เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "เงินเฟ้อเดือน ก.พ. 2567 ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 5 ติดต่อกัน คาดเงินเฟ้อพลิกกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/2567"


เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนก.พ. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ -0.77% YoY แต่ติดลบลดลงจาก -1.11% YoY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการลดลงของราคาอาหารสดและราคากลุ่มพลังงานจากมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐเป็นหลัก ประกอบกับฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ในขณะที่ หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเล็กน้อยแต่ก็ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.43% YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแอ

 
ในเดือนมี.ค. 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะยังคงติดลบจาก 1) มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานที่ยังมีอยู่ อาทิ การตรึงราคาค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 2) ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกร 3) แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีจำกัดตามโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะติดลบต่อเนื่องแต่มองว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง และหากไม่รวมมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังคงเป็นบวก
 

 
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป เนื่องจากทางภาครัฐมีแนวโน้มลดการอุดหนุนราคาพลังงานและทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นปรับสูงขึ้น ประกอบกับอาจมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธปท. ที่ 1-3% ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 มี.ค. 2567 เวลา : 18:40:38
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:50 pm