เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มผันผวนอยู่ในระดับสูง จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 - 16 ก.พ. 67) 
 
ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นประกอบกับจับตาการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากอิสราเอลปฎิเสธการเจรจา ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นส่งผลให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยในฝั่งของเศรษฐกิจภายหลังคำสัมภาษณ์ของประธานเฟดบ่งชี้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเป้าหมายอย่างชัดเจนที่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งในปัจจุบัน ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ OECD มองว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ช้าลงกว่าปีที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกองทัพสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าโจมตีฐานทัพต่าง ๆ ของกองกำลังติดอาวุธซึ่งสนับสนุนโดยอิหร่านที่ตั้งอยู่ในอิรักและซีเรีย โดยข้อมูลจากกองทัพสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ากองทัพสหรัฐฯ สามารถที่จะสังหารหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ในจอร์แดน ขณะที่กองกำลังติดอาวุธที่หนุนโดยอิหร่านได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ แห่งหนึ่งในซีเรีย ส่งผลให้ทหารชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เสียชีวิต 6 ราย ทั้งนี้ผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงจำกัด หากสหรัฐฯ และอิหร่านยังไม่มีการเผชิญหน้ากันโดยตรง
 
ตลาดยังคงจับตาการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสครั้งใหม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หลังล่าสุดนายกรัฐมนตรีอิสราเอลปฎิเสธข้อเสนอหยุดยิงของกลุ่มฮามาส ซึ่งยื่นข้อเสนอหยุดยิงเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสละ 45 วัน โดยหากข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจะส่งผลให้ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกลางลดลงโดยเฉพาะบริเวณทะเลแดงแต่กลุ่มกบฎฮูตียังคงยืนยันที่จะปฎิบัติการโจมตีเรือเดินสมุทรในบริเวณจนกว่าอิสราเอลจะยุติการรุกรานฉนวนกาซา
 
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความตึงเครียดมากขึ้น ภายหลังยูเครนยังคงเดินหน้าโจมตีสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ได้โจมตีโรงกลั่นน้ำมันดิบ Volgograd ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโรงกลั่นดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปให้กับกองทัพรัสเซียเพื่อทำสงครามกับยูเครน นอกจากนี้ยังต้องจับการซ้อมรบขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ (NATO) ภายใต้ชื่อปฎิบัติการ “Steadfast Defender 24” ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 22 ม.ค. – 31 พ.ค. 2567 โดยการซ้อมรบนี้ถือเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามเย็น 
 
คำสัมภาษณ์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในรายการ "60 Minutes" ทางสถานีโทรทัศน์ CBS บ่งชี้ว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งนั้น ส่งผลให้ FED จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างชัดเจน โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 67 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ ในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 53.4 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5
 
รายงานฉบับล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2567 ที่ระดับ 4.7% แต่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 5.2% หลัง OECD คาดเศรษฐกิจจีนยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและย่อมส่งผลกดดันต่อการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมัน
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ และดัชนียอดค้าปลีก และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 66 และจีดีพีไตรมาสที่ 4/66 
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 -9 ก.พ. 67)
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขึ้นจากระดับ 2.7% มาอยู่ที่ระดับ 2.9% หลัง OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยจะเติบโตที่ระดับ 2.1% สูงกว่ารายงานครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 1.5% หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงส่งผลให้ OECD คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2/67 ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความตึงเครียดขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนราคา นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่มีแผนเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากต้องปิดโรงกลั่นอย่างกระทันหันในช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่าน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ก.พ. 67 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 427.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.9 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.พ. 2567 เวลา : 10:59:18
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:22 pm