หุ้นทอง
มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมเครือข่ายพันธมิตร เสริมภูมิคุ้มกันชีวิตตั้งแต่ปฐมวัย ผ่านโครงการพัฒนาทักษะสมอง สร้างต้นแบบบูรณาการแห่งแรกที่จังหวัดเชียงราย


 

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง เสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีจัดการชีวิต โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดเชียงราย ในการให้ความรู้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุขและร่วมกันพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัยอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 5 พร้อมที่จะสร้างเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ โดยกว่า 50 องค์กรในจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยดำเนินการสานต่อการขับเคลื่อนงาน

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และดูแลฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” ที่จังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่ปี 2563 และทำต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 โดยนำแนวคิดการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุข ครูปฐมวัย และผู้ปกครอง โดยได้ทยอยทำมาอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย โดยมีอำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ

“จากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลให้เด็กปฐมวัยกว่าร้อยละ 70 มีระดับทักษะสมอง EF ในระดับดีถึงดีมาก โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของทั้งผู้ดูแลเด็ก และเด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กเลิกติดโทรศัพท์มือถือ มีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ค่อนข้างก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มาเป็นเด็กที่สนใจหนังสือนิทาน เล่นกับเพื่อนได้ และเข้าสังคมได้เป็นปกติ หลังจากที่คุณแม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของเด็กนักเรียนที่สามารถปรับตัวและมีพัฒนาการด้านความจำเพื่อนำมาใช้งาน มีความยืดหยุ่นทางความคิด รู้จักยับยั้งชั่งใจ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีสำนึกรับผิดชอบ มีสมาธิจดจ่อ กล้าริเริ่มและลงมือทำ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีความมุ่งมั่นอดทน หลังจากที่คุณครูได้เข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนแนวทางการดูแลเด็กนักเรียนตามแนวทาง EF โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม รวมทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

“มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่มุ่งมั่นและแข็งขันในทุกภาคส่วน เชียงรายจะเป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างเด็กไทยที่มีคุณภาพ และองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่า ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในวงกว้างทั้งประเทศ อันจะช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนได้”

นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการ จังหวัดเชียงราย และเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริม EF จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อ-แม่ต้องจากบ้านไปทำงาน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด แต่หลังจากที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาขยายผล “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยใช้ต้นแบบ EF จากอำเภอพญาเม็งรายที่ได้ขับเคลื่อน EF ในพื้นที่ จนส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้น โดยมีค่า EF สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ (norm) ถึง 20% มาบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทั้งจังหวัดเชียงราย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานการศึกษาปฐมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในแต่ละอำเภอ ส่งผลให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

เด็กปฐมวัยของจังหวัดเชียงรายที่มีอายุระหว่าง 0-6 ปี มีจำนวน 57,853 คน คิดเป็นร้อย 46.3 ของเด็กและเยาวชน ทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน มีเด็กปฐมวัย ที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 35,377 คน และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ครูปฐมวัย ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการ 39,177 ราย และมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง EF หรือ EF Facilitator กว่า 270 คน ร่วมกันเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงลึกและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก จนถึงประมาณ 25 ปี แต่ช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทักษะสมอง EF มีการพัฒนาเติบโตได้ดีที่สุด ปฐมวัยจึงเป็นการวางเสาเข็มของชีวิต เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมอง หรือ Executive Functions: EF อย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ พร้อมผลักดันพากเพียรพาตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า หากเด็กตั้งแต่ปฐมวัยขาดทักษะ EF จะทำให้ไม่สามารถยับยั้งตนเอง หรืออดกลั้นต่อสิ่งเร้ารอบตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ นำไปสู่การ “ติด” ต่างๆ ในอนาคต เช่น ติดเกม ติดเพื่อน ติดสุรา ติดบุหรี่และยาเสพติด หรือการตกอยู่ในภาวะจิตใจบกพร่อง เช่น ซึมเศร้า จิตเภท กำกับพฤติกรรมตนเองไม่ได้ ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย แต่หากเด็กมีทักษะ EF เขาจะมีความสามารถในการกำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ดี นอกจากนี้ ทักษะสมอง EF เป็นฐานรากของการพัฒนาต่อยอดกระบวนการคิดและบุคลิกภาพที่ซับซ้อนขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น “การคิดขั้นสูง” อันจะนำไปสู่การมี “ทักษะศตวรรษที่ 21” ที่จำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

“ปัญหาเยาวชนไม่ว่า การกราดยิง ความก้าวร้าวรุนแรง ยาเสพติด แม่วัยใส โรคซึมเศร้า ฯลฯ ล้วนมีรากมาจากการเลี้ยงดูพัฒนาในช่วงปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสะสมมาจนปรากฏเป็นความเสียหายในช่วงวัยรุ่น ส่งผลต่ออนาคตที่ง่อนแง่นคลอนแคลน แต่หากเด็กได้รับการพัฒนาให้เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถกำกับตนเองได้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับคนอื่นเป็นตั้งแต่ปฐมวัย โดยผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวในระบบนิเวศร่วมมือกันดูแลและให้โอกาสฝึกฝนอย่างจริงจัง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย โครงสร้างสมองของเด็กก็จะก่อรูป ฝังเป็นคุณลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโต เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไปในโลกที่แปรปรวน”

ในโอกาสที่จังหวัดเชียงรายได้พัฒนาจนเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาทักษะสมอง EF ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้เป็นประธานในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย กว่า 50 องค์กร เพื่อยืนยันการร่วมมือกัน ขับเคลื่อนเชียงราย จังหวัด ต้นแบบบูรณาการส่งเสริม EF และผลักดันแผนปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคม โดยมีแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย

ผู้สนใจติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.setfoundation.or.th

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดมั่นใน “พลังความร่วมมือ เพื่อสังคมที่ดีกว่า (Partner for Better Society)”

“SET…Make it Work for Everyone”
 
เอกสารแนบประกอบ SET Release 25-2567 Fact sheet – Executive Functions

การพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions : EF คืออะไร 
 
• Executive Functions – EF คือ ความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ ที่ใช้ในการกำกับความคิด อารมณ์และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร)
 
• การพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะ เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions: EF อย่างถูกต้อง จะสามารถพัฒนาความคิดและพฤติกรรมให้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ ที่จะผลักดันตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต

มีสถาบันหรือองค์กรใดใช้แนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions บ้าง
 
• ความรู้เรื่องทักษะสมอง Executive Functions - EF เป็นความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1990 เป็นที่ยอมรับว่าเป็นความรู้สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน  ซึ่งสถาบันวิชาการระดับโลก เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด , National Institute of Health  สหรัฐอเมริกา, หรือ Center for Educational Neuroscience ประเทศอังกฤษ ฯลฯ ต่างให้ความสนใจและผลักดันให้นำหลักการธรรมชาติสมองส่วนหน้า มาใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศตนเองอย่างจริงจัง  เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ที่แปรปรวน  
 
• สถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับสิ่งเร้ามากมาย เด็กที่ มีทักษะด้าน EF จะสามารถจัดการชีวิตได้ เพราะได้รับการฝึกฝนให้เป็นคนรู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ ยั้งคิดก่อนทำ ไม่หุนหันพลันแล่น มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความมุ่งมั่นที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สามารถอยู่กับคนอื่นได้  สิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังในตัวเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน การทำงาน การมีชีวิตครอบครัว รวมถึงการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศ

ผู้ที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องในการร่วมพัฒนาทักษะสมองเด็กด้วย  Executive Functions บ้าง
 
• ทุกคนที่อยู่เป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ - ผู้ปกครอง ครูปฐมวัย พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องด้านการสาธารณสุขที่ดูแลแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงบุคลากรแวดล้อมในชุมชน ทั้งผู้นำชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดเชียงรายมีแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions อย่างไร 
 
• พ่อแม่ควรรู้  “หลักการ 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดีมี  EF” คือ กิน นอน กอด เล่น เล่า ช่วยตนเองและช่วยงานบ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) นำความรู้นี้ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง 
 
• ครูควรรู้ธรรมชาติของพัฒนาการด้านตัวตน  (Self)  พัฒนาการด้านทักษะสมอง EF และพัฒนาการเด็ก และจัดกิจวัตรและกิจกรรมในสถานศึกษาปฐมวัย ด้วย “6 โอกาสพัฒนา EF”  คิด ทำ ทำด้วยกัน ตั้งเป้าวางแผนท้าทาย ทบทวน



เหตุใดจึงต้องเป็นกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6 ขวบ)
 
• เพราะจากการศึกษาของนักประสาทวิทยาพบว่า ช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่เส้นใยประสาทในสมองส่วนหน้ามีการพัฒนาได้ดีที่สุด ดีกว่าทุกช่วงวัย

กลไกที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็ก ด้วย EF ประสบความสำเร็จ
 
• ใช้หลักการระบบนิเวศ กล่าวคือ ทุกองค์ประกอบที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็ก ต่างมีอิทธิพลต่อการเติบโตของพัฒนาการทุกด้านในเด็ก ดังนั้น ต้องทำให้ทุกองค์ประกอบที่อยู่รอบตัวเด็กมีความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันส่งเสริมตามบทบาทภาระหน้าที่ของตน และเชื่อมประสานกันอย่างเป็นองค์รวม

 

ปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ แก้ได้หรือไม่ ปัญหาที่เกิดกับเด็กและ เยาวชน จะลดลงได้อย่างไร
 
• มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทักษะสมอง EF จากทั่วโลก รวมทั้งผลการขับเคลื่อน EF ใน จ.เชียงราย ต่างยืนยันผลตรงกันว่า การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย โดยให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูปฐมวัย เพื่อให้ความรักความอบอุ่น ตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างให้เด็กมีตัวตน เป็นคนสำคัญ มีความสามารถ และเมื่อถึงวัยเข้าเรียน ครูสร้างกิจวัตรกับกิจกรรมในห้องเรียนปฐมวัย ที่ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะสมอง EF ด้านต่างๆ เช่น ให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านความสุขจากการเล่น ได้ฝึกการยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอย ชะลอความอยาก หรือได้ฝึกยืดหยุ่นปรับตัวปรับใจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเกิดวงจรประสาทที่ฝังตัวในสมองส่วนหน้า จนกลายเป็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ดีในตัวเด็ก ฝังติดตัวไปตลอดชีวิต การส่งเสริม EF ตั้งแต่ปฐมวัยจึงสามารถแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ และจะนำไปสู่การลดลงของปัญหาที่เกิดกับเด็กและเยาวชนในอนาคตอย่างแน่นอน
 
ต้องใช้เวลามากแค่ไหน และมีการวัดผลอย่างไร
 
• ปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ sensitive หรือไวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูมีต่อเด็ก ย่อมส่งผลต่อการแตกแขนงของเส้นใยประสาท ไม่ว่าจะเป็นผลด้านบวกหรือด้านลบ เช่น เด็กที่ผู้ใหญ่ยื่นมือถือให้เล่นตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ การทำงานของสมองก็มีโอกาสเสียหายได้ง่าย แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ในวัยเด็กเล็ก การฟื้นตัวของสมองก็ทำได้เร็วกว่าในวัยที่โตขึ้น ดังนั้น หากเด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟู ด้วยความรักความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู เช่น ด้วยการกอด ชื่นชม การให้โอกาสคิด ทำ เล่น ฯลฯ อย่างมีความสุข สมองและจิตใจของเด็กก็จะสามารถฟื้นฟูได้แน่นอน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มี.ค. 2567 เวลา : 15:09:27
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:45 pm