การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดทัพคาราวานรวมน้ำใจ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาต่อเนื่องผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 16-18 ม.ค. ที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการ รมว.เกษตรฯ นำทีมโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. และ นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ พร้อมผู้บริหารและพนักงาน กยท.รวบรวม - ส่งมอบถุงยังชีพ พร้อมฝากเกษตรกรที่สวนยางเสียหาย เร่งแจ้งขอรับเงินสวัสดิการเยียวยา ภายใน 30 วัน หลังน้ำลดกลับสู่สภาวะปกติ
ดร.เพิก เผยว่า ตามข้อสั่งการเร่งด่วนของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้ทุกหน่วยงานรวมถึง กยท. เข้ามาดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ส่งผลให้บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรุนแรง จำเป็นที่ต้องติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ กยท. ได้เข้าเยียวยาผู้ประสบภัยเบื้องต้นทันที โดยการนำเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ไปจัดหาถุงยังชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเงินรวมกว่า 600,000 บาท นอกจากนี้ กยท.ยังให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดคาราวานรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ เป็นโครงการที่ กยท. ตั้งใจจัดขึ้นมา ซึ่งมีผู้บริหารและพนักงาน กยท. ทั้งจากสำนักงานใหญ่และส่วนภูมิภาค รวมกว่า 100 คน ร่วมเดินทางลงพื้นที่ส่งมอบสิ่งของถึงมือผู้ได้รับความเดือดร้อน ถือเป็นการรวมน้ำใจของชาว กยท. และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรของ กยท. ที่ตั้งใจมอบของใช้ที่มีความจำเป็นต่อการยังชีพและตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่
“ขอฝากถึงเกษตรกรฯ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ ขอให้มีกำลังใจและพลังที่จะร่วมสู้ไปด้วยกัน มั่นใจว่าต่อจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง กยท. จะมีแนวทางผลักดันให้อาชีพชาวสวนยางเป็นอาชีพที่มั่นคง เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน” ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย
นายโกศล บุญคง กล่าวว่า กยท. จัดคาราวานฯ รวมน้ำใจลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรุนแรง โดยเส้นทางการเดินทางของคาราวานฯ เริ่มจาก กยท. สำนักงานใหญ่ และระหว่างเส้นทางได้แวะรับสิ่งของจากจุดรับบริจาค อาทิ น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงพรมละหมาด ซึ่งมีการรวบรวมจาก กยท. จังหวัดและสาขาต่างๆ รวมถึงเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ และหน่วยงานพันธมิตรของ กยท. ในแต่ละพื้นที่ พร้อมเคลื่อนย้ายมามอบแก่ผู้ประสบภัย เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังได้มอบเงินสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) กรณีเกษตรกรฯ เสียชีวิตแก่ทายาท รายละ 30,000 บาท อีกด้วย
รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับเกษตรกรฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และสวนยางได้รับความเสียหายจากอุทกภัย (ต้นยางเสียหายไม่สามารถเติบโตหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่น้อยกว่า 20 ต้นในแปลงเดียวกัน) สามารถขอรับสวัสดิการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบภัย รายละ 3,000 บาท โดยสามารถแจ้งรับความช่วยเหลือจาก กยท. ในพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากวันที่เหตุภัยพิบัติสิ้นสุดลง และยื่นขอรับเงินกู้ยืมฯ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ หลังจากน้ำลดกลับสู่สภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ของ กยท. ได้เร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพสวนให้เกษตรกรที่แจ้งขอรับความช่วยเหลือ ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรฯ ทราบถึงวิธีการดูแลสวนยางหลังน้ำท่วม และการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายทดแทนให้ชาวสวนยางต่อไป
ข่าวเด่น