เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : "Generative AI" ชีวิตการทำงานจะง่ายขึ้นถ้าใช้ AI เป็น


ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้เสริมกำลังให้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ มีวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อจากนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งด้วยความชาญฉลาด และศักยภาพที่เกินขีดความสามารถของมนุษย์ ทำให้ในตอนนี้ AI สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลายภาคส่วน จนมีการเริ่มต่อต้าน และมองว่า AI เป็นภัยคุกคามที่จะเข้ามาทำลายเส้นทางอาชีพของมนุษย์ แต่การมาของ AI ก็เกิดขึ้นจากการเดินหน้าของเวลาและวิวัฒนาการที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นการยอมรับ ทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับ AI น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีมากกว่าการต่อต้าน ซึ่งหากสานสัมพันธ์กับ AI จนเสมือนกลายเป็นเพื่อนซี้ของเราคนหนึ่งแล้ว เขาก็อาจกลายเป็นเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเหลือให้เราพร้อมที่จะเผชิญกับยุคที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากในไม่กี่ปีต่อจากนี้
 
โดยในบริบทของการทำงาน ด้วยคุณสมบัติที่ AI มีความสามารถเฉพาะทางในศาสตร์แขนงต่างๆอย่างลึกซึ้ง และมี Big Data หรือฐานข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ถูก Backup เอาไว้เหนือกว่าการจดจำของสมองมนุษย์ และสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว เราก็สามารถดึงขุมพลังของ AI ดังกล่าวมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเนื้องานของเราให้ได้ผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพและบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เช่น การใช้ Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่ง ที่มีความสามารถใน “การสร้างใหม่” หรือ “Generate” สิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นมา จากชุดข้อมูลที่มีอยู่และฐานข้อมูลมากมายจากอินเทอร์เน็ตและแหล่งข้อมูลอื่นๆที่ได้รับอนุญาต จากนั้น AI ประเภทนี้จะทำความเข้าใจและประมวลผลออกมา โดยเอามาใช้ทั้งการสร้างสร้างภาพ ("Midjourney" AI วาดรูปตาม Script), สร้างภาพหน้าคนที่ไม่เคยมีอยู่บนโลก, เสียง, และการสร้างข้อมูลในรูปแบบข้อความ ที่เอาไปประยุกต์ใช้ทั้งในด้านการสอบถามข้อมูล ด้านความสร้างสรรค์ต่างๆ, การพัฒนาซอฟต์แวร์, และการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
 
โดย Generative AI ประเภทที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ในรูปแบบข้อความ ที่เราสามารถใช้ประโยชน์ในโลกของการทำงานได้อย่างมาก ซึ่งก็คือ ChatGPT อันโด่งดังในปัจจุบัน ที่มีฟีเจอร์ที่สามารถแชตถาม-ตอบกับมนุษย์ (ChatBot) ให้ความช่วยเหลือได้ทั้ง
 
1.ช่วยค้นหาข้อมูล: ให้ข้อมูลในสิ่งที่เราอยากรู้

2.ช่วยเขียนเนื้อหา: สามารถช่วยในการเขียนบทความ, รีวิว, หรือเนื้อหาทางการตลาด

3.การตอบคำถาม: สามารถให้คำตอบตามความรู้ที่ถูกต้องหรือข้อมูลที่เข้าใจได้

4.เสนอไอเดีย: ช่วยในการสร้างไอเดียหรือแนะนำเนื้อหา เช่น ช่วยในการคิดคอนเทนต์ต่างๆ

5.ฝึกภาษา: ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกภาษาหรือฝึกการเขียน

6.การช่วยเหลือทางด้านเทคนิค: เช่น ช่วยในการเขียนโค้ด หรือโปรแกรมทางภาษาคอมพิวเตอร์
 
แต่การใช้ ChatGPT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้อง “Prompt” ให้เป็น
 
แม้ ChatGPT จะเสมือนคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่ถามอะไรก็ตอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้มาซึ่งชุดข้อมูลใหม่ที่ ChatGPT สร้างขึ้นใหม่มาอย่างตรงใจและสามารถเอาไปต่อยอดในการทำงานได้จริงๆ ต้องเริ่มต้นจากก้าวที่สำคัญที่สุดอย่าง การตั้งคำถาม หรือ ระบุรายละเอียดที่ดี ซึ่งเรียกว่า “Prompt” เป็นรูปแบบชุดข้อความภาษามนุษย์ปกติ (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ที่เราระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เพื่อ Scope สิ่งที่ AI จะประมวลให้ตามที่เราต้องการ ซึ่งหลักๆ Prompt ที่ดีจะประกอบด้วย
 
1.Input ข้อความที่ระบุคำถาม หรือคำสั่งที่อยากให้ AI ทำงานให้

2.Context ระบุเป็นบริบทว่าอยากให้ AI ทำงานอย่างไร (เช่น อธิบายเป็นภาษาทางการ, หรือใส่โครงของบทความว่า ควรเขียนบทความแบบมี Into, เนื้อหา และสรุป ไม่เกิน 1,000 คำ เป็นต้น)

3.Examples การป้อนตัวอย่างเข้าไป เพื่อให้ AI เข้าใจว่าเราต้องการอะไร และ Generate ข้อมูลออกมาตรงตามที่เราคาดหวัง
 
 
จากตัวอย่างด้านบนเป็น 1 ในรูปแบบของการ Prompt ขั้นต้น ที่ให้ ChatGPT ช่วยคิด Content TikTok เกี่ยวกับการนำเสนออาหารไทย Street Food ให้กับชาวต่างชาติที่ไม่เคยกินมาก่อน
 

ส่วนตัวอย่างที่ 2 เป็นการเขียน Prompt ให้ละเอียดมากขึ้น โดยให้ Scope ว่าเป็นคอนเทนต์ที่นำเสนอภายใน 3 นาที ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็น Script Content ที่ละเอียดกว่าคำถามแรก
 
จะเห็นได้ว่า การเผชิญกับความก้าวหน้าของ AI ด้วยการเปิดใจยอมรับและปรับตัวให้เหมาะสม มนุษย์อย่างเราก็สามารถดึงคุณสมบัติของ AI ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ได้ ดังเช่น การใช้ Generative AI ในการสร้างข้อมูลใหม่ที่มีประโยชน์ในงานต่างๆ เพื่อให้ AI ทำงานตามความต้องการของเรา เป็นตัวอย่างของการสานสัมพันธ์อันทรงศักยภาพ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตไปในทิศทางที่สร้างประโยชน์สูงสุด และจะช่วยให้มนุษย์เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีอีกมากในอนาคต

LastUpdate 21/01/2567 21:06:50 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 10:43 pm