ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 - 1 มี.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูงเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิศาสตร์ทั้งในฝั่งภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหากอิสราเอลเริ่มปฎิบัติการภาคพื้นดินในเมืองราฟาห์ อาจส่งผลให้ชาติในตะวันออกกลางเข้ามาร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้เพิ่มขึ้น ด้านสถานการณ์ในยุโรปมีความตึงเครียดเช่นเดียวกัน เนื่องจากต้องจับตามาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซีย ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในกลุ่ม OPEC มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากอิรักให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง ด้านการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. เพื่อรองรับอัตรากลั่นที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าคาด
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สถานการณ์ความขัดแย้งภายในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอิสราเอลได้กำหนดเส้นตายว่าหากกลุ่มฮามาสไม่ดำเนินการปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่ควบคุมอยู่ในฉนวนกาซา ภายในวันที่ 10 มี.ค. นี้ กองทัพอิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการทางการทหารภาคพื้นดินเพื่อโจมตีเมืองราฟาห์ ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมในความขัดแย้งนี้มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าจะมีปฎิกิริยาตอบโต้ต่ออิสราเอลอย่างแน่นอนหากมีปฎิบัติการทางการทหารเกิดขึ้น โดยหากเกิดการตอบโต้ดังกล่าวขึ้นอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโดยเฉพาะในตะวันออกกลางมีความตึงตัวมากขึ้น
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนใกล้ครบรอบ 2 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.65 ล่าสุดสถานการณ์ดังกล่าวมีความตึงเครียดมากขึ้น ภายหลังรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจอาวุธของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ากองทัพรัสเซียมีการใช้ขีปนาวุธเซอร์คอน ซึ่งถือเป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงในการโจมตียูเครน นอกจากนี้ยังต้องจับตามาตรการการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียครั้งใหม่ที่จะออกมา ว่าจะมีมาตรการใดที่จะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันหรือไม่ โดยการคว่ำบาตรดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการเสียชีวิตของนายอเล็กเซ นาวาลนี ซึ่งถือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและแกนนำฝ่านค้านของรัสเซีย
อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น ภายหลัง Reuters รายงานว่าอิรักเตรียมลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดือน ก.พ. – พ.ค. 67 เพิ่มเติม หลังกำลังผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 4.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าโควต้าที่ระดับ 4.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้อาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นอีกชาติสมาชิกในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ OPEC+ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 67 ที่ระดับ 0.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.7%
รายงานของ Energy Aspects ฉบับเดือน ก.พ. 67 คาดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. จะอยู่ที่ระดับ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเนื่องจากโรงกลั่นเตรียมนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอัตราการกลั่นที่จะปรับตัวสูงขึ้น
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีกำหนดการจะแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และคณะกรรมการธิการของวุฒิสภาในวันที่ 6 และ 7 มี.ค. 67 ตามลำดับ โดยตลาดคาดคำแถลงการณ์ของประธาน FED น่าจะบ่งชี้ว่า FED ยังคงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 – 5.50% จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ 3.1% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.9% เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ม.ค. 67 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.9% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 3.7% นอกจากนี้ความท้าทายจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง จะยังคงเป็นอีกปัจจัยที่หนุนอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูง
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อันได้แก่ จีดีพีไตรมาสที่ 4/66, ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เดือน ม.ค. 67 และรายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของหสรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน เดือน ก.พ. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 ก.พ. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มซบเซาลงเพราะสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุในรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือน ก.พ. 67 ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อุปสงค์น้ำมันของโลกในปี 2567 จะปรับเพิ่มเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงเกือบ 50% จากปี 2566 และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในปี 2030 เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ เนื่องการโจมตีเรือพาณิชย์ของกลุ่มกบฏฮูติในทะเลแดงด้วยโดรนและขีปนาวุธได้โจมตีเรืออย่างน้อย 4 ลำ นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาสร้างความกังวลให้กับการขนส่งสินค้าในเส้นทางนี้ ด้านธนาคารกลางของจีน ได้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดสังหาริมทรัพย์ โดยมีมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว จาก 4.2% เป็น 3.95% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังย่ำแย่ และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบ
ข่าวเด่น