เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special report : "Fed" ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ชี้ยังไม่มีแผนเริ่มลดดอกเบี้ย มี.ค.นี้ตามคาด


 

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเอกฉันท์ ที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 5.25%-5.50% เป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังไม่มีการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในรอบเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินข้อมูลทางเศรษฐกิจได้เพียงพอว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจะปรับลดลงเหลือ 2% ในเร็วๆ นี้
 
เริ่มต้นปี 2567 ด้วยการประกาศการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม 5.25%-5.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 นับว่าเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค. ของปีที่แล้ว ในแถลงการณ์หลังการประชุม Fed ได้ส่งสัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยทาง “เจอโรม พาวเวล” ประธาน Fed ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า เงินเฟ้อเริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากจุดสูงสุด สอดคล้องกับตลาดแรงงานในขณะนี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่ง Fed จะไม่สร้างความผิดพลาดด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงที่สุด (5.25%-5.50%) เป็นเวลานานเกินไปจนกระทบกับระบบเศรษฐกิจ จึงมีความเต็มใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณว่ากำลังกลับสู่สภาวะปกติ
 
โดยสัญญาณทางเศรษฐกิจดังกล่าว คือข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกที่ทำให้แน่ใจได้ว่า แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะลดลงกลับมาสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ตามเป้าประสงค์ของ Fed สำหรับการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา จนเดินทางมาถึงจุดสูงสุดในรอบ 22 ปี  ซึ่งทาง Fed เอง ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ลดลงเหลือ 2.4% ในปี 2567 นี้ 2.2% ในปี 2568 และกลับสู่ระดับ 2% ในปี 2569 ตามเป้าหมาย
 
พร้อมกันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของ Fed ได้ประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า Dot Plot ว่า จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 3 ครั้ง ในปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวมกันเป็น 0.75% (จากเดิมที่ปีที่แล้วส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง)  และยังจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปี 2568 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.00% ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดลดลงสู่ช่วง 2.00-2.25% ซึ่งใกล้กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.50% เป็นช่วงเวลาเดียวกับการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับ 2% พอดี
 
โดยการคาดการณ์ของตลาด รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย หรือ KAsset ประเมินการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า มีแนวโน้มจะปรับลงครั้งแรกในช่วงกลางปีนี้ หรืออาจเริ่มในเดือน พ.ค. ทำให้การแถลงการณ์ของการประชุมล่าสุด ที่ Fed ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะยังไม่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าของเดือน มี.ค. จึงเป็นไปตามกรอบการคาดการณ์ของตลาด  โดยเหตุผลที่ยังไม่เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทางเจอโรม พาวเวล ได้แถลงการณ์ว่า ทางคณะกรรมการยังไม่มั่นใจว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยได้ทันในการประชุมเดือน มี.ค. เนื่องจากต้องรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะให้ความเชื่อมั่นได้ว่า  เงินเฟ้อกำลังมีทิศทางปรับตัวลงไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน แม้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันจะลดต่ำลงมาแล้ว แต่ก็ยังไกลกว่าระดับเป้าหมาย

 
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) จาก Investing.com

อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นความเสี่ยงรอบด้านที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับขึ้นมาสูงได้ อย่างล่าสุด ตามข้อมูลตลาดแรงงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่ง ผิดจากการคาดการณ์ไว้ว่าจะชะลอตัวลง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเพียง 173,000 ตำแหน่ง ภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเกินคาดนี้ เป็นตัวบ่งชี้ว่า การเติบโตของค่าจ้างเพิ่มขึ้น และความคืบหน้าในการปรับสมดุลตลาดแรงงานในปีที่แล้วหยุดชะงัก เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้
 
นอกจากตัวเลขการจ้างงานแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีผลต่อการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยก็ยังรวมถึง ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะมีการประกาศตัวเลข 4 ครั้ง ก่อนถึงการประชุม FOMC เดือน พ.ค.ในรวมถึงจะยังมีรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรอีก 3 ครั้งก่อนการประชุมในเดือนดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ก็คงต้องรอดูว่าหลังจากนี้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นอันส่งผลดีต่อการตัดสินใจของ Fed และทิศทางของตลาดที่ดีขึ้นได้หรือไม่

LastUpdate 04/02/2567 20:23:32 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:41 pm