เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "มูลค่าการลงทุนก่อสร้าง ปี 2567 คาดโต 1.9% การก่อสร้างภาครัฐจะกลับมาเบิกจ่ายได้ในครึ่งปีหลัง"


· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม (ณ ราคาปัจจุบัน) ปี 2567 จะอยู่ที่ 1.40 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิด-19 (2557-2561) ที่ 4.1% (CAGR)

· มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมอาจกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของภาครัฐ และการทยอยฟื้นตัวของกำลังซื้อ

ในปี 2566 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม1 อยู่ที่ 1.37 ล้านล้านบาท ปรับขึ้นเล็กน้อย 0.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลหลักจากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐทั้งปีที่หดตัว -2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วซึ่งงบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้า ขณะที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งปีเพิ่มขึ้นที่ 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ที่ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม ในปี 2567 จะอยู่ที่ 1.40 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (รูปที่ 1) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8% ของ GDP แม้ว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมในปีนี้ จะฟื้นตัวได้ แต่ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิด-19 (2557-2561) ที่ 4.1% (CAGR)
 

 
มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐซึ่งมีสัดส่วน 57% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม (รูปที่ 2) น่าจะเติบโตที่ 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามูลค่าการลงทุนในช่วง ครึ่งแรกของปีอาจยังหดตัว แต่น่าจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากงบประมาณประจำปีที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีเป็นต้นไป โดยโครงการก่อสร้างภาครัฐสำคัญที่มีแผนจะดำเนินการในปีนี้ เช่น รถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นต้น

 
ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วน 43% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม น่าจะเติบโตชะลอลงที่ 1.5% เทียบกับ 3.9% ในปีก่อน เป็นผลหลักจากการก่อสร้างโครงการเชิงพาณิชย์และพื้นที่ค้าปลีกที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง เช่น โครงการ Mixed-use ห้างสรรพสินค้า ซึ่งสอดคล้องไปกับข้อมูลของ CBRE ที่รายงานว่า อุปทานพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.9% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 (รูปที่ 3)

ส่วนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ ตามการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีปริมาณอุปทานสะสมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 200,000 หน่วย มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการซื้อที่ลดลง ท่ามกลางความเข้มงวดในการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังมีต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16 บาท ไปอยู่ที่ 330-370 บาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบภายในปีนี้ ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่พึ่งพิงการใช้แรงงานสูงน่าจะมีต้นทุนการจ้างงานสูงขึ้นด้วย

- ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวมเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2566 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2563-2564 ประมาณ 10% (รูปที่ 4) ในปี 2567 แม้ว่าในดัชนีราคาสินค้าหลักอย่างเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจะย่อลงจากอุปสงค์ที่ยังชะลอตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วง โควิด-19
 

บันทึกโดย : วันที่ : 14 มี.ค. 2567 เวลา : 21:07:43
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 11:34 am