แบงก์-นอนแบงก์
เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง แนะแนวทางลงทุนครึ่งปีแรกของปี 67 ท่ามกลางสถานการณ์โลกผันผวน


เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง ("HSBC GPB") คาดธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนมิถุนายน 2567 และทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่การฟื้นตัวของกำไรของภาคธุรกิจและการเติบโตที่แข็งแกร่งในเอเชียสร้างความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงและทำให้มีแนวโน้มการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ทั่วโลกที่ดีขึ้นในปี 2567

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 67 เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง วางแผนใช้แนวทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง ลดปริมาณเงินสดให้น้อยลง เพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรโลก (Investment grade) และปรับเพิ่มกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ให้สอดคล้องกับตลาด ในขณะที่ยังคงรักษามุมมองที่เป็นกลางต่อกองทุนในกลุ่ม Global Equities ทั่วโลกด้วยการเพิ่มน้ำหนักให้กับตราสารทุนของสหรัฐฯ รวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกามากขึ้นอีกเล็กน้อย สำหรับหุ้นในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น HSBC GPB ให้ความสำคัญกับประเทศที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงจัดสรรการลงทุนสูงขึ้นในอินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แต่ก็ยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธุรกิจในภาคบริการของจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเอาไว้ ตลอดจนยังมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากยังมีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและส่วนต่างในการเติบโตอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่มั่นคงในช่วงที่สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความไม่แน่นอน
 
ปรับพอร์ตเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายทางการเงินของเฟด และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเอเชีย

"ในอนาคตของปี 2567 ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลก คือ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของฝั่งตะวันตกยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังภาวะเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวเข้าสู่ภาวะซอฟต์แลนดิ้ง ซึ่งทั้งสองปัจจัยน่าจะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนในปี 2567 อยู่ในระดับที่นักลงทุนยอมรับได้ การเตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงแต่เป็นไปในทิศทางบวกและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2567 รวมถึงการนำเงินสดไปลงทุนในพันธบัตรคุณภาพดี หุ้นของสหรัฐฯ และเอเชีย และทางเลือกอื่นๆ น่าจะเป็นแหล่งผลตอบแทนและรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตการลงทุนและลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้" นางฟาน ชุค วาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ เผย

"เรามองว่าตราสารหนี้ในกลุ่มอันดับเครดิตน่าลงทุนเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยกลยุทธ์ของเรา คือ การมุ่งเน้นล็อกผลตอบแทนที่น่าดึงดูดจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมถึงพันธบัตรที่มีคุณภาพ (Investment grade) ทั้งใน

 
ตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ในขณะที่การเติบโตทั่วโลกน่าจะชะลอตัวในปี 2567 แต่ก็ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของสหรัฐฯ เนื่องจากการบริโภคของชาวอเมริกันมีการฟื้นตัวที่ดี และรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนทั้งการลงทุนและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพ มูลค่าหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของรายได้ที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งอาจหมายถึงข่าวดีสำหรับหุ้นที่มีผลประกอบการตามที่คาด นอกจากนี้ เรายังมองว่าการลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกจะยังคงเติบโตรวดเร็วได้ต่อไปในปี 2567 และมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ และเอเชีย" นางฟานกล่าว

"แม้ทั่วโลกต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจแต่เอเชียก็ยังมน่าสนใจ เนื่องจากความมั่งคั่งของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี เราคาดว่าจีดีพีของเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นจะเติบโตร้อยละ 4.5 ในปี 2567 นี้ หรือเกือบสองเท่าของอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 2.4 โดยคาดว่าอินเดียจะมีการเติบโตมากสุดที่ร้อยละ 6 ตามด้วยอินโดนีเซียที่ร้อยละ 5.2 และจีนที่ร้อยละ 4.9 โดยเราจะให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียที่มีโมเมนตัมเชิงบวกและมีการเติบโตเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ซึ่งอินเดียและอินโดนีเซียมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน มีผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางและประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และมีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จำนวนมาก" นางฟานกล่าวเสริม

สิ่งสำคัญ 4 ประการสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

1. เพิ่มอายุคงเหลือของตราสารประเภทพันธบัตรรัฐบาล ก่อนที่จะเริ่มผ่อนคลายนโยบาย: หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีในช่วงก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกของปี แม้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจกระทบผลตอบแทนสำหรับเงินสด แต่เป็นผลดีกับตลาดตราสารหนี้ เราจึงแนะนำปรับเพิ่มอายุคงเหลือของพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นระยะเวลาปานกลางถึงระยะยาว (7-10 ปี) และสำหรับพันธบัตรโลกหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน (Investment grade) ยังคงถือครองในระยะเวลาปานกลาง (5-7 ปี)

2. เพิ่มการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ หลังจากจากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิ้ง: เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงไปได้ดีกว่าที่หลายคนคิด มูลค่าหุ้นในกลุ่มเทคฯเติบโตอย่างแข็งแกร่งและหุ้นในกลุ่มที่มีการเติบโตสูงยังให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น หุ้นในกลุ่ม AI และหุ่นยนต์ และพลังงานทางเลือกใหม่ในด้านการขนส่ง จากความสำเร็จในการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐแบบค่อยเป็นค่อยไป เราคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐในภาพรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแต่ในกลุ่มเทคฯ อีกด้วย ซึ่งเรากำลังพิจารณาถึงหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่มการดูแลสุขภาพ ตลอดจนกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเน้นธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของทวีปอเมริกาเหนือที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ เรายังคงมองค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในเชิงบวกเนื่องจากมีผลตอบแทนและส่วนต่างในการเติบโตในระดับสูง และมีความมั่นคงในช่วงที่สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์มีความไม่แน่นอน

3. ปกป้องพอร์ตจากความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดโดยใช้กลยุทธ์ลงทุนที่หลากหลาย เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท และกลยุทธ์ที่ใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาด: เราคาดว่าตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดและการใช้กลยุทธ์จัดสรรสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทระยะยาวช่วยให้เราสามารถกระจายความเสี่ยงได้ ในขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์มีข้อได้เปรียบในตลาดที่ผันผวน กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของตลาดจะใช้ประโยชน์จากการคาดเดาทิศทางและสร้างผลตอบแทนเพื่อรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนโดยรวมในพอร์ตการลงทุน

4. กระจายความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ด้วยการเลือกลงทุนเฉพาะในภาคส่วนที่มีศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง: การเติบโตของทั่วโลกและจีนเริ่มชะลอตัวลง บวกกับอัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์สหรัฐฯสูงและค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งตัว ส่งผลให้การลงทุนในตลาดเกิดใหม่มีความท้าทาย แต่เราเล็งเห็นโอกาสกระจายกลยุทธ์การสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทั้งธนาคารกลางและผู้บริโภคในเอเชียจะผ่อนคลายมากขึ้น และการดำเนินนนโยบายของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะยุติมาตรการที่เข้มงวดทางการเงิน เราคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ในปี 2567 สำหรับตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น เราเน้นลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตเชิงโครงสร้างมากกว่าและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนอีกเล็กน้อยในอินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ในขณะที่ยังคงน้ำหนักการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเอาไว้ โดยเลือกเฉพาะกลุ่มธุรกิจในภาคบริการ

"เราเชื่อว่ายังมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจมากมายทั่วโลกแม้ว่าสภาวะตลาดลงทุนจะมีความซับซ้อนก็ตาม และเราได้สรุปเทรนด์การลงทุนที่สำคัญ 5 ประการที่กำลังกำหนดรูปแบบของโลกยุคใหม่ การทำความเข้าใจแรงผลักดันของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวเหล่านี้ให้ดีขึ้นจะช่วยให้นักลงทุนไม่ติดกับดักจากสภาวะตลาดที่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ในระยะสั้น" นางฟานกล่าวเสริม

โดยนางฟานระบุ 5 เทรนด์สำคัญที่ควรรู้ เพื่อเข้าถึงโอกาสในการลงทุนในปี 2567 เอาไว้ดังนี้:

1. เอเชียในระเบียบโลกใหม่: มีโอกาสเติบโตจากการเปลี่ยนแปลงระบบอุปทาน ความมั่งคั่งที่เติบโตขึ้นและจำนวนผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

2. เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก: เน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตทางโครงสร้างมากที่สุด ซึ่งรวมถึง AI และหุ่นยนต์ พลังงานทางเลือก และภาคการบินและอวกาศ

3. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: หลังจากการประชุม COP28 มีการผลักดันให้มีนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทั่วโลกมีการลงทุนในด้านพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น

4. สังคมที่เปลี่ยนแปลง: ให้ความสำคัญกับการเติบโตเชิงโครงสร้าง อาทิ การขยายตัวของเมืองออกไปรอบนอก ความก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพ และโอกาสจากการที่หลายๆภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเติบโตเชิงโครงสร้างมากขึ้น (Social Empowerment)

5. ปรับแนวทางการลงทุนก่อนเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก: เน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การย้ายฐานธุรกิจกลับมายังสหรัฐฯ ตลาดสินเชื่อทในกลุ่มที่น่าลงทุน และตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior bonds) ของธนาคาร

แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยปี 2567

 
นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้นในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตนี้มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาล และการฟื้นตัวของการค้าขายทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะแม้ว่าการท่องเที่ยวของจีนจะชะลอตัวแต่นโยบายฟรีวีซ่าก็น่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตของจีดีพีที่ร้อยละ 3.8 ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว" นายเชียวกล่าว

"สำหรับตลาดหุ้นไทย ผลประกอบการโดยรวมคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลกและการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอาจเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งตลาดได้ เราจึงค่อนข้างระมัดระวังต่อการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในตลาดไทย ณ เวลานี้"

"ในปี 2567 เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ แต่หากราคาอาหารสูงขึ้นก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ เราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี 2567 และเงินบาทน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 34.2 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในช่วงสิ้นปี 2567" นายเชียวกล่าว

เทรนด์สำหรับเอเชียในระเบียบโลกใหม่ – ธีมการลงทุนไตรมาสแรกของปี 2567

HSBC GPB ขอแนะนำ 4 ธีมการลงทุนเพื่อโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างผลตอบแทนในเอเชีย

1. การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย: เราแนะนำธีมการลงทุนนี้ เนื่องจากผลกระทบของความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งส่วนตลาดที่ย่อยลงเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะทางมากขึ้น และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และลดต้นทุนจากภาษีการค้า บริษัทข้ามชาติตะวันตกจึงหันมาใช้กลยุทธ์ "China+1" และสร้างโรงงานผลิตขึ้นใหม่ในอินเดียและอาเซียนเพื่อเสริมห่วงโซ่อุปทานให้กับธุรกิจ โดยธีมนี้เน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำในเอเชียเหนือที่ขยายห่วงโซ่อุปทานออกจากประเทศจีนซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจอีกทางหนึ่ง และเรายังมุ่งลงทุนกับอุตสาหกรรมในอินเดียและอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จากการไหลทะลักเข้าของทุนต่างชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน

2. การเติบโตของอินเดียและอาเซียน: เราเชื่อว่าอินเดียและอาเซียนมีโอกาสการเติบโตที่ยอดเยี่ยมในระยะยาว เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการมีกลุ่มประชากรคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว อินเดียมีการเติบโตที่แข็งแกร่งเกินคาดในด้านกิจกรรมการผลิตและบริการตลอดทั้งปี 2566 โดยมีการไหลเข้าของทุนต่างชาติที่แข็งแกร่งและภาคบริการที่เฟื่องฟู ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นการบริโภคในภาคเอกชน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต อินเดียยังเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการผลิตสินค้าโลกถึงร้อยละ 40 ด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมภาคการส่งออกบริการและเป็นผลดีต่อตลาดงานของประเทศเป็นอย่างมาก

"อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีโอกาสในการลงทุนและการเติบโตที่ดีที่สุดในเอเชียเนื่องจากมีประชากรรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และมีการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่งเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ นอกจากนี้อินโดนีเซียยังได้รับประโยชน์จากการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตด้วย แร่ธาตุและโลหะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มากมายในอินโดนีเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ โดยอินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก หรือประมาณ 21 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณสำรองนิกเกิลทั่วโลก" นายเชียวกล่าว

3. ศักยภาพของผู้บริโภคชาวเอเชียในอนาคต: ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นผู้บริโภคในกลุ่มชั้นกลางที่กำลังขยายตัวเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยของเอเชีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ตลอดจนบริษัทต่างๆ ในภาคส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยในเอเชีย ธุรกิจที่ใช้ AI และเทคโนโลยีดิจิทัล และผู้ให้บริการในภาคการเงินในเอเชีย โดยธีมการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูงนี้มุ่งลงทุนในภาคส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยในเอเชียเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้ร้อยละ 16.4 ในปี 2567 แม้ว่าจะมีฐานตัวเลขการเติบโตที่สูงจากปีที่แล้วก็ตาม" นายเชียวกล่าวเสริม

4. คว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนในเอเชียจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในจุดสูงสุดแล้ว: เราเน้นล็อกอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดจากตราสารหนี้คุณภาพในเอเชีย กลุ่มที่น่าลงทุน ได้แก่ พันธบัตรอินเดีย Quasi-Sovereign ของรัฐบาลอินโดนีเซีย (Investment grade) พันธบัตรเกาหลี (Investment grade) และกลุ่มธุรกิจความบันเทิงในมาเก๊าและสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมของจีน (TMT credits) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนโดยรวมของดัชนีพันธบัตรระดับคุณภาพของเอเชียที่น่าสนใจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 3 ปีที่ร้อยละ 4.5

"ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีอัตราเงินเฟ้อลดลง และในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้น่าจะกลับมาสู่ระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดได้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในเอเชียกำลังจะถึงจุดสูงสุดและคาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ในปี 2567 จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เอเชียในหลังจากนี้เป็นต้นไป" นายเชียวกล่าวปิดท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ม.ค. 2567 เวลา : 13:44:24
22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 8:00 pm