ในปีที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วม
ปี 2023 เป็นปีที่ไทยต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนค่อนข้างรุนแรงเกือบตลอดทั้งปี โดยในช่วง ม.ค. - ส.ค. หลายภูมิภาคของไทยต้องเผชิญกับปริมาณฝนที่ต่ำกว่าปกติมาก จากอิทธิพลของเอลนีโญ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากในช่วงสองเดือนถัดมา (ก.ย. - ต.ค.) ที่ปริมาณฝนกลับสูงกว่าปกติมาก จากอิทธิพลของร่องมรสุม ซึ่งช่วยหักล้างผลกระทบจากเอลนีโญ โดยการเกิดฝนในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงในช่วงแรกของปี 2023 ก่อนจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี
“ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ฉุดภาคเกษตรเสียหายราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในภาคกลาง
ภาคเกษตรมีความอ่อนไหวต่อปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อย (แล้ง) หรือมาก (ท่วม) เกินไป จะกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชและส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวลดลง โดย SCB EIC ประเมินว่า ปัญหา “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นในปี 2023 จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไม่ต่ำกว่า 51,700 ล้านบาท โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นในปี 2023 ราว 19,300 ล้านบาท และในปี 2024 อีกราว 32,400 ล้านบาท โดยอ้อยเป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องเผชิญกับมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยข้าวนาปรัง ข้าวนาปีและมันสำปะหลัง ส่วนผลกระทบในเชิงพื้นที่พบว่า พื้นที่ภาคกลางจะเผชิญกับความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
ปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนฉุดเศรษฐกิจไทย เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว
ความเสียหายภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในปี 2023 และต่อเนื่องมายังปีนี้ กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเงินเฟ้อ โดย SCB EIC ประเมินว่าความเสียหายโดยตรงต่อภาคเกษตรไทย รวมถึงผลทางอ้อมผ่าน ความเชื่อมโยงของภาคเกษตรกับภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2023 และ 2024 ขยายตัวลดลงรวม -0.34 percentag points (pp) เทียบกับกรณีที่ไม่เกิด “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” แบ่งเป็นความเสียหาย -0.13pp และ -0.21pp ในปี 2023 และ 2024 นอกจากปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญกดดันเงินเฟ้อไทยในปี 2024 โดยเฉพาะราคาข้าวและน้ำตาล ซึ่ง SCB EIC ประเมินราคาข้าวและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากผลทางตรงและผลทางอ้อม (Second-round effect) ผ่านการปรับขึ้นราคาของสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) ราว 0.3pp
2 แนวทาง 3 กลไก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร
มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งในปีนี้และในระยะต่อไปในอนาคต ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอีก ดังนั้น การเตรียมการเพื่อรับมืออย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็น SCB EIC เสนอ 2 แนวทาง พร้อม 3 กลไก ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร ดังนี้ 1) แนวทางยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการปริมาณน้ำ (Supply) ผ่านการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (Water infrastructure) ต่าง ๆ โดยในระยะสั้นอาจเน้นลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น สระน้ำ ในขณะที่ในระยะยาวอาจพิจารณาลงทุนในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และระบบท่อส่งน้ำ และ 2) แนวทางยกระดับประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Demand) ด้วยมาตรการรักษาความชื้นในดิน การปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำและกระบวนการเพาะปลูกพืช เช่น การเลื่อนเวลาการเพาะปลูกพืช ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น การดำเนินการตาม 2 แนวทางดังกล่าวจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย 3 กลไกช่วยสนับสนุน ดังนี้ (1) กลไกเชิงนโยบาย เช่น การเร่งออกกฎหมายลูก พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ การเพิ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ หรือการให้เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านน้ำ (Water tech) (2) กลไกทางการเงิน เช่น การเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผล และ (3) กลไกการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผ่านการเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเก็บ เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด แนวทางและกลไกดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและเกษตรกร ซึ่งหากทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการจัดการน้ำได้ ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคเกษตรไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไทยต้องเผชิญทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมในปี 2023 จากสภาพการเกิดฝนที่มีความแปรปรวนรุนแรง (รูปที่ 1) โดยในช่วง ม.ค. - ส.ค. ปี 2023 หลายภูมิภาคของไทยต้องเผชิญกับปริมาณฝนที่ต่ำกว่าปกติมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออก ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในช่วงสองเดือนถัดมา (ก.ย. - ต.ค.) ที่ปริมาณฝนสูงกว่าปกติมาก ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวอย่างเช่น ในช่วง 8 เดือนแรก ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติราว 33.4% แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในเดือน ก.ย. และ ต.ค. ที่ปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติสูงถึง 79.1% โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. ที่ปริมาณฝนมากกว่าปกติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 28 ปี ซึ่งการเกิดฝนในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วงแรกของปี 2023 ไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง สะท้อนได้จากปริมาณฝนสะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปี ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออก ในทางตรงกันข้ามในช่วงที่เหลือของปี 2023 ไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่โดยรวมยังถือว่าไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2023 ประเทศไทยมีพื้นที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมสะสมในปี 2023 ราว 1.4 ล้านไร่ ซึ่งยังคงต่ำกว่าปี 2022 ซึ่งมีพื้นที่เสียหายสูงถึง 4.4 ล้านไร่
รูปที่ 1 : ไทยต้องเผชิญทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา จากสภาพการเกิดฝนที่มีความแปรปรวนรุนแรง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอลนีโญมีส่วนทำให้ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติในช่วง พ.ค. - ส.ค. อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของร่องมรสุมในช่วง ก.ย. – ต.ค. ส่งผลให้ฝนตกมากกว่าปกติ แม้จะเกิดเอลนีโญรุนแรงและไอโอดีขั้วบวก ค่าดัชนีระดับอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่ต่างไปจากค่าปกติ (Oceanic Niño Index) สะท้อนให้เห็นว่า โลกเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือน พ.ค. - ต.ค. 2023 (และมีแนวโน้มเผชิญต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางปีนี้) โดยเอลนีโญมีส่วนทำให้ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติและเกิดภาวะแห้งแล้งในช่วง พ.ค. - ส.ค. อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยในช่วงเดือน ก.ย - ต.ค. ส่งผลให้หลายพื้นที่ในไทยต้องเผชิญกับปริมาณฝนที่มากกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก แม้จะอยู่ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงและปรากฏการณ์ไอโอดีขั้วบวก (Indian Ocean Dipole (IOD Positive)) ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้ฝนในไทยตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ กล่าวคือ ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ช่วยหักล้างผลกระทบของเอลนีโญแลไอโอดีขั้วบวกต่อการเกิดฝนในไทย (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 : เอลนีโญมีส่วนทำให้ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติในช่วง พ.ค. - ส.ค. แต่อิทธิพลของร่องมรสุมในช่วง ก.ย. – ต.ค. ส่งผลให้ฝนตกมากกว่าปกติ แม้จะเกิดเอลนีโญรุนแรงและไอโอดีขั้วบวก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ International Research Institute for Climate and Society และ Australia’s Bureau of Meteorology
“ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ฉุดภาคเกษตรเสียหายราว 5 หมื่นล้านบาท
SCB EIC พบว่า ปัญหา “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นในปี 2023 จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร
ไม่ต่ำกว่า 51,700 ล้านบาท โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นในปี 2023 ราว 19,300 ล้านบาทและในปี 2024 อีกราว 32,400 ล้านบาท ภาวะฝนแล้งในปีที่ผ่านมาจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยปีการผลิต 2023/2024 (ต.ค. 2023 - ก.ย. 2024) ลดลง 15.2 ล้านตัน เมื่อเทียบกับกรณีที่ฝนตกปกติ กล่าวคือ ฝนแล้งจะทำให้ผลผลิตอ้อยเสียหายสูงถึง 15.2 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,701 ล้านบาท (รูปที่ 3) เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในการเจริญเติบโตและมักปลูกในที่ดอน จึงทำให้มีโอกาสขาดน้ำสูง ในขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2024 จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้งราว 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,336 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกในฤดูแล้งและต้องอาศัยน้ำในเขื่อนที่กักเก็บได้ในปี 2023 เพื่อการเพาะปลูก ส่วนปริมาณผลผลิตข้าวนาปีปีการผลิต 2023/2024 จะเสียหาย 0.9 ล้านตันหรือคิดเป็นมูลค่า 11,382 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่รุนแรงมาก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกโดยมากอยู่ในที่ลุ่มซึ่งมีน้ำเยอะ ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2023/2024 จะได้รับความเสียหายราว 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,741 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเสียหายน้อย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถทนแล้งได้ดี สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วม SCB EIC ทำการประเมินเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผลผลิตข้าวนาปี เนื่องจากเป็นพืชหลักที่ได้รับผลกระทบและมีข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเฉพาะเจาะจง โดยจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมราว 0.9 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นผลผลิตที่เสียหายราว 0.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,543 ล้านบาท ทั้งนี้หากประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นรายปี ตามสัดส่วนปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในแต่ละปี จะพบว่ามูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่ราว 62% หรือ 32,400 ล้านบาท จะเกิดขึ้นในปี 2024 ในขณะที่มูลค่าความเสียหายในปี 2023 จะอยู่ที่ราว 19,300 ล้านบาท
รูปที่ 3 : อ้อยเป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องเผชิญกับมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยข้าวนาปรัง ข้าวนาปีและมันสำปะหลัง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรต่ำกว่าที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ย. เนื่องจากปริมาณฝนในช่วงปลายปี 2023 ที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้ จากอิทธิพลของร่องมรุสม โดย ณ ก.ย. 2023 SCB EIC ประเมินว่า ปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปี 2023 จะตกน้อยกว่าปกติจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและไอโอดีขั้วบวก อย่างไรก็ดี จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น พบว่า แม้จะเกิดสองเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง แต่ปริมาณฝนในไทยกลับสูงกว่าปกติมากในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของร่องมรสุม ซึ่งในการประมาณการน้ำฝน SCB EIC ตั้งสมมติฐานว่า ผลของปรากฏการณ์เอลนีโญและไอโอดีขั้วบวก จะไม่ถูกหักล้างโดยอิทธิพลของร่องมรสุม ซึ่งสวนทางกับความจริงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝนในช่วงปลายปี 2023 ดีกว่าที่คาด และทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดตามไปด้วย (รูปที่ 4) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปรังปี 2024 ลง
รูปที่ 4 : ฝนที่ตกดีกว่าคาดในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ
พื้นที่ภาคกลางเผชิญมูลค่าความเสียหายมากที่สุด
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งและน้ำท่วม จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคกลางจะเผชิญมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ความรุนแรง
ของภัยแล้งและน้ำท่วมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จะส่งผลให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแตกต่างกันตามไปด้วย โดยพื้นที่ภาคกลางจะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 24,250 ล้านบาท จากผลผลิตอ้อยและข้าวนาปรังที่เสียหายค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาคเหนือจะมีมูลค่าความเสียหาย 15,934 ล้านบาท จากความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีและข้าวนาปรังเป็นหลัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีมูลค่าความเสียหาย 11,354 ล้านบาท จากผลผลิตอ้อยและข้าวนาปีที่เสียหายมาก สำหรับพื้นที่ภาคใต้จะมีความเสียหายเพียง 165 ล้านบาท จากความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปี (รูปที่ 5)
รูปที่ 5 : ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งและน้ำท่วม จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคกลาง
จะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
ปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนฉุดเศรษฐกิจไทย เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว
SCB EIC ประเมินความเสียหายภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในปี 2023 และต่อเนื่องมาปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อ ผ่านผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นจากความเสียหายผลผลิตในภาคเกษตรไทย รวมถึงผลกระทบทางอ้อมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นความต้องการปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี และ เครื่องจักรกลการเกษตร อีกทั้ง อุตสาหกรรมที่พึ่งพาสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานน้ำตาล และ โรงสีข้าว หรืออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่พึ่งพากำลังซื้อจากเกษตรกร เช่น จักรยานยนต์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน โดย SCB EIC ประเมินภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2023 และ 2024 ขยายตัวลดลงรวม -0.34 percentag points (pp) เทียบกับกรณีที่ไม่เกิด “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” แบ่งเป็นความเสียหาย -0.13pp และ -0.21pp ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ ทั้งนี้หากเทียบกับการประเมินผลกระทบ ณ เดือน ก.ย. 2023 พบว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจลดลง -0.16pp สาเหตุจากปริมาณฝนตกช่วงปลายปี 2023 มากกว่าที่คาด ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปี 2024 จะได้รับความเสียหายน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้
นอกจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตรและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญกดดันเงินเฟ้อไทยในปี 2024 โดยเฉพาะราคาข้าวและน้ำตาล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อราว 5% SCB EIC ประเมินราคาข้าวและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากผลทางตรงและผลทางอ้อม (Second-round effect) ผ่านการปรับขึ้นราคาของสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) ราว 0.3pp ซึ่งราคาสินค้าที่สูงขึ้นในหมวดข้าว น้ำตาลและสินค้าอาหารที่เกี่ยวข้องจะส่งผลกดดันค่าใช้จ่ายครัวเรือนมากยิ่งขึ้น
จับตาความเสี่ยงจากน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังปี 2024
แบบจำลองสภาพอุณหภูมิน้ำทะเลโลก คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ (แล้ง) จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2024 และมีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (น้ำมาก) ในช่วงเดือน ก.ย. 2024 ข้อมูล
ของสถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะร้อนแล้ง มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2024 โดยความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญในเดือน เม.ย. 2024 อยู่ที่ 84% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 46% ในเดือน พ.ค. 2024 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าความน่าจะเป็นที่สภาพอุณหภูมิน้ำทะเลโลกจะอยู่ในสภาวะเป็นกลาง (53%) โดยสภาวะดังกล่าว ซึ่งทำให้สภาพอากาศในไทยอยู่ในภาวะปกติ คาดว่าจะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. หลังจากนั้น ในเดือน ก.ย. โลกมีโอกาสที่จะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา ด้วยความน่าจะเป็น 52% ซึ่งสูงกว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญหรือสภาวะเป็นกลางค่อนข้างมาก (รูปที่ 6) โดยปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ฝนในไทยตกมากกว่าปกติและอาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ดังที่เคยเกิดขึ้นล่าสุดในปี 2022 และรุนแรงสุดในปี 2011 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์สภาพอากาศในระยะไกลยังมีความแม่นยำต่ำ ดังนั้น จะต้องพิจารณาความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอีกครั้งในช่วงเดือน พ.ค. ปีนี้
รูปที่ 6 : ปรากฏการณ์เอลนีโญ (แล้ง) จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2024 และมีโอกาสที่โลกจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา (น้ำมาก) ในช่วงเดือน ก.ย. 2024
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IRI
2 แนวทาง 3 กลไก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร
มูลค่าความเสียหายต่อภาคเกษตรที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2023 สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังส่งผลให้รูปแบบการเกิดฝนในไทยมีความแปรปรวนมากขึ้น กล่าวคือ ในช่วงที่มีฝนตก ฝนก็จะตกหนักมาก หรือในช่วงที่มีฝนแล้ง ฝนก็จะแล้งหนักมากเช่นเดียวกัน ซึ่งการเกิดฝนในรูปแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ในแต่ละช่วงเวลาและทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมบ่อยขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรและส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยปัญหาภัยแล้งรุนแรงและปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งหากอุณหภูมิโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปริมาณฝนในไทยมีความแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งรุนแรง ยาวนานและถี่ขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้น SCB EIC ขอเสนอ 2 แนวทาง 3 กลไก (รูป 7) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร ดังต่อไปนี้
รูปที่ 7 : SCB EIC เสนอ 2 แนวทาง 3 กลไก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
แนวทางที่ 1. ยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการปริมาณน้ำ (Supply) ด้วยการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (Water infrastructure) เพื่อกักเก็บและกระจายน้ำ
1.1 สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ การลงทุนในแหล่งกักเก็บน้ำจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลในการกระจายตัวของน้ำในมิติด้านเวลา กล่าวคือ แหล่งกักเก็บน้ำจะทำหน้าที่เก็บเกี่ยวน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนมาก
เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย โดยแหล่งกักเก็บน้ำสามารถสร้างได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ สระ และแท็งก์น้ำ โดยในระยะสั้นอาจเน้นลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น สระ ขณะที่ในระยะยาวอาจพิจารณาลงทุนในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลาง ซึ่งประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเพิ่มความจุแหล่งกักเก็บน้ำได้อีกมาก สะท้อนได้จากข้อมูลของกรมชลประทานในปี 2023 ที่ชี้ให้เห็นว่า ความจุของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
และกลางของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10.1% ของปริมาณฝนที่ตกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2012 – 2021
และข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2022 ที่ชี้ให้เห็นว่ามีครัวเรือนเกษตรเพียง 0.28 ล้านครัวเรือนที่มีแหล่งน้ำ (บ่อน้ำตื้น และสระน้ำ) เป็นของตนเองหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13.5% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมดที่ให้ข้อมูลแหล่งน้ำ ในขณะเดียวกันมีครัวเรือนเกษตรเพียง 0.31 ล้านครัวเรือนที่เข้าถึงแหล่งน้ำสาธารณะ (หนอง/สระ คลองชลประทาน แม่น้ำ บ่อบาดาล) หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15.0%
ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมดที่ให้ข้อมูลแหล่งน้ำ
1.2 สร้างระบบการผันน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำส่วนเกินไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลน การลงทุนสร้างระบบผันน้ำจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลในการกระจายตัวของน้ำในมิติด้านพื้นที่ กล่าวคือ ระบบผันน้ำจะช่วยส่งน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำมากไปสู่พื้นที่ที่มีน้ำน้อย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ โดยการผันน้ำจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างระบบท่อส่งน้ำหรือการขุดคลองส่งน้ำ เป็นต้น
แนวทางที่ 2. ยกระดับประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Demand) ด้วยมาตรการรักษาความชื้นในดิน การปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำและกระบวนการเพาะปลูกพืช
2.1 มาตรการรักษาความชื้นในดิน จะช่วยลดความต้องการใช้น้ำในแปลงเกษตรได้ โดยการรักษาความชื้นในดินสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการคลุมดินด้วยวัสดุคลุมดินต่าง ๆ เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือการปลูกพืชคลุมดินต่าง ๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้ การลดการไถพรวนหรือไม่มีการไถพรวน ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยรักษาความชื้นภายในดินได้ โดยมาตรการเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น
2.2 การปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำ จะสามารถช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกลงได้ ตัวอย่างเช่น
การปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำมาใช้เป็นระบบน้ำหยด หรือการปรับพื้นที่นาให้เรียบเสมอกันด้วยเลเซอร์
จะช่วยลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ได้ เป็นต้น
2.3 การปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกพืช เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากภาวะฟ้าฝนแปรปรวนได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเกิดฝนที่เปลี่ยนแปลงไป
การดำเนินการตาม 2 แนวทางดังกล่าว จะสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมี 3 กลไกมาช่วยสนับสนุน ดังนี้
1. กลไกเชิงนโยบาย เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามสร้างกลไกเชิงนโยบายที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาโดยตลอด เช่น การออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำในปี 2018 เพื่อใช้เป็นกติกา
ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำครอบคลุมในทุกมิติ มีประสิทธิภาพและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำของไทยยังขาดความเป็นเอกภาพ เนื่องจากกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ ทรัพยากรน้ำ บางส่วนยังไม่มีการบังคับใช้ ดังนั้น การเร่งออกกฎหมายลูก เช่น การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ จึงมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดกลไกการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ผ่านการกำหนดเงื่อนไขในการให้เงินอุดหนุน การเพิ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ หรือแม้แต่การให้เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เช่น เงินทุนสนับสนุนสตาร์ตอัปที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านน้ำ (Water tech) หรือสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ทนแล้งและทนน้ำท่วม ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำได้
2. กลไกทางการเงิน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เช่น การลงทุนสร้างแหล่งน้ำ การปรับพื้นนาให้เรียบเสมอกัน เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผล ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงจากฟ้าฝนแปรปรวน ซึ่งงานวิจัยของโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ในการสร้างระบบประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพในไทย ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การพัฒนาข้อมูลความเสี่ยงภาคเกษตร การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยแก่เกษตรกร เป็นต้น
3. กลไกการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันทำให้เราสามารถสร้าง เก็บ เชื่อมโยง วิเคราะห์ ประมวลผลและส่งต่อข้อมูลน้ำที่ละเอียดระดับรายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง
ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำได้ มีดังต่อไปนี้
I. เทคโนโลยีเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถช่วยวัดระดับความสูงของน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ได้ หรือโดรน ที่สามารถใช้บินสำรวจสถานการณ์น้ำ หรือแม้แต่ดาวเทียมที่สามารถใช้ถ่ายภาพสภาพอากาศ เช่น การก่อตัวของพายุและการเคลื่อนตัวของพายุ ตลอดจนถ่ายภาพพื้นที่แหล่งน้ำทั่วประเทศและพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสามารถนำมาใช้ระบุปริมาณน้ำต้นทุนและการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ในระดับรายแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรได้
II. เทคโนโลยีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถรองรับการเก็บข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในอดีต เปิดโอกาสให้มีการเก็บข้อมูลชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เช่น ปริมาณฝน ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ความชื้นในดิน
ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์และออกแบบแนวทางในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
III. เทคโนโลยีการเชื่อมต่อข้อมูล เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายมือถือ สามารถใช้เชื่อมโยงการทำงานและการส่งต่อข้อมูลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ เช่น การส่งข้อมูลระดับน้ำจากเซ็นเซอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง หรือการส่งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม เข้าสู่มือถือของเกษตรกร เป็นต้น
IV. เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (Artifical Intellignece) ที่สามารถนำมาช่วยวิเคราะห์การไหลของน้ำและสร้างระบบพยากรณ์น้ำท่วมล่วงหน้าที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ หรือนำมาช่วยในการพยากรณ์การเกิดฝน
ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนในการเพาะปลูกและการดูแลพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเตรียมการรับมืออย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็น โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและเกษตรกร ซึ่งหากทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการจัดการน้ำได้ ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคเกษตรไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/water-security-230124
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี (kaittisak.kumse@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ข่าวเด่น