SCB WEALTH มองตลาดตราสารหนี้ในปี 2567 ยังสร้างผลตอบแทนได้ดี จากอานิสงส์ดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มปรับตัวลงในอนาคต หุ้นกู้ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยยาว จ่ายดอกเบี้ยรับคงที่ แนะลงทุนหุ้นกู้ต่างประเทศ Investment Grade ระวังการลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศ High Yield หวั่นมีความเสี่ยงการชำระหนี้ โดยเฉพาะผู้ออก rollover ช่วงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่วนหุ้นกู้เอกชนไทยไม่น่ากังวล มี High Yield ต่ำกว่า 10% ของตราสารหนี้ในตลาดทั้งหมด คาดปีนี้มีหุ้นกู้ออกใหม่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็น High Yield 1.3 แสนล้านบาท แนะควรกระจายความเสี่ยง ลงทุนในแต่ละหลักทรัพย์ไม่มาก และศึกษาเงื่อนไขการลงทุนอย่างรอบคอบ หากไม่พร้อมลงทุนด้วยตนเอง แนะเลือกลงทุนผ่านกองทุน SCBDBOND
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปี 2567 คาดว่าจะยังสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงสุด และมีแนวโน้มปรับตัวเป็นขาลงในอนาคต จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ซึ่งตราสารหนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่ มีอายุเฉลี่ยยาว และจ่ายดอกเบี้ยรับ (coupon) คงที่ โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลง ราคาของพันธบัตรมักจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนนอกจากจะได้รับผลตอบแทนจาก Coupon แล้ว ยังจะได้รับผลตอบแทนจาก capital gain เพิ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า นับจากวันที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นครั้งสุดท้ายไปอีก 12 เดือนข้างหน้า ตราสารหนี้ต่างประเทศจะทำผลงานได้ค่อนข้างดี เช่น ในปี 2527 , 2532 ,2538 , 2543 , 2549 และ 2551 เมื่อดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดแล้วหยุดขึ้น หุ้นกู้สามารถให้ผลตอบแทนได้ในระดับ 10-24% และเมื่อเข้าสู่วงจรที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลงใน 1-2 ครั้งแรก ใน 6-12 เดือนข้างหน้า ตราสารหนี้ก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำผลงานได้ดีมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ทำได้ ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เมื่ออยู่ในช่วงดอกเบี้ยหยุดขึ้นอาจจะยังทำผลงานได้ดี แต่เมื่อดอกเบี้ยเริ่มลดลงครั้งแรก จะทำผลงานได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (underperform) หรืออาจให้ผลตอบแทนติดลบ
สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในปีที่ผ่านมา สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี โดยกลุ่มตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่ลงทุนได้ และ มีความเสี่ยงสูง ประเภท หุ้นกู้ High Yield สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 13.5% เป็นผลจากตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงปลายปี โดยมองว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางชะลอตัวอย่างช้าๆ (Soft Landing) จากช่วงต้นปีที่มองว่าเศรษฐกิจอาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) นักลงทุนจึงพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk on) เป็นผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้สร้างผลงานได้ดีช่วงปลายปี รวมถึงตราสารหนี้ High Yield ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567-2568 นี้ จะเริ่มมีอุปทาน High Yield ออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากมีบริษัทจำนวนมาก ที่ต้องการออกหุ้นกู้ High Yield เพื่อนำไปชำระหนี้เดิม (rollover) แม้จะมีความท้าทายที่จะต้องออกหุ้นกู้ ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่งบดุลของบริษัทที่ออกตราสารประเภทนี้อาจไม่ได้ดีเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มองว่า ตราสารหนี้ High Yield อาจไม่น่าสนใจลงทุน และต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการ rollover มากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่มาจากความสามารถในการชำระหนี้ กรณีที่ต้อง rollover ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ จึงแนะนำให้นักลงทุนควรมีตราสารหนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ในระดับค่อนข้างต่ำ ควรมีตราสารหนี้ประมาณ 70-80% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แต่หากรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง อาจมีตราสารหนี้ 50-60% และส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง
นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนไทย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ขณะที่ตราสารหนี้ High Yield หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต มีต่ำกว่า 10% ของหุ้นกู้ทั้งหมด ดังนั้นตลาดโดยรวมจึงยังไม่น่าเป็นห่วง และคาดว่าในปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม ที่ครบอายุประมาณ 1 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่ม Investment Grade มีความต้องการซื้อเข้ามาตลอดเวลา จึงไม่มีปัญหาในการ rollover เมื่อมีการออกหุ้นกู้ใหม่ ส่วนหุ้นกู้ประเภท High Yield ออกใหม่ คาดว่าจะมีประมาณ 1.3 แสนล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเรามองว่า ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ควรเน้นคัดเลือกอุตสาหกรรมที่ไม่น่ากังวล มีหนี้สินต่อทุนยังต่ำ และ แนวโน้มธุรกิจมีการเติบโตได้ดี
สำหรับข้อแนะนำการลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ควรกระจายความเสี่ยง ลงทุนในแต่ละตัวไม่มาก และให้ความสำคัญในการดูเงื่อนไขของหุ้นกู้ประกอบให้มาก เช่น เป็นหุ้นกู้ประเภทไหน มีหลักประกันหรือไม่ หลักประกันนี้ยึดได้ทันทีที่ผิดนัดชำระเลยหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรลงทุนหุ้นกู้ที่มีระดับความเสี่ยงลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ส่วนในกรณีที่มองว่าไม่สามารถคัดเลือกหุ้นกู้เองได้แบบละเอียดถี่ถ้วน แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Dynamic Bond หรือ SCBDBOND ที่เน้นคัดเลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนที่มีคุณภาพสูง อยู่ในระดับ Investment Grade ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถช่วยลดความกังวลต่อเครดิตเรตติ้งของตราสารหนี้ให้นักลงทุนได้ระดับหนึ่ง กองทุนนี้มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับกลยุทธ์เพิ่มหรือลดอายุของตราสารหนี้ (Duration) เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะตลาด ช่วยสร้างผลตอบแทนบนสภาวะดอกเบี้ยในสถานการณ์ดอกเบี้ยทุกรูปแบบได้
คำเตือน
· การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
· กองทุน SCBDBOND เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ มีความเสี่ยงระดับ 4 คือ ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
· เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
· ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จาก website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด
· สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
ข่าวเด่น