ส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สำหรับการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน-5 ต่างกลับมาหดตัว ด้านการนำเข้าเติบโตที่ 3.2%YoY และดุลการค้าเดือน ก.พ. ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 554 ล้านดอลลาร์ฯ
Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มี.ค. 67 ที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง
มูลค่าส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัว 3.6%
มูลค่าส่งออกเดือน ก.พ. อยู่ที่ 23,384.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อยที่ 4.4% โดยการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง สำหรับการส่งออกทองคำขยายตัว 309.5% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 1.2%YoY ทั้งนี้การส่งออก 2 เดือนแรกขยายตัว 6.7%
ด้านการส่งออกรายสินค้าบางส่วนกลับมาหดตัว
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 5.2%YoY แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+24.9%) อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ (+6.5%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+18.0%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+15.7%) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+35.0%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-5.6%) แผงวงจรไฟฟ้า (-13.2%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-14.3%) เคมีภัณฑ์ (-14.2%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-4.1%) เป็นต้น
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว -1.1%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว +9.2%YoY ตามการกลับมาหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ -9.2%YoY ขณะที่สินค้าเกษตรเติบโต +7.5%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+53.6%) ยางพารา (+31.7%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+7.7%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+21.5%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+17.7%) และกาแฟ (+178.9%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-20.5%) น้ำตาลทราย (-34.9 %) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-24.2%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-77.0%) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ
• สหรัฐฯ : เติบโต 15.5%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และยางยานพาหนะ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
• จีน : กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือนที่ -5.7%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไม้แปรรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
• ญี่ปุ่น : กลับมาหดตัวที่ -5.8%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
• EU27 : ขยายตัว 3.3%YoY โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่เติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
• ASEAN-5 : กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือนที่ -1.2%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำตาลทราย เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเหล็ก และเหล็กกล้า เป็นต้น
มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. อยู่ที่ 23,938.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 3.2%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.6%YoY จากการนำเข้าหมวดสินค้าทุน (+25.6%YoY) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+6.5%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+12.0%YoY) ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-17.1%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (-22.9%YoY) ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือน ก.พ. ขาดดุล 554 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ดุลการค้า 2 เดือนแรกขาดดุลสะสม 3,311.9 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
• Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.0%YoY และหากพิจารณาการส่งออกที่ไม่รวมทองคำจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ยังฟื้นตัวได้ช้า และมูลค่าส่งออกของสินค้าสำคัญยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังจีนและASEAN-5 กลับมาหดตัว ขณะที่ตลาดหลักสำคัญ โดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มี.ค. 67 (Flash Manufacturing PMI) ซึ่งหดดตัวที่ระดับ 45.7 และ 48.2 สะท้อนถึงอุปสงค์ของสินค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น