมุนไพร รวมไปถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เท่านั้น
แต่ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม อย่างธุรกิจสื่อและ KOLs/KOCs (Influencers, YouTuber, Blogger, TikTokers และ Publishers) และธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมไปถึงธุรกิจขนส่ง และแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน E-Commerce ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน
ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร?เพื่อคว้าโอกาสจากตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยตลาดที่ใหญ่ และมีมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ จำนวนมากเข้าสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จนส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากผลิตภัณฑ์ในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน โดยมีแนวทาง ดังนี้
• การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำตราสินค้าได้ โดยเฉพาะการทำตลาดผ่านสื่อโซเชียล อย่าง Facebook Line Instagram Tiktok ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย รวดเร็ว และจำนวนมาก
• พัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องสุขภาพและความงามไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากในปัจจุบันเรื่องความงามและสุขภาพถูกมองเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาสินค้าที่ให้คุณสมบัติที่หลากหลาย จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
• มุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตลาดที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต
• ขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย กอปรกับการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วขึ้น ทำให้การขยายตลาดไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ ทำได้ง่ายขึ้น
Summary
• ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพที่เป็นกระแสหลักของผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความมุ่งหวังให้ตนเองมีสุขภาพและรูปลักษณ์ที่ดี และยังได้รับแรงหนุนจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุพร้อมลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีด้วยการใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
• Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทย ยังมี room to grow ที่จะสามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้น ตามพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพ และการหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น และยังมีโอกาสที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มสมุนไพร ที่ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทั้งในแง่จำนวน และความหลากหลาย โดยในปี 2570 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 4.94 พันล้านดอลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.2% (CAGR ปี 2565-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.6 เท่า โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ วิตามินชนิดต่างๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 18.2% รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมุนไพร 8.1% โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR ปี 2565-2570) ปีละ 9.5% และ 9.9% ตามลำดับ
• การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจหลักอย่างธุรกิจผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ธุรกิจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งในกลุ่มวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบสังเคราะห์ และสมุนไพร รวมไปถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อมยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน อาทิ ธุรกิจสื่อและ KOLs/KOCs และธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมไปถึงธุรกิจขนส่ง และแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน E-Commerce
สุจิตรา อันโน
ข่าวเด่น