การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สวทช. ผนึกกำลัง มธ. และ OR ร่วมวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีพลังงานทดแทน และพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน


 
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ภายใต้สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ พลังงาน และนาโนเทคโนโลยี โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในการลงนาม ซึ่งนำการแถลงโดย ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา สวทช. รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางกาญจนี อุดมกุลวณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักวิจัยในโครงการ เข้าร่วมในงาน

 
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระหว่าง สวทช. มธ. และ OR ครั้งนี้ สอดรับกับนโยบายของกระทรวง อว. โดยท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green พอเพียง ความยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งประเด็นที่ อว. จะมุ่งเน้นคือการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเน้นหลักการสำคัญคือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” ซึ่งเอกชนผู้ใช้ประโยชน์จะกำหนดทิศทางโจทย์วิจัย แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของ อว. เข้าไปสนับสนุน พร้อมปลดล็อกระเบียบข้อจำกัดต่าง ๆ เน้นส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ SMEs และเอกชนขนาดใหญ่

 
กระทรวง อว. มีหลายกลไกสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมี 2 แพลตฟอร์มที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ที่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ 2) โครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม หรือ Talent Mobility เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน และ 3) International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มธ. และ Queen’s University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร โดยศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารนี้ มุ่งผลิตงานวิจัยระดับโลก เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน
 

 
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา สวทช. เปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และแลกเปลี่ยนบุคลากร ให้เกิดเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกสาขาความเชี่ยวชาญของทุกศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยปัจจุบันมีความร่วมมือ ดังนี้

 
1) โครงการวิจัยการพัฒนาระบบตรวจวัดสำหรับการวิเคราะห์เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิงในตำแหน่งที่ต้องการ เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดยเอ็มเทค เนคเทค และ IJC-FOODSEC ภายใต้ไบโอเทค-มธ.-QUB ด้วยงบประมาณจาก OR โดยมี ดร.ธนศาสตร์ สุขศรีเมือง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนวัตกรรมการดัดแปรวัสดุ เอ็มเทค เป็นหัวหน้าโครงการ
 

 
2) โครงการสนับสนุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกภาคอุตสาหกรรม (Industrial Postdoc) ภายใต้ทุน บพค. โดยมี ผศ.ดร.อวันวี เพชรคงแก้ว อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มธ. เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้โครงการวิจัยของ OR ร่วมกับเอ็มเทคและเนคเทค

 
3) โครงการร่วมวิจัยการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกาแฟ เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดยไบโอเทค และทีมวิจัยจาก OR โดยมี ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผอ.กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค เป็นหัวหน้าโครงการ
 

 
 
 
นอกจากนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานยังมีความสนใจร่วมมือวิจัยพัฒนาในหลายสาขา เช่น การวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอาหาร (food waste) จากร้านอาหารภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. การวิจัยพัฒนาในด้านพัฒนาพันธุ์กาแฟสำหรับคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ OR ร่วมกับทีมวิจัยไบโอเทค เป็นต้น
 

 
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในทุกมิติ มหาวิทยาลัยมีทีมคณาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่หลากหลายในหลายสาขาวิชา ซึ่งทุกท่านมีความสามารถในการบ่มเพาะและสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ผ่านการดำเนินงานของ IJC-FOODSEC ซึ่ง มธ. คาดหวังให้การผนึกกำลังระหว่าง IJC-FOODSEC และภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นหนึ่งใน Game changer สำหรับการพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศ และมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิต่อไป

 
นางกาญจนี อุดมกุลวณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (OR) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ OR มุ่งเน้นงานวิจัยในด้าน Seamless mobility ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง Petroleum products และ New Energy รวมถึงงานวิจัยด้าน Technology for Life ในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Smart sensor, Smart Grid และการวิจัยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในหัวข้อ Waste management และ Circular economy เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจร่วมกับสังคมชุมชนอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางเพื่อการบรรลุอนาคตที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR หรือ “OR SDG” โดยเฉพาะในด้าน “G” หรือ “GREEN” ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) ด้วยการส่งเสริมธุรกิจทุกประเภทของ OR ให้เป็นธุรกิจสีเขียว โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณขยะที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มปริมาณการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 00 0000 เวลา : 19:59:06
28-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 28, 2024, 12:34 pm