รัฐมนตรีฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมและมอบโยบายการทำงานแก่ SME D Bank แนะใช้แนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ยกระดับองค์กร เพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ด้าน SME D Bank ขานรับ ชูเรือธง “เติมทุนคู่พัฒนา” สนับสนุนเอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จ ส่งต่อคุณประโยชน์สู่ทุกภาคส่วน พาเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน
วันนี้ (11 มี.ค. 2567) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ขอให้ SME D Bank นำแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป
นอกจากนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องวางภาพลักษณ์องค์กรเป็น Professional Banking มีวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมืออาชีพ
“ดิฉันมั่นใจในศักยภาพของ SME D Bank และยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ SME D Bank ในทุกมิติ เพื่อให้ SME D Bank เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สามารถช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพแก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งต่อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน “การเงิน” จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท
ส่วนด้าน “การพัฒนา” ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3. เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน
ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้ง ระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ
สำหรับปีนี้ (2567) SME D Bank ยังเดินหน้ากระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ Core Banking System (CBS) ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า เงินที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME มีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากที่สุด เพราะโลกมีกติกาใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆ ฉะนั้นเอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ใช่แหล่งเงินทุนอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเป็นแหล่งความรู้ให้กับผู้ประกอบการด้วย ทั้งความรู้ทางธุรกิจ การทำธุรกิจใหม่ๆ การบริหารความเสี่ยง และความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นี่คือหัวใจสำคัญที่จะมากระตุ้นเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ต้องมีบทบาทเหมือนพี่เลี้ยงผู้ประกอบการที่ให้เขาทำธุรกิจอยู่รอดต่อไปบนการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ ต้องมีการคัดแยกกลุ่มอุตสาหกรรมและแยกชั้นกลุ่มชั้นลูกค้า กลุ่มไหนไปต่อได้ กลุ่มไหนไปต่อไม่ได้ และต้องมีแผนการดำเนินการช่วยเหลือแต่ละกลุ่มที่เหมาะสมและแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มไปต่อไม่ได้ ต้องเข้าไปกระตุ้นให้เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่ เปลี่ยนให้ทันสมัยให้ทันกับยุคที่เปลี่ยนแปลง โดยอาจจะเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มทางการตลาดที่ดี ฉะนั้นนอกจากให้การสนับสนุนสนุนด้านเงินทุนแล้วต้องให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ให้เอสเอ็มอีแบงก์เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ให้นำแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป
ข่าวเด่น