การส่งออกไทยในเดือน ม.ค. 67 ขยายตัว 10.0%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 (รูปที่ 1) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดหมู่ ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม นำโดยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ 32.2%YoY ขณะที่ตลาดคู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปขยายตัวมากสุดคือสหรัฐฯ อยู่ที่ 13.7%YoY
นอกจากนี้ การส่งออกไทยไปจีนในเดือน ม.ค. 67 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 2.1%YoY โดยผลไม้กลับมาเป็นแรงหนุนสำคัญ (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนสดยังคงหดตัวเป็นเดือนที่ 3 เพราะอยู่นอกฤดูกาลส่งมอบสินค้า แต่
การส่งออกลำไยและมังคุดสดที่เพิ่มขึ้นเข้ามาสนับสนุน รวมถึงการหนุนจากสินค้าส่งออกอื่นๆ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ที่ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากความต้องการสินค้าในตลาดจีนที่มีมากขึ้นในช่วงตรุษจีนเดือน ก.พ.67 และปัจจัยฐานที่ต่ำ
ท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลแดงที่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกของไทยไปตลาดยูโรโซนในเดือน ม.ค. 67 ยังคงขยายตัวที่ 4.5%YoY และนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยมีการส่งออกรถยนต์ และ อัญมณีและเครื่องประดับ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์ในทะเลแดงยังคงยืดเยื้อมายังเดือน ก.พ. 67 และหากเหตุการณ์ไม่ยกระดับขึ้น คาดว่าค่าขนส่งได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว (รูปที่ 3) ซึ่งช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อการส่งออกสินค้าไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวก็ยังเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2.0%YoY โดยการฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปีก่อนหน้า นำโดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอกส์ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อีกทั้ง ความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงิน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ข่าวเด่น