แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์ร่วมกับศศินทร์มอบรางวัลเชิดชูเอสเอ็มอีไทย 5 บริษัท คว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 19 โชว์วิสัยทัศน์ทำธุรกิจยั่งยืนสู่อนาคต


 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัลให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่สร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้อย่างโดดเด่นและสามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ด้วยพลังผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืน โดยประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 19 ยกย่อง 5 ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพนำพาธุรกิจฝ่าฝันจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ 5 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด  บริษัท โกไฟว์ จำกัด บริษัท ชู โกลบอล จำกัด บริษัท ลายวิจิตร จำกัด และบริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด โดยมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล
 
 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงหลังวิกฤติการณ์โควิด 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลและบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรให้บุคลากรมีความตื่นตัวที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมให้มีความคล่องตัว ทันต่อเทคโนโลยี ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และทันต่อคู่แข่งจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งนับเป็นหัวใจในการทำธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต 
 
 
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญและพร้อมเป็นที่ปรึกษาธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและช่วยพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว  โดยมองว่าเอสเอ็มอีเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้จักและเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงดังวิสัยทัศน์ของธนาคารในการเป็น Digital Bank with Human Touch ที่รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก นอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว ธนาคารมองว่าการเสริมภูมิองค์ความรู้ที่จำเป็นก็เป็นอีกบทบาทที่ธนาคารให้ความสำคัญเพื่อติดปีกให้เอสเอ็มอีไปได้ไกลกว่าเดิม หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวน การพัฒนา Digital Platform ต่างๆ ก็จะช่วยตอบโจทย์ให้เอสเอ็มอีลดต้นทุน และมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยธนาคารเชื่อว่าพลังแห่งเทคโนโลยีจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี สำหรับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ธนาคารสนับสนุน ยกย่องเชิดชูเกียรติธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ประกอบการ รายอื่นๆ 

 
สำหรับการตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในครั้งที่ 19 นี้ มีธุรกิจที่ได้รับรางวัล จำนวน 5 ราย ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ให้มีความกล้าที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยมีธุรกิจที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ดังนี้ 

 
1. บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จากไอเดียตั้งต้นที่ตั้งใจซื้อที่ดินบริเวณหุบเขาอโศก เขาใหญ่ ไว้ทำไร่องุ่นเป็นที่พักตากอากาศผนวกกับการมองเห็นโอกาสธุรกิจไวน์ในประเทศไทยที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักร “กราน-มอนเต้” ที่ไม่ได้มีเพียงไวน์ไทยเป็นไฮไลท์ แต่ยังต่อยอดไปสู่อีกหลากหลายธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน บุกเบิกการผลิตไวน์ไทยให้พัฒนาสู่มาตรฐานสากลและเป็นไวน์หนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เสิร์ฟในงานประชุมเอเปค 2022 สะท้อนคุณภาพไวน์ไทยแก่ผู้นำระดับโลก พร้อมสร้างความยั่งยืนด้วยการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมด้วยการนำ Zero waste ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น
 
 
 
2. บริษัท โกไฟว์ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise)  การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จากแรงบันดาลใจในการ Transforms ธุรกิจของครอบครัวให้เปลี่ยนจากการใช้ระบบเอกสารมาสู่ระบบดิจิทัลได้สำเร็จ โกไฟว์จึงได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ระดับมาตรฐานสากล ที่จะช่วยยกระดับระบบการทำงานด้านต่างๆ ของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น โปรแกรม empeo ที่ช่วยบริหารงาน HR แบบครบวงจร โปรแกรม Venio ที่ช่วยบริหารงาน CRM บริหารทีมขาย และดูแลลูกค้า ซึ่งทั้งสองโปรแกรมนี้ได้รับรางวัล Thailand ICT Awards สาขา Big data และ Business Service จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลและช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีบุคลากรน้อยกว่า 20 คน ให้ใช้ซอฟต์แวร์ empeo ได้ฟรี เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
 
 
 
 
3. บริษัท ชู โกลบอล จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และ การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบแฟชั่น มีการ Mix & Match สไตล์เครื่องแต่งกายใช้เองด้วย Sense of Fashion จนสามารถทำรายได้เลี้ยงตนเองได้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา แบรนด์ SHU สะท้อนภาพลักษณ์ด้วยคอนเซ็ปต์ Everyday Lifestyle Fashion และเป็นผู้พัฒนารองเท้า SOFASHOES ที่ผ่านการรับรองโดยแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ว่ารองเท้าช่วยลดอาการจากโรครองช้ำได้จริง  จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2013 โดดเด่นด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถนำพาแบรนด์ไทยให้ก้าวเข้าสู่รันเวย์ระดับโลกได้ รวมถึงสร้างความยั่งยืนด้วยการออกแบบสินค้าให้มีสไตล์การใช้งานได้ยาวนานในทุกยุคสมัย เพื่อช่วยลดการเกิดขยะ พร้อมวางแผนจะนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมาใช้ในการผลิตสินค้าในอนาคต
 
 
4. บริษัท ลายวิจิตร จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และ การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) จากโรงงานไม้ เจี่ย เซ่ง ฮวด ที่ทำธุรกิจปูพื้นไม้ นำไม้มาแปรรูปทำเป็นไม้ปาร์เกต์ ซึ่งเป็นเจ้าแรกในไทย จนมาเจอวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ออเดอร์จากต่างประเทศลดลง ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้  จึงมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อตอบโจทย์และแก้ Pain point  ให้แก่กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ช่วยลดระยะเวลาในการติดตั้งหน้างาน สามารถให้บริการได้แบบ One Stop Services และตอบโจทย์ลูกค้าด้วยไอเดียเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเดินหน้านำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อป้องกันปัญหาปลวก พร้อมสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจด้วยแนวคิด Zero Waste นำเศษวัสดุเหลือใช้ มาต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ภายใต้แบรนด์ ลลิต บาย ลายวิจิตร อีกด้วย
 
 
5. บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด  ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จากจุดเริ่มต้นธุรกิจโรงกลึง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจผ่านการรับฟังความต้องการของลูกค้า จึงขยายไลน์ธุรกิจมาผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกควบคู่ไปกับโลหะ โดยเป็นผู้ออกแบบ และผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม และพลาสติกสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO 9001 และ IATF โดยพัฒนากระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย มีการนำแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เข้ามาใช้ในโรงงาน จัดทำ Zero Bin อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Zero Waste รวมถึงมีผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเป็นทางเลือกให้ลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ คนใช้ ใส่ใจโลก
 
 
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลรวมครั้งนี้ด้วยแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 99 ราย และมีบริษัทที่ได้รับรางวัลเติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไปแล้ว 15 บริษัท การพิจารณาตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง ผู้ประกอบการที่สมัครเข้ารับการพิจารณาไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์หรือศศินทร์ฯ สนใจสมัครหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.baipo-business-award.org หรือ 02-2184001-9 ต่อ 179
 
บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด  
 
“กราน-มอนเต้” ผู้ผลิตไวน์สัญชาติไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เสริฟในงานเอเปค 2022 สะท้อนคุณภาพไวน์ไทยแก่ผู้นำระดับโลก  
 
จากไอเดียตั้งต้นของคุณพ่อวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ที่ตั้งใจซื้อที่ดินบริเวณหุบเขาอโศก เขาใหญ่ ไว้ทำไร่องุ่นเป็นที่พักตากอากาศในวัยเกษียณ เมื่อ 25 ปีก่อน ผนวกกับการมองเห็นโอกาสธุรกิจไวน์ในประเทศไทยที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักร “กราน-มอนเต้” ที่ไม่ได้มีเพียงไวน์ไทยเป็นไฮไลท์ แต่ยังต่อยอดไปสู่อีกหลากหลายธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงปี 2552 ไวน์ขวดแรกที่เป็นผลผลิตของไร่กราน-มอนเต้ ภายใต้ชื่อสกุณาโรเซ่ ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยฝีมือทายาทคนโตซึ่งมีดีกรีเป็นถึงไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย คุณวิสุตา โลหิตนาวี ด้วยแนวคิดที่ต้องการมีไวน์ไทยดีๆ ให้คนไทยได้ดื่ม  กราน-มอนเต้ จึงให้ความสำคัญกับการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยใช้วัตถุดิบและผลิตในไทยทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การใช้องุ่นที่ปลูกในไทยและหมักไวน์จาก Winery ของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการนำเทคโนโลยี Smart Vineyard และระบบ Micro-climate Monitoring System มาใช้เพื่อให้การวางแผนและการจัดการระบบภายในไร่มีความแม่นยำ และจากแนวคิดที่ว่า ไวน์ที่ดี ต้องมาจากองุ่นที่ดี และไร่ที่เรียบร้อย  สวยงาม สะอาด จึงทำให้ไร่กราน-มอนเต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว  นอกจากนี้ ยังนำธุรกิจ Hospitality เข้ามาผสมผสานกัน  ทำให้ กราน-มอนเต้ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

มากไปกว่านั้น กราน-มอนเต้ ยังให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านการพัฒนาธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยนำ zero waste ที่เหลือจากกระบวนการทำไวน์มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น นำกิ่งก้านใบมาทำปุ๋ย นำเมล็ดองุ่นมาสกัดเป็นน้ำมันองุ่น นำถังโอ๊คที่เลิกใช้แล้วไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือหมักเมล็ดกาแฟ และทำธุรกิจตามแนวคิด เติบโตร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม สร้างงานให้คนในพื้นที่ชุมชน พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปลูกองุ่นในเขตร้อนอย่างยั่งยืน โดยคุณวิสุทธิ์ได้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย เพื่อมุ่งสร้างมาตรฐานให้กับไวน์ไทย

ปัจจุบัน  คุณสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ทายาทคนเล็กของตระกูล ได้เข้ามาช่วยผลักดันด้านการตลาดของธุรกิจ  โดยกราน-มอนเต้เน้นจำหน่ายในประเทศ  80% มีทั้ง B2C คือ ขายผ่านหน้าไร่ ซึ่งทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ลูกค้ามาชมไร่  ส่วนที่เป็น B2B เจาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยงทั่วประเทศ อีก 20% ส่งออกไปขายต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส สวีเดน เป็นต้น
 
บริษัท โกไฟว์ จำกัด 

บริษัท โกไฟว์ จำกัด  เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ที เค เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น Technology Eco-System Provider  โดย คุณจุติพันธุ์ มงคลสุธี ก่อตั้งขึ้นจากแรงบันดาลใจในการ Transforms ธุรกิจของครอบครัวให้เปลี่ยนจากการใช้ระบบเอกสารมาสู่ระบบดิจิทัลได้สำเร็จ  จึงตัดสินใจนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้เห็น pain point ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่อยากจะ Transforms ธุรกิจ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ รวมถึงซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในตลาดไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง มาก่อตั้งบริษัทในปี 2018 เพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ในระดับมาตรฐานสากลและมุ่งเน้นการยกระดับทางธุรกิจให้กับทุกองค์กร  โปรดักส์ของโกไฟว์ ประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เข้าไปช่วยให้ระบบการทำงานด้านต่างๆ ของบริษัท หรือ ภาคธุรกิจสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น อาทิ โปรแกรม empeo ที่ช่วยบริหารงาน HR แบบครบวงจร  และโปรแกรม Venio ที่ช่วยบริหารงาน CRM  B2B บริหารทีมขาย  ช่วยดูแลลูกค้า  เป็นต้น ซึ่งทั้งสองโปรแกรมนี้ได้รับรางวัล Thailand ICT Awards สาขา Big data และ Business Service  จาก สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)

จุดเด่นแพลตฟอร์มของโกไฟว์ คือ พัฒนาฟีเจอร์การใช้งานจาก Customer Journey เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างรอบด้าน มีทีมงานดูแลลูกค้าหลังบ้านผ่าน Live Chat พร้อมระบบเทรนนิ่งออนไลน์ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลในการจ้างพนักงาน IT คิดค่าบริการตามขนาดขององค์กร และใช้โมเดลการเก็บเงินแบบ subscription รานเดือนที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าและ
ทลายข้อจำกัดเดิมอีกข้อหนึ่งซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถนำซอฟต์แวร์จากโกไฟว์เชื่อมต่อเข้ากับระบบงานอื่นๆ ได้อย่างอิสระ 

นอกจากนี้ ด้วยความเข้าใจความต้องการลูกค้า และข้อจำกัดด้านเงินทุนของธุรกิจรายย่อย โกไฟว์จึงได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีบุคลากรน้อยกว่า 20 คน สามารถทดลองใช้ซอฟต์แวร์ empeo ของโกไฟว์ได้ฟรี เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

บริษัท ชู โกลบอล จำกัด
 

 
คุณกรกนก สว่างรวมโชค  ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชู โกลบอล จำกัด เริ่มต้นธุรกิจจากแรงบันดาลใจที่ชื่นชอบแฟชั่น มีการ Mix & Match สไตล์เครื่องแต่งกายใช้เองด้วย Sense of Fashion จนสามารถทำรายได้เลี้ยงตนเองได้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยเริ่มจากร้านขายกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ที่สยามสแควร์ ในชื่อ Sexy de Cute แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงินแฮมเบอร์เกอร์ จึงรีแบรนด์มาสู่ Shuberry  ขยายเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า ก่อนจะรีแบรนด์อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “SHU” ในคอนเซ็ปต์ Everyday Lifestyle Fashion เพื่อยกระดับภาพลักษณ์และสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์ในแต่ละไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละกลุ่มในราคาที่เข้าถึงได้  ปัจจุบันมีหน้าร้านทั้งหมด 41 สาขา ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ และจุดที่ทำให้แบรนด์พลิกผันกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ การพัฒนานวัตกรรมรองเท้า SOFASHOES ที่พื้นมีความนุ่มและรองรับน้ำหนักเท้าได้ดี ผ่านการรับรองโดยแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ว่ารองเท้าช่วยลดอาการจากโรครองช้ำได้ จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2013 ส่งให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  

 
 
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ SHU เป็นแบรนด์ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก คุณกรกนก จึงเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์  และเน้นทำการตลาดเพื่อโปรโมทสินค้าผ่าน Influencer ชั้นนำทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ  และร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นพาร์ทเนอร์ เช่น คุณวทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์แห่ง VATANIKA สร้างสรรค์ผลงานพิเศษ  SHU X VATANIKA โดยผลตอบรับจะเห็นได้จากการที่ SHU ได้รับความสนใจและถูกเลือกใส่จากเหล่าคนดัง เซเลบริตี้ และดารา ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางของแบรนด์  ปัจจุบันขายผ่านช่องทางการขายทั้ง ออฟไลน์ และออนไลน์ โดยในปี 2566 บริษัท ชู โกลบอล จำกัด มียอดขายมากกว่า 300 ล้านบาท

 
 
นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยการออกแบบและผลิตสินค้าให้ทนทาน มีอายุใช้งานได้ยาวนาน และสไตล์ทันสมัยเข้าได้กับแฟชั่นทุกยุค  และในอนาคต SHU ก็มีแผนที่จะนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมาใช้ทดแทนวัสดุในปัจจุบันซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการค้นคว้าวิจัย อันจะนำไปสู่ความยั่งยืน
 
บริษัท ลายวิจิตร จำกัด

จากโรงงานไม้ เจี่ย เซ่ง ฮวด ที่ทำธุรกิจปูพื้นไม้ นำไม้มาแปรรูปทำเป็นไม้ปาร์เกต์ ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกในไทย จนมาเจอวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ออเดอร์จากต่างประเทศลดลง ในประเทศก็เจอวิกฤตความต้องการไม้ปาร์เกต์น้อยลง เพราะลามิเนตและกระเบื้องยางเข้ามาทดแทน  ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้  เมื่อมีลูกค้ารายใหญ่ให้โจทย์มาลองศึกษาการทำบันไดสำเร็จรูปสำหรับทาวน์โฮม จึงพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ และแก้ Pain point   จนสามารถใช้เวลาติดตั้งหน้างานแค่ 3 วัน จากเดิมต้องใช้เวลา 14 วัน   แถมยังไม่ต้องเสียเวลาดีลกับผู้รับเหมาถึง 5 เจ้า สำหรับการทำงานโครงเหล็ก งานบันไดไม้ งานราวบันได งานติดตั้งและงานสี จึงขยับขยายสู่ธุรกิจแบบ One Stop Services ที่ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาเดิมของผู้พัฒนาอสังหาฯ  ผลจากการปรับตัว ทำให้ธุรกิจที่เหมือนจะอยู่ในช่วงขาลงกลายเป็นดาวรุ่ง มีลูกค้าไม่ขาดสาย พร้อมขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสามารถรองรับการติดตั้งงานได้ประมาณ 6,000-7,000 หลังต่อปี

สำหรับสินค้าของ ลายวิจิตร ปัจจุบันครอบคลุมทั้งงานบันไดสำเร็จรูป งานเหล็กภายนอก งานไม้ เฟอร์นิเจอร์บิลด์อิน และยังแตกไลน์สินค้าและบริการมาในกลุ่มครีเอทีฟโปรดักส์ ที่ช่วยลูกค้าบริหารพื้นที่ใช้สอยใต้บันไดให้เกิดประโยชน์ หรือ ลูกค้าประสบปัญหาพื้นบันไดลื่น เสี่ยงต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ ก็มีการพัฒนาไม้บันไดพร้อมลายปาร์เกต์ที่ไม่เพียงช่วยกันลื่น ลดอุบัติเหตุ แต่ยังมีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ 

นอกจากนี้ ลายวิจิตร ยังเดินหน้านำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าอยู่เสมอ อาทิ การเลือกใช้วัสดุประเภทหินและพลาสติกผสมกัน เพื่อป้องกันปัญหาปลวก ออกแบบฟิล์มสำหรับปกป้องบันไดหลังการติดตั้ง ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ไม้บันไดเพื่อช่วยความเสียหายจากการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบรนด์ เมื่อเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ จากเทรนด์รักษ์โลก จึงนำแนวคิดเรื่อง Zero Waste เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปจากเศษไม้เหลือใช้ ภายใต้แบรนด์ลลิต บาย ลายวิจิตร เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า B2C ขณะที่กลุ่มลูกค้า B2B ยังเป็นหน้าที่ของแบรนด์ ลายวิจิตร 
 
บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจโรงกลึงของรุ่นพ่อที่มีประสบการณ์ด้านงานเหล็กมายาวนาน ต่อมาลูกค้ามีความต้องการงานปั๊ม ทำให้ทายาทอย่าง คุณรุ่งโรจน์ บุนฑารักษ์ มองเห็นโอกาสในการที่จะปรับตัว จากโรงกลึงสู่การรับงานปั๊มเหล็ก ควบคู่ไปกับการขายเครื่องจักร  คุณรุ่งโรจน์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการรับฟังความต้องการของลูกค้าเสมอ เมื่อมีลูกค้าจ้างให้ทำฝาน้ำหอมโลหะ แต่พบปัญหาความไม่พอดีเมื่อต้องนำฝาไปประกอบกับขวดของอีกบริษัทหนึ่ง จึงริเริ่มที่จะผลิตขวดและบรรจุภัณฑ์หลายชนิดควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งถึงช่วงที่เทรนด์ความนิยมบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไปเป็นพลาสติกมากขึ้น จึงขยายไลน์ธุรกิจมาผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกควบคู่ไปกับโลหะด้วย

ขณะที่ยอดขายสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณรุ่งโรจน์ ก่อตั้ง บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด เพื่อแยกธุรกิจด้านเครื่องสำอางออกมา และพัฒนาธุรกิจสู่การผลิต รับออกแบบแม่พิมพ์ และจัดทำบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางแบบครบวงจร โดยได้มาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO 9001 IATF รวมถึงอยู่ในระหว่างการดำเนินการขอ British Retail Consortium (BRCGS Packaging) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต ช่วยลดกำลังคน เพิ่มปริมาณผลผลิต และยังลดปริมาณการสูญเสียจากการผลิต   

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้นำแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เข้ามาใช้ในระบบโรงงาน มีการจัดทำ Zero Bin นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง Zero Waste   และพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเทรนด์โลกอยู่เสมอ อย่างในยุคปัจจุบันที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทก็มีการนำเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้าเลือกได้ว่า จะผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล 20-100% หรือเลือกใช้พลาสติกแบบชนิดเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล

LastUpdate 06/03/2567 12:05:56 โดย : Admin
22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 8:49 am