ทั้งนี้ ธนาคารฯ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับ 20%-30% ต่อปี สอดรับกับทิศทางการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีอัตราเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 138,435 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารฯ มีแผนที่จะดำเนินการตามแผนงานและกลยุทธ์ในอนาคต ในการดำเนินธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการนำระบบดิจิทัลมาใช้ การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารฯ ในภาคธุรกิจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (Home for Cash) ที่เติบโตได้ดี รวมทั้งการมุ่งเน้นคุณภาพของสินเชื่อ และการเฟ้นหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ของลูกค้า และการเข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่าธนาคารไทยเครดิต นับเป็นธนาคารพาณิชย์ในรอบ 10 ปีที่เข้ามาระดมทุน เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในกลุ่มของ Olympus Capital Asia รวมจำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO ในครั้งนี้ โดยในช่วงเปิดจองซื้อหุ้น IPO ธนาคารฯ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อย ตลอดจนนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ระดับโลก ให้ความเชื่อมั่น ตอกย้ำความแข็งแกร่งของธุรกิจ
โดยธนาคารไทยเครดิต มีการดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถครองตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงและแข็งแกร่งในภาคธุรกิจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในประเทศไทย รวมไปถึงบริการเงินฝาก และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ ในระหว่างปี 2556 ถึงปัจจุบัน ธนาคารฯ มีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.2% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 21.8% สะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มีการเติบโตแข็งแกร่งภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งจากรายงานของอิปซอสส์ (IPSOS) ประมาณการว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดของการกู้ยืมนอกระบบอยู่ที่ 235.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 14% ของมูลค่าสินเชื่อภาคครัวเรือนในประเทศไทย สะท้อนโอกาสของธนาคารไทยเครดิตในการสนับสนุนบริการสินเชื่อ
จึงมั่นใจว่า ภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้ ธนาคารฯ จะมีความพร้อมของเงินกองทุนธนาคารฯ สูงขึ้น โดยใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน ภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนประมาณ 1,790 ล้านบาท ธนาคารฯ จะนำไปใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อประมาณ 895 ล้านบาท และปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ประมาณ 895 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารไทยเครดิต ในปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.3 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ
*การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ
ข่าวเด่น