เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "แม้ว่าเม็ดเงิน FDI ในอาเซียนลดลงในปี 2566 แต่ FDI ในภาคอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียและเวียดนามยังเพิ่มขึ้น ไทยควรเร่งนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน"


· ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทิศทาง FDI โลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ที่ผ่านมา มูลค่า FDI โลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3%) เนื่องจากฐานที่ต่ำจากการกลับมาเพิ่มขึ้นของ FDI ในยุโรป ในขณะที่ภูมิภาคอื่น มูลค่า FDI ยังคงหดตัวในปีที่ผ่านมา

 
· การกระจายการลงทุนออกจากจีนทำให้ FDI ของจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 เนื่องจากการปิดโรงงานของบรรษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปในจีนกว่า 10,900 บริษัท ต้องปิดตัวลงในปี 2566

 
· สำหรับภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียและไทย โดยเห็นได้จากมูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสสะสมในช่วงปี 2561 จนถึง ม.ค.-ก.ย. 2566 ของอินโดนีเซียและเวียดนามที่เพิ่มขึ้น 21.4% และ 44.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2560 ในขณะที่ มูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสะสมของไทยและมาเลเซียในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง 20.3% และ 15.3% ตามลำดับ

 
· การลดลงของมูลค่า FDI ในอาเซียนในปี 2566 เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการขึ้นดอกเบี้ยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนออกไปก่อน แต่สำหรับอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน เม็ดเงินลงทุน FDI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 โดยในเวียดนามการเพิ่มขึ้นของ FDI ในภาคอุตสาหกรรมนั้นมากกว่าการลดลงของ FDI ในภาคธุรกิจอื่น ๆ จนส่งผลให้เม็ดเงิน FDI โดยรวมเพิ่มขึ้น 3.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ในขณะที่อินโดนีเซีย การลดลงของ FDI ในภาคธุรกิจอื่น ๆ มีมากกว่าจนส่งผลให้เม็ดเงิน FDI โดยรวมลดลง 18.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา
 

 
 
· สำหรับประเทศไทย การลดลงของมูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิในปี 2566 กระจุกตัวในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลมาจากการปิดกิจการของธุรกิจต่างชาติ อาทิ การขายกิจการของปั๊ม ESSO รวมทั้งการปิดโรงงานของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า

 
· หากมองเฉพาะในด้านมูลค่าเม็ดเงิน FDI ไหลเข้าในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงิน FDI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเห็นได้จากมูลค่า FDI ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่เพิ่มขึ้น 72% มาอยู่ที่ระดับ 6.6 แสนล้านบาท ในปี 2566 โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.4 แสนล้านบาท (+265%) และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ 8.4 หมื่นล้านบาท (-22%)

· ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เวียดนามและอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงิน FDI ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน ในขณะที่ไทยก็ยังพอมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอยู่บ้าง จึงควรเร่งนโยบายที่เอื้อแก่การลงทุนมากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของเอกสารในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนในการส่งออกนำเข้าสินค้า รวมทั้งการเร่งความคืบหน้าการเจรจาความตกลงทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ EU

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.พ. 2567 เวลา : 16:57:06
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 5:41 pm