บทสรุปผู้บริหาร
· เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ soft-landing ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากภาคอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ซบเซา
· ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในทะเลแดงได้ส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบต่อการค้าโลก โดยเฉพาะระหว่างเอเชียและยุโรปยังไม่เห็นชัด
· เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมชะลอลง โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2566 เติบโตต่ำกว่าคาดที่ 1.7%YoY ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากประมาณการเดิมที่ 3.1%
เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ soft-landing ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงยาวนานขึ้น และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ โดยอาจเริ่มในการประชุมช่วงกลางปีนี้ เช่นเดียวกับยูโรโซนที่แม้มีจะเห็นความคืบหน้าอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่จากค่าจ้างที่ยังคงเร่งตัวและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งในทะเลแดง อาจส่งผลให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิดขึ้นเร็ว โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินประมาณกลางปีนี้
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากภาคอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ซบเซา ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอาจช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ในระดับหนึ่ง แต่แรงหนุนต่อเศรษฐกิจจีนอาจจำกัดเนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มไม่ออกมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในทะเลแดงได้ส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบต่อการค้าโลก โดยเฉพาะระหว่างเอเชียและยุโรปยังไม่เห็นชัด โดยตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยและเกาหลีใต้ไปยุโรปในเดือนมกราคม 2567 ขยายตัวที่ 4.5%YoY และ 5.2% ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้ว แม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
นอกจากนี้ ค่าระวางเรือในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เริ่มส่งสัญญาณปรับลดลง โดยดัชนี World Container Index (WCI) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3,654 ดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567) จากจุดสูงสุดที่ 3,964 ดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า ดังนั้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ได้ยกระดับความรุนแรง ผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการค้าโลกคาดว่าจะยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และต่ำกว่าระดับในช่วงโควิด-19 ที่การขนส่งเกิดภาวะชะงักงันอย่างมาก
เศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมชะลอลง โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2566 เติบโตต่ำกว่าคาดที่ 1.7%YoY และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2566 เศรษฐกิจไทยหดตัว 0.6%QoQ โดยการลงทุนภาครัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่สินค้าคงคลังก็ลดลงจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซาและผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
นอกจากนี้ จากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2567 การบริโภคภาคเอกชนเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคบริการและกลุ่มสินค้าไม่คงทนส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การอุดหนุนราคาพลังงานและมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ
ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาล เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2567 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังคงซบเซา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคม 2567 ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยฤดูกาล อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเพิ่มขึ้นจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีนและมาตรการวีซ่าฟรีระหว่างไทย-จีน
การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2567 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ 10.0%YoY เนื่องจากปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในสินค้าทุกหมวดหมู่ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญก็เพิ่มขึ้นทั้งหมด นำโดยการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งออกไทยอาจเติบโตชะลอลงเนื่องจากฐานที่สูงในบางเดือน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2567 ขยายตัวที่ 2.0%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนมกราคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 35 เดือนที่ -1.11%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.53%YoY โดยมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล ประกอบกับราคาอาหารสดที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่นับว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังคงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2/2567 และมีแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ในปีนี้ จากภาครัฐที่อาจทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานลง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 มาอยู่ที่ 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.1% จากโมเมนตัมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอลงและแรงสนับสนุนทางการคลังที่ต่ำกว่าคาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในปีนี้มีลดลง นอกจากนี้ ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ในขณะที่ แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศเริ่มทรงตัว แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ที่ยังมีต่อเนื่อง ภาคท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยมีแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไทยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ สอดคล้องกับการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงประกอบกับโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงคงส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้
ข่าวเด่น