
ยกนิ้วให้เลยกับ ขนมครก ขนมอุ่น ๆ นุ่มนิ่ม หน้าตาแสนธรรมดาแต่รสชาติไม่ธรรมดาของบ้านเรา ที่ได้รับการจัดอันดับจาก เทสแอทลาส (Tasteatlas) เว็บไซต์อาหารระดับโลกยกย่องให้เป็นอันดับ 4 จากการจัดอันดับขนมประเภทแพนเค้กหรือคล้ายคลึง แพนเค้กจาก 50 ประเทศทั่วโลกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา
แถมยังครองอันดับ 1 ใน 7 ประเทศอาเซียนอีกด้วย
การันตีถึงอาหารไทย เสน่ห์ไทย ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปไกลระดับนานาชาติ
ปัจจัยเสริมส่งนอกจากฝีมือ ความเอาใจใส่พัฒนาและวัฒนธรรมอาหารของบ้านเราแล้ว ก็อาจเป็นเพราะบ้านเราอุดมด้วยวัตถุดิบและพืชผลการเกษตรคุณภาพ
“มะพร้าว” ซึ่งเป็นที่มาของ “กะทิ” หนึ่งในส่วนผสมสำคัญของขนมครกและขนมไทยอีกหลายชนิด มีผลผลิตป้อนชุมชนได้ต่อเนื่อง
รอบ ๆ ตัวเราจึงมีอาหารคาวหวานทั้งแกงกะทิ ขนมหวาน น้ำมะพร้าวขวัญใจนักท่องเที่ยว ตลอดจนเมนูหลากหลายที่มีกะทิเป็นพระเอก หรือ พระรอง ในส่วนผสม ทั้งมะพร้าวขูด มะพร้าวอ่อน ตกแต่งรูปโฉมให้สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น แกงกะทิ ห่อหมก ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวหลาม เต้าเจี้ยวหลน ฟักทองแกงบวด สาคูถั่วดำ ขนมต้ม ขนมตาล ตะโก้ บัวลอย หรือแม้กระทั่ง เค้ก ไอศกรีมฯลฯ
นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะพร้าวยังใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ไม้กวาดทางมะพร้าว กะลา มุงหลังคาด้วยใบมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว ของเล่น ของที่ระลึกสารพัดจากไม้มะพร้าว
เรียกว่า “มะพร้าว” มีประโยชน์อเนกประสงค์และใกล้ชิดกับชีวิตชาวบ้านมาช้านาน
สื่อการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล” แสดงโครงสร้างดอกและผลของพืชที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรา คือ ผลมะพร้าว กล้วย ข้าว ข้าวโพด และดอกชบา
สำหรับ “มะพร้าว” มีส่วนประกอบที่สำคัญได้แก่ ผลมะพร้าว ดอกมะพร้าว จาวมะพร้าว เมล็ดมะพร้าว กะลามะพร้าว โดย ผนังผลชั้นนอกของผลมะพร้าวซึ่งมีสีเขียวเป็นมันนั้น จะมีผนังผลชั้นในนั่นก็คือ “กะลา”
ส่วนผนัง “ผลชั้นกลาง” หรือ “กาบมะพร้าว” นั้นเป็นชั้นของเส้นใย เมื่ออ่อนจะเป็นสีขาวค่อนข้างนิ่ม จนเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลลักษณะเส้นใยหยาบ
ภายในผลมะพร้าวคือ “น้ำมะพร้าว” และ “เนื้อมะพร้าว” ที่เราคุ้นเคยกันดี
ส่วนใครที่แพ้ความสูงอาจมองระยะไกลไม่ถนัด ก็ทำความรู้จัก “ดอกมะพร้าว” ได้ เพราะมีทั้งภาพพร้อมเนื้อหาอธิบายให้เห็นทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในช่อดอกเดียวกัน
สำหรับกะลาด้านที่อยู่ทางขั้วผลจะมีลักษณะเป็นหลุมเหมือนตา 3 ตา เมื่อ เอ็มบริโอ ซึ่งก็คือตัวอ่อนหรือต้นอ่อนของมะพร้าวก็จะเจริญออกมาทางตานี้นั่นเอง
แล้วมะพร้าวมี “จาว” ด้วยหรือ ? หน้าตาเป็นอย่างไร
สื่อประกอบการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล” ตอบโจทย์ได้เพราะมาพร้อมทั้งภาพและเนื้อหาอธิบาย
ว่า “จาวมะพร้าว” มีผิวด้านนอกสีเหลืองอ่อน เนื้อเยื่อภายในมีลักษณะฟ่ามคล้ายฟองน้ำ ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารจากเอ็นโดสเปิร์ม ไปเลี้ยงเอ็มบริโอ
ให้คำอธิบายพร้อมภาพประกอบเพื่อความเข้าใจเนื้อหาการสืบพันธ์ของพืชดอกชัดเจนยิ่งขึ้น
คลิกเรียนรู้กันแล้ว อย่าลืมมาแชร์ไอเดียเมนูจากมะพร้าวทั้ง “ของคาว” และ “ของหวาน” กันบ้าง หรือจะเป็นทั้งสองอย่างแถมด้วย “ของใช้” ก็ยิ่งดี
ข่าวเด่น