แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรฯ ชี้ Fed ลดดอกเบี้ยล่าช้า - เงินทุนปันผลไหลออกไทย กดบาทอ่อนค่า ปรับลด GDP ไทย 67 เหลือ 2.8%


 

21 มีนาคม 2567 - นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK วิเคราะห์ถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในทิศทางของดอกเบี้ยและค่าเงิน 2567 ว่า เศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐยังออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง ซึ่งทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้มีการปรับการคาดการณ์เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่า GDP ปี 2567 จะโต 1.4% เพิ่มเป็น 2.1% เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง กดดันให้ Fed อาจลดดอกเบี้ยล่าช้า ผกผันธ์กับเศรษฐกิจไทย ที่ Kreseaech ประเมินว่า GDP ปีดังกล่าว คาดการณ์ลดลงเหลือ 2.8% เนื่องจากโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทไทยค่อนข้างอ่อน โดยแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเร็วกว่า Fed

ในส่วนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับจ้องสหรัฐเป็นสำคัญนั้น เศรษฐกิจสหรัฐคาดการณ์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 1.4% ปรับขึ้นเป็น 2.1% แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นไปในทิศทางบวก ส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น Fed มีความต้องการที่จะให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้าหมายที่ 2% เสียก่อน แต่ปัจจุบัน ค่าเงินเฟ้อยังคงค้างอยู่ที่ 3% ทำให้การเริ่มปรับลดดอกเบี้ยอาจล่าช้าลงไป โดยอาจจะเริ่มในเดือน มิ.ย. ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็น Fed เริ่มลดแน่นอนในปีนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ที่พึ่งพาธุรกิจบริการเป็นอย่างมาก และตอนนี้เม็ดเงินกำลังไหลไปสู่ตลาดธุรกิจอื่นๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลคริปโต

 
ส่วนค่าเงินสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งแปรผันเข้ากับบริบทของฝั่งเศรษฐกิจไทย ที่ GDP มีการปรับการคาดการณ์ลดลงเหลือ 2.8% จากต้นปีที่ 3.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากปัจจัยตามฤดูกาล ในไตรมาส 2 ระหว่างเดือน เม.ย.- พ.ค. ที่บริษัทจดทะเบียน จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมกว่า 81,000 ล้านบาท ทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากการเปลี่ยนค่าเงิน กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนลง

ส่วนด้านเศรษฐกิจจีน ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้ากับไทย และเป็นประเทศผู้นำในเศรษฐกิจฝั่งเอเชีย ซึ่งจีนยังมีปัญหาด้านภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ มีประเด็นที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande อาจมีประเด็นของการตกแต่งบัญชี และปัญหาจากที่ความมั่งคั่งของนักลงทุนชาวจีนลดลง เป็นปัจจัยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าที่ระดับ 7.2 และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าตาม นอกจากนี้ มีโอกาสที่จะมีการเทขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอื่นจากที่ชาวจีนได้ลงทุนเอาไว้ เพื่อรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก 

“ทางด้านรัฐบาลจีน ไม่ได้มีมาตรการที่ชัดแจ้งว่าจะแก้ไขปัญหาอสังหาริมทรัพย์อย่างไร แต่ที่เห็นชัดคือการรุกภาคการส่งออก จากที่เห็นว่าสินค้าของจีนส่งออกขายยังไทย เป็นผู้ชนะในตลาด อีกทั้งแบรนด์ไอศกรีมชื่อดังของจีนที่เปิดขยายสาขาในไทยก็เป็นการดำเนินการในกลยุทธ์ดังกล่าว ที่จะเป็นตัวชูโรงรักษาสภาพเศรษฐกิจของจีน แทนปัญหาของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ” นายกอบสิทธิ์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ จากภาพรวมสิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐจากการประเมินนักท่องเที่ยวเข้ามายังไทย 38 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วง Pre-Covid ที่ 40 ล้านคน เห็นได้จากอัตราการจองโรงแรมดีขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวหลักคือชาวจีน และมาเลเซีย และทางภาคการส่งออกไทย ก็เป็นไปในทิศทางดีขึ้น อ้างอิงจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Global PMI ปี 2024 ที่ตัวเลขเข้าสู่โซนปกติ 

LastUpdate 24/03/2567 19:31:27 โดย : Admin
22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 9:49 pm