ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 มี.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มผันผวนระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนในเดือน ก.พ. ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคยุโรปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากแผนภาพ Dot plot ของ FED ที่บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยของ FED จะอยู่ที่ระดับ 3.75-4.00% ในช่วงสิ้นปี 2568 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยูเครนยังคงเดินหน้าโจมตีสาธารณูโภคพื้นฐานด้านพลังงานของรัสเซียอย่างต่อเนื่องในช่วงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซีย ส่งผลให้โรงกลั่นกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 18% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากการโจมตีด้วยโดรนของยูเครน
อย่างไรก็ตาม Reuters คาดว่าในระยะสั้นการส่งออกน้ำมันดิบจะปรับเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 67
นอกจากนี้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นเช่นกัน ภายหลังข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากรัฐบาลของอิสราเอลได้อนุมัติแผนการโจมตีเมืองราฟาห์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งที่ 6 (นับตั้งแต่ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 66 ที่ผ่านมา) เพื่อที่จะหารือกับอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน ยูเออี และเลขาธิการองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ เกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ภายหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือน ก.พ. อันได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีกอยู่ที่ระดับ 5.5% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.2%, รายงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 7.0% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.3% และรายงานดัชนีการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.2% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 3.2% ตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งแสดงสัญญาณฟื้นตัวย่อมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน
อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรปเดือน ก.พ. 67 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.8% และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือนขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ระดับ 3.4% จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 4% และถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 64 โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมของภูมิภาคมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20-21 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ขณะที่แผนภาพ Dot Plot บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และ 3 ครั้งในปี 2568 โดยเป็นการปรับลดครั้งละ 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.75-4.00% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และอาจยังคงส่งผลกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความต้องการใช้น้ำมัน
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อันได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4/67 และรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.พ. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 - 22 มี.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน ม.ค.อยู่ที่ระดับ 6.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถือเป็นการปรับลดลง 2 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการที่อิรักเตรียมปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบลงจากระดับ 3.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 67 เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือน ม.ค. และ ก.พ. สูงกว่าโควต้าที่กำหนดโดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวในเดือนก.พ. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 11.6% สู่ระดับ 1.129 ล้านหน่วย ซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 65 สะท้อนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 มี.ค. 67 ปรับลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 447 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น