เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.สรุปประเด็นโฆษกพบสื่อประจำเดือนมกราคม 2567 (BOT Monthly Briefing)


น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) พร้อมผู้บริหาร ธปท. น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ร่วมให้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและการเงินในโอกาส BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อประจำเดือนมกราคม 2567 (BOT Monthly Briefing)


โดยมีสาระสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด 19 แล้ว แต่ยังโตต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมิติ GDP และการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้นและเชิงโครงสร้าง 
 
 
1. ปัจจัยเชิงวัฏจักร ในระยะหลัง เศรษฐกิจโลกขยายตัวจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัวลง เห็นได้จากเครื่องชี้ภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมา 14 เดือน ขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน เศรษฐกิจโลกที่โตจากภาคบริการส่งผลให้การส่งออกสินค้าทั่วโลกในปีก่อนหดตัวรวมถึงการส่งออกไทย โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศต้องเผชิญ แต่การส่งออกสินค้าของไทยกลับโตต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นอาการที่ส่อถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งต้องรีบแก้ไข
 
2. ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยในหลาย sector สะสมมานาน และเริ่มเห็นผลรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 2 ส่วน คือ (1) สินค้าที่ไทยเคยทำได้ดี แต่กลับสูญเสียความสามารถในการแข่งขันต่อเนื่อง และ (2) สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกใหม่ที่มาเร็วและแรงกว่าคาด อย่างกระแสดิจิทัล ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก และกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยเสี่ยงที่จะปรับตามไม่ทัน จนซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ลดลงไปอีก
 
(1) ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในบางสาขาที่เคยทำได้ดีมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยค่อนข้างทรงตัวนานกว่า 20 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวของไทยลดลงจาก 25% ในปี 2546 มาอยู่ที่ 13% ในปี 2565 โดยไทยเสียแชมป์และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียตั้งแต่ปี 2555 ส่วนผลผลิตกุ้ง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกกุ้งของไทยลดลงจาก 14% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2565 จากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และระยะหลังยังถูกจีนและเวียดนามตีตลาดจนส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 0.8% ในปี 2565 ขณะเดียวกัน สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในไทยก็ถูกแทนที่จากสินค้าจีน เช่น มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมาไทยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดที่ 14% ด้านความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย แม้ยังแข่งขันได้ แต่คู่แข่งกำลังตีตื้นและบางรายแซงไทยไปแล้ว สะท้อนจากดัชนีการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Development Index (TTDI)) ปี 2564 ซึ่งไทยอยู่อันดับ 36 จาก 117 ประเทศ ใกล้เคียงกับปี 2562 ขณะที่อินโดนีเซียอยู่อันดับ 32 ขยับดีขึ้น 12 อันดับจากปี 2562 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับ 52 ขยับดีขึ้น 8 อันดับ  
 
 
(2) กระแสโลกใหม่จะทำให้การบริโภค การค้า และการลงทุนของโลกเปลี่ยนไป หากผู้ผลิตไทยปรับตัวไม่ทัน จะยิ่งทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
 
• กระแส Digital: ทั่วโลกต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยเสี่ยงตกขบวนทั้งภาคสินค้าและภาคบริการ เพราะไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ำ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ต้องการแล้ว และยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับ AI จึงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น้อย สะท้อนจากการส่งออกในหมวดนี้โตต่ำเพียง 4% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับเวียดนามที่โต 37% ฟิลิปปินส์โต 14% และมาเลเซียโต 10% อีกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางหมวด เช่น Hard Disk Drive  กำลังถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ส่วนภาคบริการของไทยยังอยู่ในโลกเก่า (Traditional services) เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งมี value added น้อยเทียบกับบริการสมัยใหม่ (Modern services) เช่น ธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา ที่ใช้ประโยชน์จาก digital platform และบริการ streaming 
ต่าง ๆ โดยสัดส่วน modern services ต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 14% ต่ำกว่าฟิลิปปินส์และมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 19% และสิงคโปร์ 33%
 
• ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์: การแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นทำให้รูปแบบการค้าของโลกเปลี่ยนไป จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น ลดการนำเข้า ซึ่งกระทบการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี  ที่จีนเร่งลงทุนเพื่อผลิตเองในประเทศทดแทนการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 การส่งออกของไทยในหมวดนี้ไปจีนจึงหดตัวติดกัน 2 ปีล่าสุด โดยปี 2566 หดตัวถึง 22% อีกทั้งจีนยังพยายามหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ มาทดแทนสหรัฐฯ ทำให้สินค้าจีนเข้ามาเจาะตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียนมากขึ้นในระยะหลัง โดยประเทศกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2561 เป็น 23% ในปี 2565 ส่วนภาคบริการ จีนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทำให้กระทบภาคท่องเที่ยวไทยสูง เพราะก่อนโควิดไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนถึง 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 
 
• เศรษฐกิจสีเขียว: แม้ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเกือบ 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทย (ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี) ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้การผลิตรถที่มีอยู่ชะลอลง ซึ่งต้องอาศัยทิศทางเชิงนโยบายและแนวทางดำเนินงานในระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนมากขึ้น
 
 
ภายใต้โลกใหม่ที่เปลี่ยนเร็วและมีการแข่งขันสูง หากปรับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจไทยจะโตช้าลงและจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ สิ่งที่ควรเร่งทำ คือ การปรับกฎกติกาจากภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้าง (supply-side reform) ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ให้เข้าถึงได้ง่าย โดยมีต้นทุนเหมาะสม การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้าง value added การพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill and reskill) ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
 
ที่ผ่านมา ธปท. ได้เร่งวางรากฐานในภาคการเงินเพื่อช่วยให้ภาคเศรษฐกิจปรับตัวได้ทันต่อกระแสโลกใหม่ ทั้งเรื่องดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้ เช่น การมีระบบชำระเงินที่ถูก สะดวก และเร็ว การสร้างกลไก Open data for consumer empowerment ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนเองได้มากขึ้น และช่วยให้ประชาชนและ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผู้ให้บริการก็จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะถูกส่งผ่านไปยังผู้รับบริการ รวมทั้งการผลักดันให้ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ธปท. จะยังแลกเปลี่ยนข้อมูล หารือ และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาต่าง ๆ รวมถึงสมาคม องค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้ได้รับข้อมูลเชิงลึก รอบด้านและทันการณ์ มาใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายให้เหมาะสม ตรงจุด และทันท่วงที
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ม.ค. 2567 เวลา : 16:12:47
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:24 pm