กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เดินหน้าขยายผลโครงการ KKP Financial Literacy ซึ่งดำเนินงานให้ความรู้ทางการเงินให้กับพนักงานและชุมชนมากว่า 10 ปี ล่าสุดจับมือกับ 11 ภาคีเครือข่ายด้านการเงินและการลงทุนชั้นนำของประเทศ เปิดตัวโครงการ “คาราวานความรู้ด้านการเงิน” หรือ Fin Lab มุ่งออกเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงินการลงทุนให้แก่เด็กและเยาวชนไทยที่ขาดโอกาสเข้าถึงความรู้เหล่านี้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างคนต้นแบบที่สามารถขยายผลส่งต่อความรู้ไปสู่บุคคลรอบข้างและครอบครัว เริ่มต้นการเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ โดย KKP ตั้งเป้าขยายผลการส่งต่อความรู้ทางการเงินสู่ชุมชนจำนวน 5,000 คน ภายในปี 2567
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กล่าวถึงโครงการ KKP FinLit ว่าได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเสริมสร้างทักษะทางการเงินหรือ Financial Literacy ให้กับสังคมไทย โครงการมุ่งจัดอบรมให้ความรู้ทางการเงินแก่ชุมชน สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ โดยมีแนวทางการดำเนินงานใน 3 ส่วนได้แก่ 1) การพัฒนาหลักสูตรความรู้พื้นฐานทางการเงินที่เข้าใจง่าย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย อาทิ นักเรียน พนักงานบริษัท และกลุ่มชุมชน 2) การต่อยอดความรู้สู่การบริหารจัดการเงิน การวางแผนทางการเงิน การใช้เครื่องมือในการวางแผนทางการเงิน รวมถึงการพิจารณาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และ 3) การเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารและการนำเสนออย่างมืออาชีพให้กับทีมวิทยากรและผู้ช่วยวิทยากรซึ่งเป็นพนักงานของ KKP ที่อาสาเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้สามารถขยายผลไปยังครอบครัวและคนใกล้ตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยรูปแบบการเรียนรู้ของ KKP FinLit เป็นแบบผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่ไปกับการเรียนรู้แบบ Virtual Training ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มผู้รับการอบรม
“KKP ตระหนักว่านอกจากเรื่องเงินจะเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมแล้ว การวางรากฐานความรู้ให้เยาวชนและคนในสังคมยังเป็นพลังที่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจการเงินของสังคมไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และในฐานะสถาบันการเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมากกว่า 5 ทศวรรษ KKP จึงได้นำเอาความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงิน ไม่ว่าเรื่องการออม การวางแผนทางการเงิน หรือการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายมาแบ่งปันให้เป็นประโยชน์กับสังคม สำหรับการเข้าร่วม Fin Lab ในครั้งนี้ ก็ถือเป็นอีกก้าวสำคัญเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย"
ทั้งนี้ โครงการ Fin Lab คือ พื้นที่การเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการเงินให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ที่หวังจุดประกายไอเดียด้านการเงินและการลงทุน สร้างโอกาสการเข้าสู่ตลาดทุนในระดับภูมิภาค เกิดจากความมุ่งมั่นของ 11 ภาคีเครือข่าย ภายใต้การนำของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO) ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) กระทรวงศึกษาธิการ (MOE) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (OIC) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการ 88 SANDBOX และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โดยมีการระดมผู้เชี่ยวชาญจาก 11 ภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 13-18 ปีทั่วประเทศไทย
Fin Lab เริ่มต้นกิจกรรมแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 และจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม 2567 ครอบคลุม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางผ่านกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ ค่ายอบรมบ่มเพาะ Hackathon และสร้างสรรค์ชุดความรู้ต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ฯลฯ เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็น “คนต้นแบบ” ด้านการเงินและส่งต่อความรู้ออกไปสู่สังคม
ข่าวเด่น