เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย"


พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย จากที่ทางภาครัฐมีความต้องการให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาเป็นหนึ่งในตัวเลือกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดให้ประเทศไทยนั้น

เมื่อมองไปในแถบอาเซียน จะพบว่า ยังไม่เคยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ในประเทศกลุ่มอาเซียน ขณะที่ ในทวีปยุโรปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มีสัดส่วน 22% โดยประเทศฝรั่งเศสมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มากที่สุดมีสัดส่วน 69% (รูปที่ 1)

 
สำหรับประเทศไทย พลังงานนิวเคลียร์ได้มีการกล่าวถึง ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) ในปี 2015 ก่อนที่จะถูกนำออกจากแผน PDP 2018 อย่างไรก็ดี พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ยังคงถูกพูดถึงอีกครั้งในที่ประชุม APEC summit 2022

พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และระบบพลังงานไฟฟ้าของไทย

พลังงานนิวเคลียร์มีข้อดีหลายประการโดยเฉพาะเป็นพลังงานสะอาด (clean energy) ที่มีความเสถียรภาพ สามารถให้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน สามารถเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าหลัก (baseload) โดยอุปสรรคการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าประเทศในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่อุปสรรคจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี แต่เป็นความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์

มุมมองในเชิงพาณิชย์

ในการเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดจะใช้ Levelized Cost of Electricity” (LCOE) ซึ่งเป็นการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้า ที่คำนวณจากค่าก่อสร้างชื้อเพลิง การเดินเครื่อง และบำรุงรักษา

โดย LCOE-โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สูงกว่า LCOE โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2013 โดยในปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ เท่ากับ 180 USD/MWh สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่างก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน หรือแม้กระทั้งพลังงานหมุนเวียน โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์สูงกว่าพลังงานหมุนเวียนถึง 2.5 – 3 เท่า (รูปที่ 2)

 
ในอนาคตแนวโน้มต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมจะลดลงเรื่อย ๆ จากการวิจัยและพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงด้านนี้เป็นหลัก ขณะที่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น จะไม่ได้รับการสนับสนุนการวิจัย ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Fusion ซึ่งประเด็นด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรงฟ้านิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาพิจารณาเป็นพลังงานทางเลือกในประเทศไทย

ระบบโครงข่ายไฟฟ้าไทยในปัจจุบัน
 
ในปี 2022 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการ 34% โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 49,099 MW สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 32,250 MW ซึ่งหากนำพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ จะไม่ตอบโจทย์เรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าหลัก (baseload) เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากพออยู่แล้ว

ความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ในไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้หากมองเฉพาะปัจจัยต้นทุนและพลังงานทางเลือก พลังงานนิวเคลียร์อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในไทย ณ ตอนนี้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่าพลังงานหมุนเวียน 2 – 3 เท่า และในปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่มีส่วนเกินมากกว่า 34% อยู่แล้ว

แต่อย่างไรก็ดี พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์อาจเข้ามามีบทบาทในฐานะพลังงานสะอาดที่ไทยยังคงมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศในปี 2065 ไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน

ในอนาคตข้างหน้า

พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มีส่วนสำคัญ ในการวางแผนกลยุทธ์ด้านพลังงานในระยะยาว จากข้อดีเรื่องความมั่นคงและเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ถึงแม้ว่าปัจจัยด้านต้นทุน จะทำให้พลังงานนิวเคลียร์อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในขณะนี้ นอกเหนือจากนี้ จะต้องมีการพิจารณาเรื่อง ความพอเพียงของทรัพยากรน้ำ การจัดการกากกัมมันตรังสี ป้องกันการรั่วไหลของรังสี ๆลๆ

อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนของการให้น้ำหนักด้านส่งเสริมพลังงานสะอาดและต้นทุนควบคู่กัน โดยการพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ในไทยสามารถทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. นำเข้ามาใช้ในฐานะพลังงานสะอาด 2. หันไปส่งเสริมพลังงานสะอาดอื่น ๆ แทน และ 3. นำเข้ามาในลักษณะเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors (SMRs)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 มี.ค. 2567 เวลา : 15:03:02
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:33 pm