เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : โลกตอนนี้ขับเคลื่อนด้วย Innovation แต่ไทยยังติดอยู่ในเศรษฐกิจเก่า


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิด Digital Transformation การเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาแทนที่กระบวนการดั้งเดิม จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่ยึดโยงอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนอันมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ

โดยที่ผ่านมา เราได้เห็น Innovation หรือ นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้ามากขึ้น จนธุรกิจเก่าที่เคยครองตลาดมาก่อนหน้านี้ถูกทิ้งห่างไกลชนิดไม่เห็นฝุ่น เช่น การมาของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดสื่อใหม่เข้ามาแทนที่สื่อเก่าอย่างวิทยุและโทรทัศน์ ส่งแรงกระเพื่อมต่อกันมาที่อุปกรณ์สื่อสาร เกิด Smartphone Laptop และ Internet of Things ต่างๆ ที่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน เช่น การรับสารผ่านหน้าจอส่วนตัวในระบบอินเตอร์เน็ต แทนการอ่านสิ่งพิมพ์แบบจับต้องได้อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือก็ตาม (เห็นได้จากยอดขายของร้านหนังสือลดลง จนปิดตัวไปหลายสาขาและหาทางทำกำไรเพิ่มด้วยการเอาสินค้าอื่นๆ มาขายในร้าน) การทำธุรกรรมต่างๆผ่านหน้าจอดิจิทัลส่วนตัว และโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อย่างการมาถึงของ Generative AI ที่พัฒนามาเพื่ออำนวยความสะดวกในหลายภาคส่วน ไปจนถึงการใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

รูปแบบการสร้าง Innovation ใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่สิ่งที่มีอยู่เดิมนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นการ “Disruption” ที่พัฒนาการของเทคโนโลยี ก้าวหน้าจนทำให้สิ่งที่เคยมีอยู่ก่อนถูกทดแทน จนต้องล้มหายตายจากไป หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ในปัจจุบัน เพราะพฤติกรรมของคนมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ ไปบริโภคในสิ่งที่ดีกว่า หรือสิ่งที่ได้รับ “การพัฒนา” ที่เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดมาแล้ว ซึ่งในระบบเศรษฐกิจ หากประเทศไหนมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี มีการผลักดันให้เกิด Innovation มาพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จนเกิดเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก็ไม่แปลกใจเลยว่าประเทศเหล่านั้น จะกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสำหรับโลกในยุคปัจจุบันนี้

โดยประเทศที่มีการพัฒนา Innovation จะสังเกตได้ว่าพวกเขาจะมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นของตัวเอง เช่นในเกาหลีใต้ มีแอพลิเคชั่น Never เป็นโปรแกรมแผนที่ มี Kakao Talk เป็นโปรแกรมแชทสนทนา ส่วนในประเทศจีน ก็มีการใช้แอพลิเคชั่นที่เป็นของสัญชาติตัวเองทั้งหมด กลับมาที่ประเทศไทย ที่จัดได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม (กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยมีอาชีพเกษตรกรรม) และมีภาคบริการอย่างด้านการท่องเที่ยว เป็นพาร์ทใหญ่ของ GDP ประเทศ ส่วนเทคโนโลยีใหม่ที่ในประเทศใช้ ล้วนมาด้วยการนำเข้า Innovation จากต่างชาติทั้งสิ้น ทั้งการที่บริษัทไทยหุ้นกับต่างชาติ และการที่บริษัทต่างชาติรุกเข้ามาในประเทศ ยังไม่มีบริษัทสัญชาติไทยเจ้าไหนที่ตั้งตัวเป็นผู้ก่อตั้งที่จะพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา ประกอบกับในส่วนของด้านแรงงานในประเทศที่ยังมีสกิลเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังยึดโยงอยู่ในระบบเก่าอยู่ ขณะที่เรื่องของ Data จัดว่าเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอย่างมหาศาล ที่ต่อยอดเป็นการสร้าง Innovation ใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกได้

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ สอดคล้องกับมุมมองการลงทุนในตลาด ที่ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ผู้นำบริการไพรเวทแบงก์ในไทย ได้ประเมินทิศทางการลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ว่าควรลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ เช่น หุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 ที่เป็นตัวสำคัญที่ดึงค่าเฉลี่ยหุ้นโลกทั้งหมดให้สูงขึ้นมาในปีที่แล้ว ซึ่งได้แก่ Apple (AAPL), Microsoft (MSFT), Alphabet (GOOGL, GOOG), Amazon (AMZN), Meta Platforms (META), Tesla (TSLA) และ Nvidia (NVDA) ซึ่งจัดได้ว่าเป็น Winners of The New Economy หรือ หุ้นที่เป็นผู้ชนะของเศรษฐกิจใหม่ ที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องของภาคบริการ เทคโนโลยี และการสร้าง Innovation ใหม่ๆ ส่วนข้อสังเกตของหุ้นไทยในปัจจุบัน เทียบกับหุ้นต่างประเทศในบริบทของภาพรวมอุตสาหกรรมทั่วโลก ยังเป็นความท้าทายที่ดึงดูดนักลงทุนในตลาดโลกได้น้อยกว่า เนื่องจากหุ้นไทยยังยึดโยงอยู่กับเศรษฐกิจเก่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริโภคเป็นสำคัญ ยังไม่มีตัวเลือกที่เป็นลักษณะของนวัตกรรม หรือ Information Technology อย่างในต่างประเทศ
 
สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดการณ์ถึงเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มขยายตัวที่สมดุลมากขึ้นจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยบวกจากสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แต่ไทยมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลบวกน้อยกว่าคาด จากปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่โลกให้น้ำหนักกับการเติบโตด้านเทคโนโลยี Innovation แต่ไทยยังยึดโยงกับเศรษฐกิจรูปแบบเก่าอยู่ แรงงานในประเทศยังมีสกิลไม่เพียงพอ ซึ่งอาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก และทำให้หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ได้ (เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจในอดีตไม่สามารถเติบโตได้ในระดับสูงเช่นเดิม)
 
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังยึดอยู่ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่รับเอา Innovation จากต่างชาติมาใช้แทบทั้งสิ้น และไม่มี Data หรือข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบันมาอยู่ในมือของเรา จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวลว่า หากประเทศไทยยังพึ่งพาอยู่กับเศรษฐกิจแบบเก่า ไม่มีการปรับตัวเข้ากับโลกในยุคแห่งนวัตกรรมตอนนี้ เราก็อาจโดนเศรษฐกิจจากต่างชาติกลืนกิน หรือถูกล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยีต่างชาติโดยสมบูรณ์ในสักวันหนึ่ง

LastUpdate 14/01/2567 20:59:40 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 11:39 pm